หมวดหมู่
นิยายรุ่ง สวนกระแส สิ่งพิมพ์ร่วง
สิ่งพิมพ์ตาย...แต่ทำไมนิยายยังคงทน? ไม่ขอใช้คำว่าสิ่งพิมพ์ยังคงอยู่ ขอใช้คำว่ายังคงทน ก็เพราะว่าหลายสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือทนแบกรับภาระในภาวะขาดทุนไม่ไหวปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเปิดกว้างของวงการหนังสือก็อาจจะเป็นทางรอดของวงการหนังสือไทย ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นักอ่านหลายคนหันไปอ่านอีบุ๊ก แต่ก็เพราะเสน่ห์ของหนังสือคือการจับสัมผัสและกลิ่นของกระดาษจึงสามารถดึงดูดเหล่านักอ่านได้อย่างเหนียวแน่นไม่แพ้กัน เคยเกิดคำถามขึ้นบ้างหรือเปล่าขณะที่กำลังเดินผ่านร้านหนังสือแผงลอยหรือร้านขายหนังสือชั้นนำ ว่าผู้ผลิตและผู้เขียนรวมถึงอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ใน Book Supply Chain ของกระบวนการทำหนังสืออยู่ได้ยังไงในสถานการณ์ที่หนังสือกำลังถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี ในวงการหนังสือต่างรู้ดีว่าหนังสือใกล้ตายเต็มทนและคำถามที่เกิดตามมาคือ แล้วทำไมแล้วหนังสือบางประเภทถึงอยู่ได้และขายดีสวนกระแส อย่างหนังสือนิยายที่ยังขายได้ไม่ปิดตายกระดาษถูกกลายสภาพเป็นกระดาษห่อกล้วยแขก คำตอบที่แท้จริงคงต้องค้นหาจาก Customer Journey การสืบหาผ่านการเดินทางของลูกค้าซึ่งถือเป็นกลยุทธ์คลาสสิกที่น่าจะช่วยฉุดรั้งวงการหนังสือไทยไม่ให้หายหน้าไปจากวงการหนังสือโลก ? อาจเพราะมนุษย์ชอบความบันเทิงเริงรมย์? อาจเพราะจินตนาการสำคัญกว่าการเรียนรู้? อาจเพราะยังมีนักอ่านที่อยากเป็นนักเขียนอยู่? อาจเพราะอ่านมากจะทำให้รู้มาก? อาจเพราะปลายทางของนิยายจะกลายเป็นละคร ซีรีย์ หนัง ที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล นอกจากนักเขียนจะต้องฝึกปรือลับฝีมือให้คมกริบแล้ว เจ้าของธุรกิจผู้ผลิตยังจะต้องเปิดใจมองหากลยุทธ์และแผนการตลาดใหม่ ๆ ที่โดนใจกลุ่มนักอ่านดึงดูดผูกใจผูกปิ่นโตให้คงอยู่กับสำนักพิมพ์ต่อไป จากผลวิเคราะห์ข้อมูลภายในของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก Picodi.com เกี่ยวกับธุรกรรมในร้านหนังสือออนไลน์และการสำรวจที่ดำเนินการในเดือนมีนาคม 2562 ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 7,800 คน จาก 41 ประเทศ เรื่องการซื้อหนังสือในประเทศไทยในปี 2562 ทำให้ทราบว่ารูปแบบหนังสือที่คนไทยสนใจ 4 ลำดับแรก คือ หนังสือกระดาษในร้านหนังสือ 71% หนังสือกระดาษในร้านหนังสือออนไลน์ 34% ดาวน์โหลดจากแหล่งข้อมูลฟรี 19% อีบุ๊คจากร้านหนังสือออนไลน์ 12% อีกทั้งปัจจัยหลักที่กำหนดวิธีการซื้อหนังสือ 57% ตัดสินใจซื้อด้วยตนเอง 29% เป็นความคิดเห็นของนักเขียนบล็อก และ 26% ต่อรองได้ในราคาที่ถูกกว่า เป็นการตอกย้ำว่าการขายที่ได้กำไรมักเกิดจากการทำการตลาดด้วยวิธีการ Sale Promotion ซึ่งหนังสือแต่ละประเภทก็มีจุดยืนและกลยุทธ์การตลาดที่แตกต่างกันไปตามแต่ต้นทุนและความนิยมในใจนักอ่าน โดยหมวดหมู่หนังสือที่ครองใจนักอ่านนิรันดร์กาลก็ไม่ผิดคาดเพราะยังคงเป็น หนังสือนิยาย 49% หนังสือเกี่ยวกับงานอดิเรก 40% หนังสือธุรกิจและหนังสือสารคดี 34% และ 26% ตามลำดับ การอ่านหนังสือแต่ละเล่มทำให้เราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ แง่คิด ทัศนคติ มุมมอง รวมถึงความรู้ที่นักเขียนพยายามในการค้นคว้าสืบค้นและสอดแทรกระหว่างบรรทัดมาถึงนักอ่าน คอนเทนต์จึงถือเป็นกุญแจสำคัญของการทำหนังสือให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นลองเปลี่ยนจากนักเขียนหนังสือให้คนอ่านมาเป็นนักอ่านใจนักอ่านดูบ้าง ว่าเขาต้องการ ชื่นชอบ ไม่ชอบ และคิดยังไงกับหนังสือของคุณ? ลองถอดความสำเร็จของหนังสือนิยาย อะไรคือ Key Success ที่ทำให้นิยายสามารถโลดแล่นสวนกระแสสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นที่ค่อย ๆ ร่วงโรยปิดตายไปในยุค Paperless สมัยนี้ ขายทั้งเล่ม ขายทั้งไฟล์ อยู่ได้ไม่อดตายแน่นอน กลุ่มนักอ่านในปัจจุบันได้ขยายวงกว้างไม่จำกัดอยู่เฉพาะในรูปแบบรูปเล่มเท่านั้น อีบุ๊กยังเป็นทางเลือกของกลุ่มนักอ่านสมัยใหม่เช่นเดียวกัน ปัจจุบันนักเขียนหลายคนไม่ได้ยึดติดอยู่กับสำนักพิมพ์อีกต่อไปแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนิยายด้วยการพิมพ์ผลิตเองและขายเองแบบ Make to Order ขายอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์บนออนไลน์แพลตฟอร์มหรือ Fanpage เพื่อดูแลกลุ่มลูกค้านักอ่านอย่างใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งกลยุทธ์เปิดให้อ่านฟรี แล้วปิดบางบทเพื่อกระตุ้นความอยากรู้ชวนให้นักอ่านติดตาม ปิดท้ายด้วยเปิดพรีออร์เดอร์นิยายก็สามารถเพิ่มกำไรยอดขายได้อีกโข เอาใจนักอ่าน ตอบโจทย์ความหลากหลายให้ครบทุกไลฟ์สไตล์ บางคนชอบอ่านเล่มหนา บางคนชอบอ่านเล่มบาง บางคนชอบอ่านเล่มต่อ บางคนชอบอ่านนิยายชุด