หมวดหมู่
Six Sigma ปรับปรุงธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ ปั้นกำไรอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน Six Sigma ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในการปรับปรุงกระบวนการทั้งในภาคการผลิตและงานบริการ วันนี้ผู้เขียนได้นำ D-M-A-I-C (Define, Measure, Analyze, Improvement, Control) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกระบวนการทำงานของ Six Sigma มาแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ลองใช้ดู ซึ่งผู้เขียนเคยนำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อลด Lead Time ของกระบวนการผลิต ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนคนงานและจำนวนเครื่องจักร เมื่อสมัยทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม D-M-A-I-C เป็นขั้นตอนของการเรียบเรียงกระบวนการทางความคิด และเป็นแนวทางที่องค์กรส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้ในการระบุสาเหตุ ในการลดความสูญเสียจากการดำเนินงาน หรือ อาจเรียกว่า Problem Resolution โดย D-M-A-I-C จะมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหลังจากปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว เพื่อจะปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้มีคุณภาพตามกำหนด และเพื่อให้ทุกคนจดจำได้ง่ายขึ้น ลองจำเป็น D-MAI-C (ดี-ไหม-ครับ หรือ ดี-ไหม-คะ) แล้วแต่ที่สะดวกได้เลยค่ะ ผู้เขียนขออธิบายถึงรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนให้เพื่อน ๆ ได้มองเห็นภาพได้ง่ายขึ้นนะคะ ไปเรียนรู้กันทีละตัวเลยค่ะ Define คือ ขั้นตอนของการนิยามหรือกำหนดปัญหาให้เข้าใจตรงกัน เลือกโครงการที่จะทำการปรับปรุงหรือออกแบบ เช่น เลือกกระบวนการผลิตที่เป็นกระบวนการคอขวด (Bottleneck Process) หรือ กระบวนการผลิตที่เกิดของเสียสูงที่สุด เพื่อให้โครงการที่เลือกทำนั้นเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ทำแล้วคุ้มค่า ตรงประเด็นไม่เสียเวลา Measure คือ การนำปัญหาที่เรากำหนดแล้ว มาทำให้เป็นตัวเลข หรือสร้างเกณฑ์ชี้วัดสภาพปัญหา เช่น การวัดความสามารถของกระบวนการผลิต การวัดของเสีย การวัดประสิทธิผล ฯลฯ Analyze คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำการวัดมาแล้ว เพื่อพิสูจน์หาตัวแปรที่สำคัญที่สุดในกระบวนการ (Key process variable) ที่เป็นต้นตอสาเหตุของปัญหาที่นิยามไว้ เช่น การผลิตสินค้าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของลูกค้าในขั้นตอนนนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะถ้ากำหนดตัวแปรที่สำคัญผิดก็ไม่สามารถปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นได้ Improve คือ การปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น หลังจากที่เราสามารถหาตัวแปรที่มีผล หรือนัยสำคัญในกระบวนการทำงานได้แล้ว เราก็ลงมือปรับปรุงกันได้เลย Control คือ การควบคุมกระบวนการทำงานให้อยู่ภายใต้การทำงานอย่างมีมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ โดยเราสามารถควบคุมการกระบวนการทำงานอย่างมีมาตรฐาน ด้วยการออกเอกสารมาตรฐาน (Standard Document) หรือ Statistical process control (SPC) ในการควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิต Six Sigma เป็นหนึ่งในหลายร้อยวิธีที่อาจจะคลิกกับปัญหาที่ธุรกิจของท่านกำลังประสบอยู่จนสามารถคลายปมที่ยุ่งเหยิงพลิกวิกฤติกลับไปสู่กำไรที่เพิ่มขึ้นพอกพูนได้ อ่านมาถึงบรรทัดนี้คงรู้แล้วใช่ไหมคะว่าวิธีการนี้ไม่ยากอย่างที่คิด ลองนำไปปรับใช้กันดูแล้วจะรู้ว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอถ้าเราใช้กุญแจถูกดอกค่ะ แหล่งที่มา 1. https://www.dropbox.com/th_TH/business/resources/dmaic 2. https://www.solutioncenterminitab.com/blog/lean-six-sigma-terms-dmaic-dmadv-dfss-2/ บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น
10 ก.ย. 2563
PMQA อิหยังวะ!
