นินทา...ภายใต้เรื่องร้าย ยังมีเรื่องดีให้เรียนรู้


22 ก.ค. 2563    napakan    10

 

                             

          เมื่อชีวิตต้องพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา และยิ่งเข้ามาสู่สังคมในที่ทำงาน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราทุกคนนั้นจะไม่โดนเพื่อนร่วมงานนำเอาไปนินทา ดังคำกลอนข้างต้นที่เรามักเอามาเตือนใจตัวเองกันบ่อย ๆ แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่กับสิ่งที่เราต้องเจอในทุกวันได้ล่ะ วันนี้ผู้เขียนได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นหลักการธรรมชาติของพฤติกรรมการนินทามาให้ผู้อ่านได้ทราบกัน เพื่อที่เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะได้ไม่ต้องเก็บมาคิดมากในพฤติกรรม “การนินทา” ให้เป็นทุกข์กันอีกต่อไป

 

          หากพูดถึง “การนินทา” แล้วละก็ ภาพจำของคนเกือบทุกคนก็คือสิ่งที่ไม่ดี เป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจใครเจอเป็นต้องอี๋!!! แต่ใครจะรู้ละว่า การนินทา ก็มีข้อดีกับเค้าอยู่เหมือนกัน ในงานวิจัยชื่อ The Virtues of Gossip หรือว่า ‘คุณธรรมของการนินทา’ ของแมทธิว ไฟน์เบิร์ก (Matthew Feinberg) และคณะที่ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Review of General Psychology เขาบอกว่าการนินทาเป็นเรื่องสำคัญของสังคมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณเลยทีเดียว ถ้าคุณสังเกตดูให้ดี ว่าการนินทาไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ ‘เรื่อง’ ที่จะเอามานินทากันนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง อาทิเช่น เป็นเรื่องที่ ‘สำคัญ’ (Significant) ต่อแวดวงสังคมนั้น ๆ โดยการนินทาจะต้องมี ‘มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์’ ซ่อนอยู่ข้างใต้เสมอ งานวิจัยนี้บอกว่า เอาเข้าจริงแล้ว การทำให้ผู้ถูกนินทาเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น มักจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของการนินทา และจำนวนมากก็ถึงขั้นไม่เกี่ยวข้องกับ ‘ตัวคน’ ด้วยซ้ำ และ การนินทา นี่แหละเป็นเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ที่ใช้ควบคุมไม่ให้มีใครทำตัวออกนอกลู่นอกทางในสังคมไป จะเห็นได้ว่า การนินทามักเกิดขึ้นเมื่อมีใครบางคนทำอะไรบางอย่างแตกต่างไปจาก “บรรทัดฐานของสังคม” นั้น ๆ ไป โดยในบางครั้งการทำอะไรแตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสื่อมเสียอย่างเดียว ใครทำอะไรเป็นที่โดดเด่นดีงามก็มักจะเป็นที่พูดถึงด้วย การนินทาในแง่นี้จึงมีหน้าที่ของมันในฐานะการส่งต่อข้อมูลข่าวสารในกลุ่ม คล้าย ๆกับสัตว์ที่อยู่ในฝูงแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องแหล่งอาหารผ่านฟีโรโมนหรือวิธีการอื่น ๆ ซึ่งสำหรับมนุษย์นั้น ภาษา ได้ถูกคิดค้นและนำมาใช้ในการส่งต่อข้อมูลแทนพฤติกรรมของสัตว์ดังที่กล่าวมา “การนินทา” นอกจากจะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงบรรทัดฐานต่าง ๆ ของสังคมเท่านั้น แต่ศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) นักมานุษยวิทยายังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังเป็นการเรียนรู้ถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น รวมไปถึงการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่น ได้สร้างการทำงานร่วมกัน และยังทำให้คนแต่ละคนได้ประเมินความสำเร็จของตัวเอง และมองเห็นถึงจุดยืนร่วมของสังคมที่คน ๆ นั้นสังกัดอยู่อีกด้วย!!!

 

          อย่างไรก็ตาม แม้การจับกลุ่มนินทา จะเป็นเครื่องมือสื่อสารหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่ทำให้เราเป็นทุกข์กับมันได้เช่นกัน หากเราไม่ชอบพฤติกรรมการนินทานี้เอาซะเลย ก็ลองให้เรานำหลักการที่ว่ามาคิดวิเคราะห์แล้วจะพบว่า การนินทา นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางสังคมก็แล้วกัน มันเป็นเช่นนั้นเอง....

 

 

ที่มา : 101world

ดาวน์โหลด