ความวาไรตี้ของแนวหนังสือนิยายจะสามารถช่วยดึงดูดนักอ่านที่ไม่ชอบความจำเจหรือนักอ่านที่ต้องการตัวเลือกได้เป็นอย่างดี นักเขียนบางคนวางแผนเขียนเพียงเล่มเดียวแต่เมื่อกระแสตอบรับดี นักอ่านแสดงความต้องการที่หลากหลายผ่านช่องทางต่าง ๆ มาถึงนักเขียนโดยตรงก็ทำให้นักเขียนเห็นฟีดแบ็กและตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักอ่านของตัวเองได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม รวมถึงการเอาใจนักอ่านด้วยการรักษาลูกค้าเก่ามองหาลูกค้าใหม่ การจัดโปรโมชั่นรวมถึงการบริการหลังการขายก็เป็นกลยุทธ์ที่สามารถสร้างความจงรักภักดีรักษาลูกค้าเก่าให้กลับมาซื้อซ้ำ พล็อตกระแทกใจ หนา แพง แค่ไหนก็ทุ่มไม่อั้น เพราะพล็อตเป็น Core Value ของหนังสือ เพราะฉะนั้นการวางแนวทางหลักของเรื่องเป็นสิ่งที่เรียกแขกให้มามุงสนใจได้เสมอ บางเล่มเน้นสนุกสนานโลกสวย บางเล่มมีจุดยืนสอดแทรกความรู้เข้าไปด้วย อย่างเช่น ตำราพิชัยสงคราม การรบ การทหาร หลักคุณธรรม หลักศาสนา หลักวิทยาศาสตร์ หรือกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ พล็อตเรื่องที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำ ไม่ลอกเลียนแบบ เมื่อมารวมกับสำนวนภาษาในการเขียน ความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ และเทคนิคการเขียนเฉพาะตัวของนักเขียนก็จะทำให้หนังสือเล่มนั้นเกิดคุณค่าในมือนักอ่านและเกิดมูลค่าเป็นรายได้ให้นักเขียนได้ในระยะยาว การอ่านหนังสือนอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้และคลายเครียดแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพที่อยู่ในวงการหนังสืออุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางให้มีอาชีพต่อไป เรามาช่วยกันขยับอันดับการอ่านหนังสือของคนไทยให้สูงขึ้นเพิ่มขึ้นอีกหลาย ๆ บรรทัด หลาย ๆ สิบเล่ม แม้ว่าหนังสือที่คุณอ่านจะเป็นหนังสือนิยายก็ตาม...เพราะการอ่านนิยายไม่ได้ให้แค่ความสุขแบบฉาบฉวยหรือการมองโลกสวยไปวัน ๆ ทุกวรรคตอนของคำ นักเขียนแฝงแง่คิดจรรโลงใจนักอ่านไว้เสมอ ตราบใดที่คนไทยยังจ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสืออ่านอยู่ ตราบนั้นเราก็ยังจะเห็นทางรอดของวงการสิ่งพิมพ์ไทย เพียงแค่ปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงด้วยการเปิดใจยอมรับและเรียนรู้ ธุรกิจของคุณก็มีสิทธิ์รอดกลับมารุ่งได้อย่างแน่นอน ที่มา : https://www.picodi.com/th/bargain-hunting/books-buying-in-thailand http://lertad.com/a2z/supply-chain-vs-value-chain-scm-vs-vcm/?doing_wp_cron=1591000726.9097049236297607421875 http://drvithaya.blogspot.com/2012/10/blog-post.html *** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ***
17 มิ.ย. 2563
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการตั้งชื่อธุรกิจ
การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ไม่ว่าธุรกิจใด ๆ การตั้งชื่อธุรกิจ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการ ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยชื่อของธุรกิจนั้น ต้องใช้เป็นสื่อในด้านการตลาด สร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจที่ผู้ประกอบการกำลังดำเนินงานอยู่ โดยสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการตั้งชื่อธุรกิจมีดังนี้1. หลีกเลี่ยงตั้งชื่อธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงเกินไป แน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องตั้งชื่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจตนเอง แต่ทั้งนี้ไม่ควรระบุเจาะจง จนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อการขยายโอกาสในอนาคต ยกตัวอย่างร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่าง KFC ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นตัวย่อมาจากชื่อเต็มว่า Kentucky Fried Chicken เพราะถ้าขืนยังใช้ชื่อเดิมอยู่ ผู้พัน Kentucky อาจขายได้เพียงไก่ทอดตามชื่อบริษัทเท่านั้น2. หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อสถานที่มาตั้งเป็นชื่อธุรกิจ เนื่องจากในอนาคตผู้ประกอบการอาจขยายสาขาธุรกิจไปพื้นที่อื่น และอาจทำให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจผิดได้ เช่น ลาดพร้าวอะไหล่ยนต์ เพราะมีที่ตั้งอยู่บนถนนลาดพร้าว และถ้าขยายสาขาไปสุขุมวิท ลูกค้าอาจจะไม่ทราบ เพราะชื่อระบุว่าเป็นลาดพร้าว ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรตั้งชื่อโดยคำนึงถึงอนาคตว่าวันหนึ่งกิจการของคุณอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในพื้นที่หนึ่งๆ แต่อาจขยายไปทั่วประเทศหรือต่างประเทศได้ ยกตัวอย่างบริษัท Minnesota Manufacturing and Mining ที่เปลี่ยนชื่อเป็น 3M เพื่อให้ขายได้ทั่วโลกอย่างในปัจจุบัน3. หลีกเลี่ยงการชื่อของตนเองมาตั้งชื่อธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านทอง