PMQA ย่อมาจาก Public sector Management Quality Award หรือแปลเป็นภาษาไทยว่ารางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นกรอบการประเมินองค์การด้วยตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นในการปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง ใครเคยสงสัยบ้างครับ ว่าอะไรคือ การบริหารจัดการที่ดี หรือ ระบบราชการที่ดี ความคิดของทุกคนคงผุดขึ้นมาจนล้นสมอง ถ้าให้ยกมือก็คงมือพันกันระวิงเลยใช่ไหมครับ งั้นมาลองไล่ความสำคัญไปพร้อม ๆ กันดีกว่า เริ่มจากการมองสภาพแวดล้อม ในปัจจุบันที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับปรุงหรือปฏิรูป จากแนวคิดของการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐสู่ระบบราชการ 4.0 เพื่อให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 จึงมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ภาครัฐสามารถเป็นที่พึ่ง เชื่อถือและไว้วางใจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดกลไกการขับเคลื่อนการนำเครื่องมือประเมินสถานการณ์เป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) มาใช้ในการยกระดับการบริหารจัดการองค์การไปสู่ระบบราชการ 4.0 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำเครื่องมือไปวิเคราะห์องค์การด้วยตนเองเพื่อหาโอกาสในการปรับปรุงองค์การ และนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาองค์การ นำไปสู่การยกระดับองค์การให้เป็นระบบราชการ 4.0 โดยมุ่งเน้นให้ปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้านและอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั้ง 7 หมวด ซึ่งถ้าเจาะลึก ๆ ระดับการพัฒนาก็มี 3 ระดับ ได้แก่ Basic Advance และ Significance ลองนึกภาพเล่น ๆ ก็จะเปรียบเหมือนคนที่ชอบเล่นเกม ขั้นแรกก็เปรียบเหมือนคนที่เล่นเกมเป็น ขั้นต่อไปก็ยกระดับหน่อยเปรียบเหมือนคนเล่นเกมที่ติดลำดับ ขั้นสุดก็อยู่ในเลเวลที่เล่นเกมจนได้รางวัล ก็จะประมาณนั้นครับ เวลาเราขายของยังหวังผลกำไร นับประสาอะไรกับการทำงานเราก็ต้องมีเรือธงใช่ไหมครับ ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 ก็จะดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (Better Governance, Happier Citizens) สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีหน้าที่ต้องขลุกหรือคลุกวงในกับการประเมินองค์การ หรือ PMQA ทุกวัน ผมว่าแค่รู้ไว้ว่าหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มีอะไรบ้าง แล้วมันดีอย่างไร? ก็เท่มากแล้วครับสำหรับคนในเครื่องแบบสีกากี เริ่มเลยนะครับ Go Go Go 1. ระบบราชการที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน (Open & Connected Government) เป็นการทำงานที่เปิดเผยโปร่งใสในการทำงาน โดยบุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการหรือมีการแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันและสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานได้ ตลอดจนเปิดกว้างให้กลไกหรือภาคส่วนอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม และโอนถ่ายภารกิจที่ภาครัฐไม่ควรดำเนินการเองออกไปให้แก่ภาคส่วนอื่น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแทน โดยการจัดระเบียบความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้างให้สอดรับกับการทำงานในแนวระนาบ ในลักษณะของเครือข่าย มากกว่าตามสายการบังคับบัญชาในแนวดิ่ง ขณะเดียวกันก็ยังต้องเชื่อมโยงการทำงานภายในภาครัฐด้วยกันเองให้มีเอกภาพและสอดรับประสานกันไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น 2. ระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Government) ต้องทำงานในเชิงรุก และมองไปข้างหน้า โดยตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่าประชาชนจะได้อะไร มุ่งเน้นแก้ไข ปัญหาความต้องการและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนเข้ามาติดต่อขอรับบริการหรือร้องขอความช่วยเหลือจากทางราชการ (Proactive Public Services) รวมทั้งใช้ประโยชน์จากข้อมูลของทางราชการ (Big Government Data) และระบบดิจิทัลสมัยใหม่ในการจัดบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของประชาชน (Personalized หรือ Tailored Services) พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกโดยมีการเชื่อมโยงกันเองของหน่วยงานราชการเพื่อให้บริการต่าง ๆ สามารถเสร็จสิ้นในจุดเดียว ประชาชนสามารถใช้บริการของทางราชการได้ตลอดเวลาตามความต้องการ และสามารถติดต่อได้หลายช่องทางผสมผสานกัน ทั้งการติดต่อด้วยตนเอง ติดต่อผ่านอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ 3. หน่วยงานของรัฐมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance Government) คือกระบวนการทำงานที่ต้องทำงานอย่างเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงสร้างนวัตกรรมหรือความคิดริเริ่มและประยุกต์องค์ความรู้ในแบบสหสาขาวิชาเข้ามาใช้ในการตอบโต้กับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เพื่อสร้างคุณค่า มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการตอบสนองกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันเวลา ตลอดจนเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูงและปรับตัวเข้าสู่สภาพความเป็นสำนักงานสมัยใหม่ รวมทั้งทำให้ข้าราชการมีความผูกพันต่อการปฏิบัติราชการและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมกับบทบาทของตน (ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแล ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติ) ใช่แล้วครับ การจะพัฒนาไปสู่ระบบราชการ 4.0 จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ในการทำงานร่วมกัน มองเป้าหมายร่วมกัน มิใช่เฉพาะภาครัฐเพียงส่วนเดียว รวมถึงการคิดค้นและแสวงหาวิธีการหรือแนวทาง (Solutions) ใหม่ ๆ หรือการสร้างนวัตกรรมนั่นเองครับที่จะมีช่วยให้สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศหรือตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี และที่ขาดไม่ได้ก็คือการปรับตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องได้รับการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด (Mindset) ให้ตนเองมีความเป็นผู้ประกอบการสาธารณะ (Public Entrepreneurship) เพิ่มทักษะให้มีสมรรถนะที่จำเป็นและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน อันจะช่วยทำให้สามารถแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) เพื่อสร้างคุณค่า (Public Value) และประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน ดังนั้นนะครับ หากผู้อ่านเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล หรือเป็นผู้กำกับดูแล หรือจะเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรงเลยก็ดี ก็อย่าลืมยึดหลักปัจจัยสำคัญที่เป็นเหมือนกุญแจสำคัญเหล่านี้ที่จะทำให้หน่วยงานของท่านบรรลุเป้าหมาย และมีผลการประเมินในระดับที่คาดหวังไว้ได้อย่างง่ายดายครับ พอหอมปากหอมคอ ถ้าใครยังเอ๊ะอ๊ะ สงสัยในบางประเด็นผมแนบลิ้งก์เล่ม PMQA 4.0 ไว้ด้านล่างนะครับ ผมพร้อม คุณพร้อม ประเทศไทยพร้อม ระบบราชการ 4.0 ก็ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เราวาดฝันอีกต่อไปครับ ที่มา คู่มือการประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 : https://www.opdc.go.th/content/Mjc3Mg ความหมายเกี่ยวกับ PMQA : http://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/pmqa.pdf
31 ส.ค 2563
กง. ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลบุกถึงถิ่นกล้วยตาก จ.พิษณุโลก
เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 กง.