สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการตั้งชื่อธุรกิจ
การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ไม่ว่าธุรกิจใด ๆ การตั้งชื่อธุรกิจ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการ ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยชื่อของธุรกิจนั้น ต้องใช้เป็นสื่อในด้านการตลาด สร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจที่ผู้ประกอบการกำลังดำเนินงานอยู่ โดยสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการตั้งชื่อธุรกิจมีดังนี้1. หลีกเลี่ยงตั้งชื่อธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงเกินไป แน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องตั้งชื่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจตนเอง แต่ทั้งนี้ไม่ควรระบุเจาะจง จนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อการขยายโอกาสในอนาคต ยกตัวอย่างร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่าง KFC ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นตัวย่อมาจากชื่อเต็มว่า Kentucky Fried Chicken เพราะถ้าขืนยังใช้ชื่อเดิมอยู่ ผู้พัน Kentucky อาจขายได้เพียงไก่ทอดตามชื่อบริษัทเท่านั้น2. หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อสถานที่มาตั้งเป็นชื่อธุรกิจ เนื่องจากในอนาคตผู้ประกอบการอาจขยายสาขาธุรกิจไปพื้นที่อื่น และอาจทำให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจผิดได้ เช่น ลาดพร้าวอะไหล่ยนต์ เพราะมีที่ตั้งอยู่บนถนนลาดพร้าว และถ้าขยายสาขาไปสุขุมวิท ลูกค้าอาจจะไม่ทราบ เพราะชื่อระบุว่าเป็นลาดพร้าว ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรตั้งชื่อโดยคำนึงถึงอนาคตว่าวันหนึ่งกิจการของคุณอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในพื้นที่หนึ่งๆ แต่อาจขยายไปทั่วประเทศหรือต่างประเทศได้ ยกตัวอย่างบริษัท Minnesota Manufacturing and Mining ที่เปลี่ยนชื่อเป็น 3M เพื่อให้ขายได้ทั่วโลกอย่างในปัจจุบัน3. หลีกเลี่ยงการชื่อของตนเองมาตั้งชื่อธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านทอง ที่ตั้งชื่อขึ้นต้นด้วย “ห้างทอง”และตามด้วยชื่อ “แม่” ต่าง ๆ หรือ ร้านขนม ที่ขึ้นต้นด้วยชื่อ “แม่” ต่าง ๆ ชื่อเหล่านี้จะมีลักษณะคล้ายกันมาก ยากต่อการจดจำ ถ้าผู้ประกอบการวางแผนจะขายธุรกิจในอนาคต ชื่อร้านที่เป็นตัวบุคคลเช่นนี้ไม่ดึงดูดใจผู้ซื้อเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับธุรกิจที่สร้างชื่อจากสินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมมองหนึ่ง การใช้ชื่อตนเอง หรือวงศ์ตระกูลมาตั้งเป็นชื่อธุรกิจ อาจเป็นการสื่อถึงจุดเริ่มต้นและประวัติของธุรกิจ ที่ทำให้รู้สึกได้ว่า สินค้าหรือบริการนี้ มีมานานแล้ว และยังแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ความเชื่อมั่นและความผูกผันที่ลูกค้ามีต่อธุรกิจหรือแบรนด์ได้อีกด้วย4. หลีกเลี่ยงการตั้งชื่อธุรกิจที่มีคนใช้อยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น ชื่อธุรกิจที่มีคำว่า “รวย”“มงคล” “พาณิชย์” ฯลฯ หรือถ้าเป็นร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าก็มักจะมีคำว่า “อิเล็กทรอนิกส์” ในชื่อเกือบทุกร้านแม้ชื่อต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถสื่อความหมายได้ดี และเป็นสิริมงคลต่อธุรกิจที่เริ่มก่อตั้งใหม่ แต่ชื่อเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก ไม่มีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคู่แข่งหลายรายที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันและส่วนใหญ่เวลาตั้งชื่อก็จะตั้งเหมือนๆกัน ทำให้ลูกค้าจดจำไม่ค่อยได้ บางครั้งลูกค้าอาจจะจำผิดเพราะมีชื่อซ้ำกันมากจนเกินไปนั่นเอง5. หลีกเลี่ยงการตั้งชื่อธุรกิจที่สะกดยาก ชื่อธุรกิจที่ดีควรสะกดและเขียนได้ง่าย ถ้าสะกดยากอาจมีข้อผิดพลาดในการสะกดชื่อธุรกิจให้ถูกต้องได้ เช่น เกิดปัญหาด้านการทำเอกสารติดต่อต่าง ๆ การทำสัญญาซื้อขายกับคู่ค้า รวมถึงการเขียนเช็คสั่งจ่ายมายังธุรกิจของเราด้วย อีกทั้ง ชื่อธุรกิจควรเป็นชื่อที่เข้าใจง่ายและออกเสียงง่ายอีกด้วย ทำให้ลูกค้าจำชื่อของธุรกิจคุณได้ดีขึ้น อย่าลืมว่าการค้า “แบบปากต่อปาก” (Word of Mouth) ยังมีผลมาก หากผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการดีจริงจนลูกค้าอยากแนะนำให้คนรู้จักใช้บ้าง แต่ชื่อธุรกิจจำยากหรือออกเสียงยากเกินไปทำให้ไม่สามารถจำชื่อไปบอกคนอื่นต่อได้ ผู้ประกอบการก็อาจพลาดในการได้ลูกค้ารายใหม่ๆได้ นอกจากนี้แล้วยังอาจมีปัญหาในการนำชื่อไปจัดทำเว็บไซต์ของทางบริษัทที่เป็นภาษาอังกฤษด้วยเพราะไม่รู้จะสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไรอีกด้วย6. หลีกเลี่ยงการเล่นคำในชื่อและการใช้อักษรย่อ เพราะจะทำให้ลูกค้าไม่ทราบว่าสินค้าและบริการของผู้ประกอบการคืออะไร หลีกเลี่ยงการตั้งชื่อบริษัทประเภทที่เป็นประโยคอุปมาอุปมัย การตั้งชื่อที่ผิดศีลธรรม การใช้คำผวน ซึ่งอาจโดนวิพากษ์วิจารณ์ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่ธุรกิจได้เพราะความสามารถในการสื่อสารของคนเรานั้นไม่เท่ากันอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนในการตีความก็เป็นได้7. หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อใกล้เคียงกับบริษัทที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว หรือชื่อที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ (ทั้งไทยและต่างประเทศ) การจงใจใช้ชื่อใกล้เคียงกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวเพื่อหวังผลให้เกิดความเข้าใจผิดจากลูกค้า ผู้ประกอบการอาจถูกฟ้องร้องจากบริษัทที่คุณจงใจเลียนแบบได้ เช่น กรณีของนาย Victor Moseley ที่เมืองอลิซาเบท รัฐเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้ชื่อ Victor’s Secret เป็นชื่อร้านขายของขวัญสำหรับผู้ใหญ่และชุดชั้นในสตรี เมื่อฝ่ายกฏหมายของ Victoria’s Secret (ร้านชุดชั้นในสตรีชื่อดังของสหรัฐฯ) พบเข้าจึงได้ยื่นหนังสือฟ้องร้านของนายวิคเตอร์ในข้อหาละเมิดชื่อบริษัท แม้เขาจะรีบเปลี่ยนชื่อเป็น Victor’s Little Secret ก็ยังโดน Victoria’s Secret ฟ้อง
• การตั้งชื่อธุรกิจควรมีความหมายที่ดีเช่นเดียวกับการตั้งชื่อของคน ซึ่งผู้ประกอบการและลูกค้าอาจยังยึดถือเรื่องโชคลาง หาชื่อธุรกิจที่เป็นสิริมงคลโดยทำการดูดวงและฮวงจุ้ยของชื่อนั้น ๆก่อน ก็เป็นได้• ชื่อธุรกิจควรสัมพันธ์กับโลโก้ของบริษัท เพราะเป็นสิ่งแรกในการดึงดูดความสนใจของลูกค้า• ชื่อบริษัทควรเป็นชื่อที่สามารถนำมาจัดทำเป็นชื่อเว็บไซต์ได้ เพราะในยุค Digital Economy ที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการสื่อสารเช่นทุกวันนี้ ธุรกิจของผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องมีเว็บไซต์เป็นของตนเองเพื่อประโยชน์ในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์• การทดสอบชื่อธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยการทำแบบสำรวจ หรือ ให้ผู้อื่น เช่น เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว หรือคนรู้จักในวงการธุรกิจที่มีประสบการณ์ ได้ทดลองพิจารณาชื่อธุรกิจ เช่น ให้แสดงความคิดเห็น ทดลองอ่านออกเสียง หรือพิจารณาแบบอักษรดู เสมือนว่าพวกเขาเป็นลูกค้าจริง ๆ ซึ่งข้อดี คือคนเหล่านี้อาจมองเห็นปัญหาที่ผู้ประกอบการมองข้ามหรือนึกไม่ถึงก็ได้ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันก่อนที่จะสายเกินไป
ที่ปรึกษาธุรกิจสามารถนำแนวทางการตั้งชื่อธุรกิจนี้ ไปให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้ และเมื่อผู้ประกอบการได้ชื่อของธุรกิจเรียบร้อยแล้ว ชื่อดังกล่าวต้องไม่ซ้ำกับชื่อของบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว และเป็นชื่อที่ “สามารถจดทะเบียนได้” วิธีการตรวจสอบนั้นก็สามารถทำได้ง่ายมากโดยทำเรื่องขอตรวจสอบชื่อนิติบุคคล หรือ “จองชื่อ” นิติบุคคลด้วยตัวเองไว้ก่อน ดังนี้ 1. ยื่นแบบจองชื่อต่อนายทะเบียนด้วยตนเอง ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่ผู้ประกอบการอาศัยอยู่ หรือถ้าอาศัยอยู่ต่างจังหวัด สามารถไปที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด2. จองผ่านอินเตอร์เน็ต โดยกรอกข้อมูลที่ dbd.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าชื่อดังกล่าวไม่ขัดกับข้อกำหนด ก็จะแจ้งกลับมาว่ารับจองชื่อแล้ว จากนั้นก็สามารถมั่นใจได้ว่าชื่อธุรกิจที่ตั้งนั้นเป็นชื่อที่สามารถจดทะเบียนได้
ที่มา : (incquity.com, dbd.go.th, smethailandclub.com, 2020)
12
มิ.ย.
2020