ที่ตั้งชื่อขึ้นต้นด้วย “ห้างทอง”และตามด้วยชื่อ “แม่” ต่าง ๆ หรือ ร้านขนม ที่ขึ้นต้นด้วยชื่อ “แม่” ต่าง ๆ ชื่อเหล่านี้จะมีลักษณะคล้ายกันมาก ยากต่อการจดจำ ถ้าผู้ประกอบการวางแผนจะขายธุรกิจในอนาคต ชื่อร้านที่เป็นตัวบุคคลเช่นนี้ไม่ดึงดูดใจผู้ซื้อเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับธุรกิจที่สร้างชื่อจากสินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมมองหนึ่ง การใช้ชื่อตนเอง หรือวงศ์ตระกูลมาตั้งเป็นชื่อธุรกิจ อาจเป็นการสื่อถึงจุดเริ่มต้นและประวัติของธุรกิจ ที่ทำให้รู้สึกได้ว่า สินค้าหรือบริการนี้ มีมานานแล้ว และยังแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ความเชื่อมั่นและความผูกผันที่ลูกค้ามีต่อธุรกิจหรือแบรนด์ได้อีกด้วย4. หลีกเลี่ยงการตั้งชื่อธุรกิจที่มีคนใช้อยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น ชื่อธุรกิจที่มีคำว่า “รวย”“มงคล” “พาณิชย์” ฯลฯ หรือถ้าเป็นร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าก็มักจะมีคำว่า “อิเล็กทรอนิกส์” ในชื่อเกือบทุกร้านแม้ชื่อต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถสื่อความหมายได้ดี และเป็นสิริมงคลต่อธุรกิจที่เริ่มก่อตั้งใหม่ แต่ชื่อเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก ไม่มีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคู่แข่งหลายรายที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันและส่วนใหญ่เวลาตั้งชื่อก็จะตั้งเหมือนๆกัน ทำให้ลูกค้าจดจำไม่ค่อยได้ บางครั้งลูกค้าอาจจะจำผิดเพราะมีชื่อซ้ำกันมากจนเกินไปนั่นเอง5. หลีกเลี่ยงการตั้งชื่อธุรกิจที่สะกดยาก ชื่อธุรกิจที่ดีควรสะกดและเขียนได้ง่าย ถ้าสะกดยากอาจมีข้อผิดพลาดในการสะกดชื่อธุรกิจให้ถูกต้องได้ เช่น เกิดปัญหาด้านการทำเอกสารติดต่อต่าง ๆ การทำสัญญาซื้อขายกับคู่ค้า รวมถึงการเขียนเช็คสั่งจ่ายมายังธุรกิจของเราด้วย อีกทั้ง ชื่อธุรกิจควรเป็นชื่อที่เข้าใจง่ายและออกเสียงง่ายอีกด้วย ทำให้ลูกค้าจำชื่อของธุรกิจคุณได้ดีขึ้น อย่าลืมว่าการค้า “แบบปากต่อปาก” (Word of Mouth) ยังมีผลมาก หากผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการดีจริงจนลูกค้าอยากแนะนำให้คนรู้จักใช้บ้าง แต่ชื่อธุรกิจจำยากหรือออกเสียงยากเกินไปทำให้ไม่สามารถจำชื่อไปบอกคนอื่นต่อได้ ผู้ประกอบการก็อาจพลาดในการได้ลูกค้ารายใหม่ๆได้ นอกจากนี้แล้วยังอาจมีปัญหาในการนำชื่อไปจัดทำเว็บไซต์ของทางบริษัทที่เป็นภาษาอังกฤษด้วยเพราะไม่รู้จะสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไรอีกด้วย6. หลีกเลี่ยงการเล่นคำในชื่อและการใช้อักษรย่อ เพราะจะทำให้ลูกค้าไม่ทราบว่าสินค้าและบริการของผู้ประกอบการคืออะไร หลีกเลี่ยงการตั้งชื่อบริษัทประเภทที่เป็นประโยคอุปมาอุปมัย การตั้งชื่อที่ผิดศีลธรรม การใช้คำผวน ซึ่งอาจโดนวิพากษ์วิจารณ์ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่ธุรกิจได้เพราะความสามารถในการสื่อสารของคนเรานั้นไม่เท่ากันอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนในการตีความก็เป็นได้7. หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อใกล้เคียงกับบริษัทที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว หรือชื่อที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ (ทั้งไทยและต่างประเทศ) การจงใจใช้ชื่อใกล้เคียงกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวเพื่อหวังผลให้เกิดความเข้าใจผิดจากลูกค้า ผู้ประกอบการอาจถูกฟ้องร้องจากบริษัทที่คุณจงใจเลียนแบบได้ เช่น กรณีของนาย Victor Moseley ที่เมืองอลิซาเบท รัฐเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้ชื่อ Victor’s Secret เป็นชื่อร้านขายของขวัญสำหรับผู้ใหญ่และชุดชั้นในสตรี เมื่อฝ่ายกฏหมายของ Victoria’s Secret (ร้านชุดชั้นในสตรีชื่อดังของสหรัฐฯ) พบเข้าจึงได้ยื่นหนังสือฟ้องร้านของนายวิคเตอร์ในข้อหาละเมิดชื่อบริษัท แม้เขาจะรีบเปลี่ยนชื่อเป็น Victor’s Little Secret ก็ยังโดน Victoria’s Secret ฟ้อง • การตั้งชื่อธุรกิจควรมีความหมายที่ดีเช่นเดียวกับการตั้งชื่อของคน ซึ่งผู้ประกอบการและลูกค้าอาจยังยึดถือเรื่องโชคลาง หาชื่อธุรกิจที่เป็นสิริมงคลโดยทำการดูดวงและฮวงจุ้ยของชื่อนั้น ๆก่อน ก็เป็นได้• ชื่อธุรกิจควรสัมพันธ์กับโลโก้ของบริษัท เพราะเป็นสิ่งแรกในการดึงดูดความสนใจของลูกค้า• ชื่อบริษัทควรเป็นชื่อที่สามารถนำมาจัดทำเป็นชื่อเว็บไซต์ได้ เพราะในยุค Digital Economy ที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการสื่อสารเช่นทุกวันนี้ ธุรกิจของผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องมีเว็บไซต์เป็นของตนเองเพื่อประโยชน์ในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์• การทดสอบชื่อธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยการทำแบบสำรวจ หรือ ให้ผู้อื่น เช่น เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว หรือคนรู้จักในวงการธุรกิจที่มีประสบการณ์ ได้ทดลองพิจารณาชื่อธุรกิจ เช่น ให้แสดงความคิดเห็น ทดลองอ่านออกเสียง หรือพิจารณาแบบอักษรดู เสมือนว่าพวกเขาเป็นลูกค้าจริง ๆ ซึ่งข้อดี คือคนเหล่านี้อาจมองเห็นปัญหาที่ผู้ประกอบการมองข้ามหรือนึกไม่ถึงก็ได้ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันก่อนที่จะสายเกินไป ที่ปรึกษาธุรกิจสามารถนำแนวทางการตั้งชื่อธุรกิจนี้ ไปให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้ และเมื่อผู้ประกอบการได้ชื่อของธุรกิจเรียบร้อยแล้ว ชื่อดังกล่าวต้องไม่ซ้ำกับชื่อของบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว และเป็นชื่อที่ “สามารถจดทะเบียนได้” วิธีการตรวจสอบนั้นก็สามารถทำได้ง่ายมากโดยทำเรื่องขอตรวจสอบชื่อนิติบุคคล หรือ “จองชื่อ” นิติบุคคลด้วยตัวเองไว้ก่อน ดังนี้ 1. ยื่นแบบจองชื่อต่อนายทะเบียนด้วยตนเอง ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่ผู้ประกอบการอาศัยอยู่ หรือถ้าอาศัยอยู่ต่างจังหวัด สามารถไปที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด2. จองผ่านอินเตอร์เน็ต โดยกรอกข้อมูลที่ dbd.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าชื่อดังกล่าวไม่ขัดกับข้อกำหนด ก็จะแจ้งกลับมาว่ารับจองชื่อแล้ว จากนั้นก็สามารถมั่นใจได้ว่าชื่อธุรกิจที่ตั้งนั้นเป็นชื่อที่สามารถจดทะเบียนได้ ที่มา : (incquity.com, dbd.go.th, smethailandclub.com, 2020)
12 มิ.ย. 2563
T-GoodTech Web-based Business Meeting Event 2020
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ Organization for Small & Medium Enterprises and Regional Innovation, JAPAN (SMRJ) และ Shinkin Central Bank ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ Business Matching Event ผ่าน online application กับผู้ประกอบการญี่ปุ่น *** ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย ‼️ *** อุตสาหกรรมเป้าหมาย : * ด้านชิ้นส่วนรถยนต์ * เครื่องใช้ไฟฟ้า * เครื่องจักร * การแพทย์ ในวันที่ 24 ส.ค. 63 - 4 ก.ย. 63 ⏰ เวลา 9.00 - 16.30 น. (การคุยเจรจาบริษัทละ 40 นาที พัก 20 นาที) รูปแบบงาน : คุยเจรจาแบบ 1 บริษัท ต่อ 1 บริษัท เพื่อเจรจาธุรกิจแบบลงรายละเอียด ⚠️ มีล่ามแปลภาษาญี่ปุ่น - ไทย ✅ สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 24 มิ.ย. 63 ✅ สมัครผ่าน Excel Form ได้ที่ : https://bit.ly/3dKqeBq กรุณาส่งกลับที่อีเมลล์ : intercoop.dip@gmail.com ☎️ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คุณวรุตม์, คุณประภาพร กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน 02-202-4592
11 มิ.ย. 2563
เปลี่ยน “คนธรรมดา” ให้เป็น “หัวหน้า” ที่ลูกน้องอยากทำงานด้วย
ในช่วง 2 เดือนที่รัฐบาลประกาศล็อคดาว์นเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ไม่สามารถออกไปใช้เวลาวันหยุดนอกบ้านตามห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่ฟิตเนสได้ เลยถือโอกาสทำความสะอาดบ้าน โละตู้เสื้อผ้า จนลามไปถึงจัดตู้หนังสือ ทำให้ได้เจอกับหนังสือเล่มเก่าที่เคยอ่านจบไป แต่อยากหยิบมาปัดฝุ่นแล้วอ่านใหม่อีกสักรอบ หนึ่งในนั้นคือ หนังสือ “51 วิธีคิดของหัวหน้า ที่ลูกน้องอยากทำงานด้วย” ซึ่งเป็นหนังสือที่แปลมาจากบทความของคุณอิวะตะ มัตซึโอะ อดีต CEO ของ Starbucks Coffee Japan โดยเนื้อหาของหนังสือจะบอกเล่าถึงประสบการณ์ของคุณอิวะตะ ในการเป็นหัวหน้า และผู้บริหารองค์กรที่พนักงานทุกคนอยากอยู่ด้วยและพร้อมที่จะทำให้ วันนี้เลยถือโอกาสหยิบเอาเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้มาแชร์เพื่อเป็นมุมมองความคิดดีดีค่ะ จากชื่อหนังสือทุกคนคงพอคาดเดาได้ว่า คุณอิวะตะได้บอกเล่ามุมมองและวิธีคิดของการเป็นหัวหน้าที่ดีเอาไว้ทั้งหมด 51 ข้อ ซึ่งจะขอหยิบยกมาบางข้อที่อ่านแล้วรู้สึกประทับใจและอินกับเนื้อความ ดังนี้ค่ะ - ลงมือทำเอง ก่อนจะให้คนอื่นทำ : คุณอิวะตะได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “ก่อนที่จะไปออกคำสั่งหรือปกครองใคร คนเป็นหัวหน้าต้องฝึกฝนและควบคุมตัวเองให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถ้าแม้แต่ตัวเองยังควบคุมไม่ได้ก็ไม่มีทางจะไปควบคุมคนอื่นได้เลย” แสดงให้เห็นว่าผู้นำที่ดีจะต้องมีองค์ความรู้ และเข้าใจในงานที่มอบหมายให้ผู้อื่น แต่ถ้าเรื่องใดที่ยังไม่รู้ก็ต้องพยายามพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง- ประสบการณ์ความล้มเหลว จะทำให้เข้าใจความเจ็บปวดของคนอื่น : ถ้าหากหัวหน้างานเคยมีประสบการณ์ที่พบกับความล้มเหลว หรือความยากลำบากมาก่อน จะเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้อื่นและ จะไตร่ตรองก่อนทุกครั้งเพื่อระวังการกระทำของตนเองไม่ทำให้คนอื่นเจ็บปวด - คำพูดและการกระทำในแต่ละวัน คือสิ่งที่สร้างความเชื่อใจให้แก่กัน : หัวหน้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้องจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในกันและกัน โดยปัจจัยสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี คือ การสื่อสาร ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการพูดเท่านั้น แต่หมายรวมถึง “การกระทำ” คุณอิวะตะให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า สำหรับลูกน้องแล้วทุกการกระทำของหัวหน้าล้วน ลูกน้องจะสังเกตว่าหัวหน้าดีใจกับเรื่องอะไร หรือโมโหกับเรื่องอะไร แล้วพยายามตีความจากท่าทีเหล่านั้น - หัวหน้าต้องหมั่นถามความเห็นลูกน้อง : คุณอิวะตะให้ข้อคิดเห็นไว้ว่าหัวหน้าที่ดีในสายตาลูกน้อง คือ หัวหน้าที่แสดงออกว่า “อยากทำงานไปด้วยกันกับทุกคน” มากกว่าที่จะ “คอยสั่งให้คนอื่นทำตาม” นั่นหมายถึง หัวหน้าที่ดีต้องมองว่าลูกน้องคือมิตรที่มีเป้าหมายร่วมกัน ดังนั้น หัวหน้าจึงควรที่จะถามความเห็นลูกน้องตั้งแต่เริ่มต้นกำหนดภารกิจ เพื่อให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่าควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ทีมสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนั้น การรับฟังความคิดเห็นของลูกน้องคือสิ่งสำคัญที่แสดงออกว่าหัวหน้าเห็นความสำคัญและต้องการพึ่งพาพวกเขา- เริ่มด้วยการใส่ใจลูกน้อง : สิ่งที่สำคัญของคนที่เป็นหัวหน้าคือการให้ความสนใจกับลูกน้อง ขอแค่เวลาที่พวกเขาสุขหรือเศร้า แค่เพียงถามไถ่จะทำให้พวกเขารับรู้ว่า “หัวหน้าใส่ใจ” ซึ่งหัวหน้าที่ดีต้องใส่ใจไปจนถึงลูกน้องของลูกน้อ'เพราะจะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าหัวหน้าสังเกตเห็นตัวตน และสนใจพวกเขา เป็นการสร้างกำลังใจที่ส่งผลต่องานที่พวกเขาทำ- หัวหน้าต้องรับผิดชอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น : หัวหน้าต้องรับหน้าที่เป็นทั้งผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน โดยในกรณีที่ถูกประเมินหัวหน้าจะถูกคาดหวังจากลูกน้องว่า หัวหน้าคือคนที่จะรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือร้าย ซึ่งหัวหน้าที่ดีจะต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม - หัวหน้าต้องไม่หนี : คุณอิวะตะให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า คนที่เป็นหัวหน้าระดับกลางมีหน้าที่ในการทำ ความเข้าใจความรู้สึกของลูกน้อง และนำสิ่งที่ลูกน้องคิดไปถ่ายทอดให้ผู้บริหารระดับสูงได้รับรู้ พร้อมทั้งต้องอธิบายความเห็นของผู้บริหารระดับสูงให้ลูกน้องได้เข้าใจด้วย นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่หัวหน้าที่ดีต้องมีอยู่ในตัวเองคือ “การตัดสินใจ” ครั้งนี้ ถือโอกาสแชร์ประสบการณ์จากการอ่านเพียงเท่านี้ถ้าหากท่านใดสนใจสามารถตามหาหนังสือเล่มดังกล่าวได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปนะคะ
08 มิ.ย. 2563
ความเชื่อกับธุรกิจ และ ธุรกิจความเชื่อ
ถ้าว่ากันตามท้องเรื่องก็จะพบว่า บทความที่ผมจะพูดถึงนี้ประกอบด้วยเนื้อหา 2 เรื่องด้วยกันคือ ความเชื่อกับ (นัก) ธุรกิจ และการทำธุรกิจ (ที่เกี่ยวกับ) ความเชื่อ ถ้าเขียนแบบนี้คงพอจะเข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งดูละม้ายคล้ายกันจนทำให้เกิดอาการมึนงงได้เลยทีเดียว แต่ในความจริงแล้วมันเป็นคนละเรื่องกันแต่เชื่อมโยงกันในลักษณะของ Supply chain นั่นแหละครับ ส่วนที่ 1 ความเชื่อกับธุรกิจ สำหรับคนไทย จีน พม่า ลาว หรือประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียที่นับถือศาสนาพุทธ พราหมณ์ ฮินดู ล้วนมีความศรัทธาตั้งมั่นในศาสนาของตนอย่างเหนียวแน่น ซึ่งอิทธิพลของความศรัทธาหรือความเชื่อนั้นก็ได้เข้ามาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของตนโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นล่าง กลาง หรือชั้นสูง ไม่ว่าจะมีอาชีพการงานระดับรากหญ้าไปจนถึงระดับชาติ ก็ล้วนมีความเชื่อในสิ่งที่ยึดมั่นอยู่ในสายเลือด ไล่ตั้งแต่นักธุรกิจระดับ Micro SMEs ไปจนถึงระดับเจ้าสัวหมื่นล้าน ก็มักจะมีการแสดงออกถึงความเชื่อของตนอยู่ในธุรกิจนั้นเสมอ ผมจะยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คนไทยเชื่อว่าทำมาค้าขายให้บูชาแม่นางกวัก คนนับถือพราหมณ์หรือฮินดูจะบูชาพระพรหม คนจีนต้องดูฮวงจุ้ยก่อนตั้งห้างร้านและการจัดวางสินค้าในร้าน คนฮ่องกงเชื่อใบพัด/กังหัน คนญี่ปุ่นใช้มาเนกิ เนโกะ (แมวกวัก) ทีนี้ลองมาดูกันแต่ละอย่างโดยผมจะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ให้พอเห็นภาพความเชื่อที่ชัดเจนขึ้นว่านักธุรกิจนั้นเชื่อในอะไรบ้างนอกจากตำราเศรษฐศาสตร์ พระพุทธรูป พระเครื่อง เทวรูป เครื่องรางของขลัง อันดับแรกที่ต้องพูดถึงเลยคือเรื่องของพระพุทธรูป พระเครื่อง เทวรูป เครื่องรางของขลัง ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกแบบเหมายกเข่งว่า “วัตถุมงคล” โดยแต่ละศาสนา ลัทธิ และความเชื่อประจำถิ่นของแต่ละคนก็จะมีวัตถุมงคลที่ว่ามานั้นแตกต่างกันไป เช่น คนไทยก็จะเชื่อว่า การทำมาค้าขายหรือการทำธุรกิจเล็ก ๆ ไปจนถึงขนาดกลางมักจะต้องมีผู้ช่วยจึงจะประสบความสำเร็จ ทำมาค้าขึ้น ร่ำรวยเงินทอง เช่น พระสังกกัจจายน์ พระสิวลี พระอุปคุต เครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าช่วยธุรกิจและการค้าก็มี เช่น แม่นางกวัก กุมารทอง ปลัดขิก พญาเต่าเรือน กาฝากรัก กาฝากมะรุม และวัตถุมงคลรูปนกสาริกา ทางด้านคนไทยเชื้อสายจีน คนจีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ จะเชื่อในเทพเจ้าจีน เช่น ฮกลกซิ่ว เทพเจ้ากวนอู เจ้าแม่กวนอิม เทพไฉ่ซิงเอี้ย ทางฝั่งเทพเจ้าฮินดูก็มักจะเป็นพระพรหมและพระพิฆเนศ เป็นหลัก ทั้งหมดล้วนเป็นวัตถุมงคลในรูปแบบ “วัตถุ” ที่จับต้องได้มีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดจิ๋วไปจนถึงหน้าตักหลายนิ้วหรือที่เรียกว่าขนาดบูชา สำหรับนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ท่านมักจเห็นว่าหน้าสำนักงานของบริษัทเหล่านั้นมักตั้งศาลพระภูมิ เจ้าที่ หรือศาลพระพรหม หรือเทพเจ้าที่ตนนับถือไว้ด้วยเสมอ นี่คือความเชื่อในรูปแบบแรก โหราศาสตร์ ดวงชะตา ตัวเลข ฮวงจุ้ย ความเชื่อในแบบที่สองพอจะมองภาพได้ชัดว่าต่างจาก แบบแรกด้วยมีความเป็นวิชาการ ตรรกศาสตร์ สถิติ และโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นความเชื่อในรูปแบบที่ไม่ใช่วัตถุแต่เป็นการทำตามหลักการ (ที่ตนเชื่อถือ) ว่าทำแล้วจะเกิดความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นการดูฮวงจุ้ย การตั้งศาลทั้งหลายที่ไม่ใช่ศาลพิพากษา สีฝาผนังร้าน สีป้ายร้าน เลขมงคล เช่น เบอร์มือถือ ซึ่งหลายท่านอาจไม่เห็นความสำคัญ แต่กับอีกหลาย ๆ คนกลับยอมทุ่มเงินหลักหมื่นหลักแสนเพื่อให้ได้เบอร์มือถือที่ถูกโฉลกเพียงเบอร์เดียว และความเชื่อเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ท่านลอง search ดูร้านหรือคนขายเบอร์สวยเบอร์มงคลในอากู๋ google ดูแล้วกันว่ามีกี่พันเจ้า ซึ่งผมว่าน่าจะมีมากพอ ๆ กับศูนย์พระเครื่องที่ให้เช่าบูชาวัตถุมงคลตามความเชื่อในแบบแรกเลยทีเดียว นอกจากนี้นักธุรกิจกลุ่มใหญ่ยังพึ่งพาการดูดวง และโหราศาสตร์ในการทำธุรกิจอีกด้วย เช่น คนเกิดวัน เดือน ปี ต่างกัน จะมีธุรกิจที่ทำแล้วรุ่งกับทำแล้วล่วงต่างกันไป บางคนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้วจะรวย ในขณะที่บางคนต้องทำธุรกิจทางน้ำเท่านั้นถึงจะรุ่ง ทำให้เรามักได้ยินว่ามีชื่อของหมอดูและซินแสนเงินล้านเป็นที่ปรึกษาของนักธุรกิจรายใหญ่อยู่พอสมควร ส่วนที่ 2 ธุรกิจความเชื่อ นับเป็นซีรี่ย์ที่ต่อจากส่วนแรก ก็เพราะว่ามีความเชื่อกับธุรกิจ จึงทำให้เกิด ธุรกิจ (บน) ความเชื่อ และสิ่งนั้นทำให้เกิดธุรกิจแบบนึงขึ้นมาเพื่อที่ทำหน้าที่สนอง need ของนักธุรกิจในกลุ่มแรก อันได้แก่ ศูนย์พระเครื่องที่ให้เช่าบูชาวัตถุมงคลประเภทต่าง ๆ มีตั้งแต่ระดับ Micro SMEs คือพ่อค้าประเภทแผงลอย หรือในวงการเรียกว่าแผงจร คือนำพระเครื่องวัตถุมงคลที่ตนมีไปเปิดแผงให้บูชาตามสถานที่ที่เรียกว่าสนามพระ ตลาดพระ เป็นต้น ระดับ Small ก็มีศูนย์พระเครื่องขนาดใหญ่ที่มีลูกน้อง ลูกจ้าง ประจำศูนย์ มีคนหาพระส่งเข้าศูนย์ ปกติจะอยู่ตามห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์พระเครื่องขนาดใหญ่ที่มีผู้ประกอบการจำหน่ายวัตถุมงคลหลายสิบรายมาอยู่รวมกันในที่เดียว ไปจนถึงธุรกิจระดับ Medium คือ ผู้ที่สร้างพระเครื่อง วัตถุมงคลให้กับวัดต่าง ๆ โรงงานหล่อพระ ปั้มพระ เป็นต้น ท่านทราบหรือไม่ว่าธุรกิจเกี่ยวกับพระเครื่อง วัตถุมงคลนี้ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของไทยปีละหลักหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว เพราะปัจจุบันผู้ที่นิยมชมชอบพระเครื่องวัตถุมงคลได้ขยายไปทั่วโลกแล้ว ดังนั้น วัตถุมงคลที่กล่าวมาจึงกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอีกอย่างหนึ่งของไทย นอกจากธุรกิจการจำหน่ายสินค้า (วัตถุมงคล) แล้ว ธุรกิจการให้บริการบนความเชื่อก็รุ่งเรืองไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น ซินแส หมอดู อาจารย์ดัง ผู้แทนจำหน่ายหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้มีวิชาอาคมขลังปลุกเสกวัตถุมงคล สร้างวัตถุมงคล ทำพิธีกรรมด้านโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ต่าง ๆ อีกมากมาย เรียกว่ามากพอ ๆ กับจำนวนดารานักร้องสมัยนี้เลยทีเดียว บางคนก็ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง บางคนก็ดับไปในสายลม ทั้งนี้เพราะอาชีพที่กล่าวมานั้นมีปัจจัยพิเศษอยู่ประการหนึ่งที่จะตัดสินธุรกิจว่าจะรอดหรือไม่ สิ่งนั้นคือ “เครดิต”ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินหรือการให้สินเชื่อ แต่เป็น “ความน่าเชื่อถือ” ในอาชีพ เช่น กุมารทององค์หนึ่ง เจ้าของศูนย์พระในห้างซึ่งเป็นกรรมการสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย สามารถปล่อย (ขาย) ให้ลูกค้าได้ในราคา 100,000 บาท แต่เจ้าของแผงพระในตลาดนัดพระเครื่องปล่อยได้ในราคา 5,000 บาท ทั้งที่กุมารทองนั้นมาจากวัดเดียวกันรุ่นเดียวกันและเป็นของแท้เหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันมีเพียงสิ่งเดียวคือ “ผู้ขาย” นั่นเอง สรุปให้ง่ายได้ใจความคงพูดได้ว่า นักธุรกิจที่มีความเชื่อ (กลุ่มแรก) คือ Demand ส่วนผู้ทำธุรกิจบนความเชื่อ (กลุ่มที่สอง) คือ Supply หรือ นักธุรกิจทีมีความเชื่อคือ ลูกค้า ส่วนผู้ทำธุรกิจบนความเชื่อเป็น พ่อค้า นักธุรกิจทั้งสองกลุ่มจึงมีความสัมพันธ์กันบน Supply chain ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และกลไกด้านราคาของสินค้าขึ้นอยู่กับ “ความน่าเชื่อถือ” ของผู้ขายเป็นหลัก ซึ่งกว่าจะได้ความน่าเชื่อถือหรือเครดิตนั้นมาแต่ละคนต้องสร้างและสะสมทั้งประสิทธิภาพ คุณภาพสินค้า และความซื้อสัตย์ในการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน เพราะธุรกิจประเภทนี้ เครดิตที่สะสมมาทั้งชีวิตสามารถพังทลายได้ถ้าผู้ขายเกิดความโลภเพียงครั้งเดียว ถึงแม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ธุรกิจเกี่ยวความเชื่อนี้จะยังคงไปต่อได้อีกไกล ดั่งคำที่เล่าขานเป็นตำนานว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”
04 มิ.ย. 2563
รู้เรื่องติดตามประเมินผล ชีวิตงานรุ่งไม่พลาดชัวร์
การกล่าวถึงการติดตามและประเมินผล คนทั่วไปนิยมกล่าวการติดตามและประเมินผล กล่าวหรือเรียกร่วมกัน แท้จริงแล้ว การติดตาม และการประเมินผลมีความแตกต่างในด้านแนวคิด กระบวนการ กิจกรรมในการดำเนินงานในการติดตามและประเมินผล ทำไม.....หน่วยงานต้องดำเนินการติดตามและประเมินผลบางท่านสงสัย หรือมีคำถามในหน่วยงาน ทำไมต้องติดตามและประเมินผล หรือทำไมต้องติดตาม ประเมิน หรือการจัดทำรายงานโครงการ/กิจกรรม ความก้าวหน้าการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน เพื่อการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผล การติดตามและประเมินผลเป็นกระบวนการบริหารจัดการหนึ่งของหน่วยงานเพื่อจุดประสงค์การติดตามความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน หรือการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม สำหรับการประเมินผล เพื่อวัดความสำเร็จของโครงการ/กิจกรรม ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อการนำผลไปปรับปรุง แก้ไข และทราบถึงความสำเร็จของการดำเนินงาน สำหรับนิยาม “การติดตาม” (Monitoring) หมายถึง การเก็บรวมข้อมูลการปฏิบัติติงานตามแผนงาน โครงการ/กิจกรรมที่กำหนด เพื่อใช้ในการตัดสินใจ แก้ไข ปรับปรุง วิธีการปฏิบัติติงานให้ผลงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ประเภทการติดตาม มีรูปแบบ 6 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 การติดตามในเชิงกระบวนการ เพื่อประเมินปัญหาอุปสรรคระหว่างการดำเนินงานรูปแบบที่ 2 การติดตามเชิงปริมาณ เป็นการติดตามผลผลิตที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา รูปแบบที่ 3 การติดตามเชิงคุณภาพ เพื่อการประเมินว่าการดำเนินงานในแต่ละเรื่องมีระดับคุณภาพมากน้อยเพียงใด รูปแบบที่ 4 การติดตามเชิงเวลา เป็นการติดตามเชิงของแผนเทียบกับผลในแต่ละช่วงเวลารูปแบบที่ 5 การติดตามเชิงงบประมาณ เป็นการติดตาม เฝ้าดูการใช้งบประมาณในแต่ละช่วงเวลาโดยประเมินเปรียบเทียบความเหมาะสมของจำนวนเงินและปริมาณงานที่ได้ดำเนินการรูปแบบที่ 6 การติดตามเชิงวิชาการ หรือในทางเทคนิคของการดำเนินการ ส่วน “การประเมินผล” (Evaluation) หมายถึง การตรวจสอบความก้าวหน้าของแผนงานโครงการ/กิจกรรม และการพิจารณาผลความสำเร็จ หรือผลสัมฤทธิ์ของแผนงานโครงการ/กิจกรรม มากน้อยเพียงใดอยู่ในระดับใด เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น จะทำให้ทราบว่าการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม บรรลุวัตถุประสงค์ มากน้อยเพียงใด หากจะกล่าวถึงมิติการประเมิน (ศิริชัย กาญจนวลี (2554), มี 2 มิติ ได้แก่ 1. มิติของวิธีการประเมิน ประกอบด้วย 1.1 แนวทางวิธีการประเมินที่ใช้เทคนิคของชิงระบบ (Systematic approach) เป็นวิธีการประเมินที่มีเครื่องมือในการกำหนดหลักเกณฑ์ หรือแนวทางการประเมินที่ชัดเจน กระบวนงานประเมินที่เป็นขั้นตอนหรือเป็นระบบ 1.2 แนวทางวิธีเชิงธรรมชาติ (Nationalistic approach ) เป็นวิธีที่ไม่มีการกำหนดระเบียบวิธีในการให้มาของข้อมูลเพื่อการใช้ในการประเมินอย่างชัดเจน แต่อาศัยของผู้ประเมินเป็นหลัก2. มิติของวัตถุประสงค์ของการประเมิน 2.1 การประเมินที่มีจุดประสงค์เพื่อการตัดสินใจเป็นการประเมินที่มุ่งเน้นข้อมูลสารสนเทศต่างเพื่อการตัดสินใจผู้บริหาร 2.2 การประเมินที่มีจุดประสงค์เพื่อการตัดสินใจคุณค่าเป็นการนำกระบวนการที่เหมาะสมมาใช้เพื่อตัดสินคุณค่าของสิ่งที่ประเมินนั้น ๆ การตัดสินใจคุณค่าจะต้องวางบนพื้นฐานของความเป็นกลางอย่างไม่มีผู้ส่วนได้เสีย จะต้องดำเนินการตัดสินคุณค่าของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งผลเชิงบวกและผลเชิงลบเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม การติดตามเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนการประเมินผลจะมีการประเมินผลเป็นช่วง ๆ ต้นแต่เริ่มต้น ระหว่างการดำเนินงาน และเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงาน โดยหลักการแล้วควรต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการติดตาม ดังนั้นส่วนใหญ่จึงเรียกรวมเป็น การติดตามและประเมินผล ที่มา : ศิริชัย กาจนวาสี (2554) ทฤษฎีการประเมิน, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
02 มิ.ย. 2563
วางแผนดี...ปัญหาไม่มีให้รำคาญใจ
ในอดีตมีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่คิดจะดำเนินการอะไรก็ดำเนินการเลยโดยไม่มีการวางแผน ไม่มีการคิดอย่างเป็นระบบล่วงหน้า ใช้วิธีการคิดแล้วทำทันที เพราะกลัวจะเสียเวลาหรือเพราะไม่รู้ว่าจะวางแผนอย่างไร ความจริงที่พบคือ ถ้าวางแผนไว้ก่อนจะทำให้ไม่เสียเวลาในการนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะการวางแผน การกำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ดีไว้ล่วงหน้าแล้ว จะทำให้การดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด นอกจากนี้การคาดการณ์ถึงปัญหาอุปสรรคและเตรียมการป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้าแล้ว ก็จะยิ่งได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น หากมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น จะสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคนั้น ๆ ต่อไปได้ ดังนั้น การวางแผนจึงเปรียบเสมือนเป็นการคิดล่วงหน้า อีกส่วนก็คือ การกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือแผนกระทำการต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นทางเลือกเพื่อนำมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์เหล่านั้น ในการวางแผนช่วยให้ผู้บริหารมีข้อมูลในการดำเนินงาน และใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่จะปฏิบัติ งบประมาณ เป็นแผนงานโดยละเอียดในรูปตัวเลขทั้งจำนวนหน่วยและจำนวนเงินตามแผนการดำเนินงานของกิจการสำหรับระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต การจัดทำงบประมาณเป็นการวางแผนอย่างมีหลักเกณฑ์ เพื่อให้หน่วยงานดำเนินงานให้ได้ผลสำเร็จตามเป้าหมาย ในการพิจารณาโครงการฝ่ายจัดการจะต้องคาดคะเนรายได้ที่จะได้รับแต่ละโครงการ และกำหนดงบประมาณต้นทุนที่ต้องใช้จ่าย เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจลงทุนในโครงการ โดยงบประมาณเป็นแผนงานที่แสดงในรูปตัวเงินของโครงการในระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จตามแผนที่ตั้งไว้ งบประมาณช่วยให้ทุกแผนกงาน ทำงานอย่างมีเป้าหมาย หัวหน้าแต่ละคนจะต้องจัดลำดับการใช้จ่ายงบประมาณ และศึกษาวิธีการที่จะจัดการงบประมาณให้รัดกุม และจะต้องมีวิสัยทัศน์ในเป้าหมายโดยรวมทั้งหมดของโครงการ และค้นหาวิธีการที่จะทำให้บรรลุความสำเร็จเหล่านั้น ประโยชน์และความสำคัญของงบประมาณ เป็นเครื่องมือในการบริหารหน่วยงาน ตามแผนงานและกำลังเงินที่มีอยู่ โดยให้มีการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแผนงานที่วางไว้ เพื่อป้องกันให้การรั่วไหลและการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็นของหน่วยงานลดลง เป็นเครื่องมือในการพัฒนาหน่วยงาน โดยหน่วยงานต้องพยายามใช้จ่ายและจัดสรรงบประมาณให้เกิดประสิทธิผลไปสู่โครงการที่จำเป็น เป็นโครงการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดความก้าวหน้าของหน่วยงาน เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้มีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานต้องพยายามใช้จ่ายและจัดสรรงบประมาณให้เกิดประสิทธิผลไปสู่โครงการที่จำเป็น เป็นโครงการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดความก้าวหน้าของหน่วยงาน เป็นเครื่องมือกระจายทรัพยากรและเงินงบประมาณที่เป็นธรรม งบประมาณสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม ไปสู่จุดที่มีความจำเป็นและทั่วถึงที่จะทำให้หน่วยงานนั้นสามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์งานและผลงานของหน่วยงาน เนื่องจากงบประมาณเป็นที่รวมทั้งหมดของแผนงานและงานที่จะดำเนินการในแต่ละปี พร้อมทั้งผลที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นหน่วยงานสามารถใช้งบประมาณหรือเอกสารงบประมาณที่แสดงถึงงานต่าง ๆ ที่ทำเพื่อเผยแพร่ผลงานและความสำเร็จขององค์กร
25 พ.ค. 2563