กสอ. ลงพื้นที่เพื่อติดตามและประเมินผลการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรบ้านตะโม่สร้างสรรค์ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ผู้ผลิตกล้วยตาก ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของ กสอ. โดยได้รับการส่งเสริมจาก ศภ. 2 กสอ. ในด้านการพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์ จำนวน 8,000 ชิ้น สำหรับกล้วยโรล (กล้วยอบม้วนสอดไส้เม็ดมะม่วงหิมพานต์เและช็อกโกแลต) และกล้วยตากเคลือบช็อกโกแลต โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการใช้ต้นแบบบรรจุภัณฑ์ไปแล้ว 4,000 ชิ้น โดยในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับตัวในการขายตลาดออนไลน์มากขึ้น ทำให้มียอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น สำหรับความท้าทายของกลุ่ม คือ การขาดแคลนกล้วยในหน้าแล้ง ซึ่งในอนาคต นอกจากกลุ่มจะมีแนวคิดในการเก็บรักษากล้วยในห้องเย็นช่วงวัตถุดิบล้นตลาด เพื่อป้องกันปัญหากล้วยขาดแคลนช่วงหน้าแล้งแล้ว กลุ่มยังต้องการให้ส่งเสริมด้านการพัฒนากระบวนการชุบช็อกโกแลตและการเพิ่มผลิตภาพกระบวนการบรรจุ โดยกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมของ กสอ. อย่างต่อเนื่อง มีความพึงพอใจต่อกิจกรรม กสอ. อย่างมาก และชื่นชมเจ้าหน้าที่ ศภ. 2 กสอ. ที่สนับสนุนกลุ่มมาโดยตลอดอีกด้วย
27 ส.ค 2563
4 ครั้ง 4 หัวข้อสัมมนา "ติดปีก SMEsไทย ไปสู่ตลาดโลก"
กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ได้ดำเนินการจัดสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ "ติดปีก SMEsไทย ไปสู่ตลาดโลก" โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าในตลาดต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ที่สนใจนำองค์ความรู้ไปใช้ในการประกอบธุรกิจ สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ได้เชิญผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้และประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 4 ท่าน คือ1.คุณรักต์กันท์ กฤติพงศ์โรจน์ เจ้าของแบรนด์สินค้า น้ำพริกคุณนันท์ ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานในระดับสากล ทำให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปสู่ลูกค้าในต่างประเทศได้2. คุณณชา จึงกานต์กุล เจ้าของแบรนด์สินค้า ผลไม้อบแห้ง KUNNA แชร์ประสบการ์การเพิ่มมูลค้าผลผลิตทางการเกษตรโดยการแปรรูปผลไม้ และเน้นการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ3. ดร.ธนธรรศ สนธีระ เจ้าของแบรนด์สินค้า Snowgirl แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจเครื่อสำอางค์ จากกลุ่มแม่บ้านพัฒนาสู่เครื่องสำอางค์ที่มีมาตรฐานสามารถวางจำหน่ายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งส่งออกในระดับสากล4. คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ เจ้าของแบรนด์สินค้า QUALY แชร์ประสบการณ์การนำความรู้ในการออกแบบมาใช้ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติก เพื่อสร้างมูลค่า และได้รับการยอมรับในตลาดระดับสากล ซึ่งการจัดสัมมนาผ่านระบบเฟซบุํคไลฟ์ทั้ง 4 ครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงบุคคลทั่วไป ที่เข้ามารับชมการสัมมนาออนไลน์ถึงประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และการตลาดระหว่่างประเทศ นอกจากนั้นยังได้ข้อคิดการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 อีกด้วย
19 ส.ค 2563
2nd web café trial เจรจาธุรกิจไทย – ญี่ปุ่น ด้วยระบบ VDO conference
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563 Mr. Makoto Ihara ผู้แทนจากหน่วยงานเพื่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งญี่ปุ่น หรือ SMRJ ประจำกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดกิจกรรมการเจรจาธุรกิจในระบบการประชุมทางไกล ครั้งที่ 2 (2nd web café trial) ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการญี่ปุ่น ณ ห้องประชุมกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ชั้น 4 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย 1 บริษัทไทย ได้แก่ Gen Serv Co.,Ltd. และ 2 บริษัทญี่ปุ่น ได้แก่ 1.) Dairoku Seiko Kanagata Co.,Ltd. 2.) D Art Co.,Ltd.
14 ส.ค 2563
ณ จุด ๆ นี้ (ไทย-โลก) อาการเป็นยังไงบ้าง?
ธุรกิจพัง ลงกำลังก็สูญเปล่า เงินก็ต้องเอาไปใช้หนี้ กี่ปีถึงได้กำไร?...การทำธุรกิจในยุคนี้ดูน่ากลัวและหมดหวัง แต่ลองมองกลับกันถ้าเราปรับตัวเป็นและมองให้เห็นโอกาส การทำธุรกิจในยุคสมัยไหนหรือในภาวะวิกฤติอะไรก็สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะแนวคิดหรือหลักการอะไรที่เขาถ่ายทอดกันมาว่าดี หรือข้อมูลอะไรที่บอกต่อ ๆ กันมาว่ามันสำคัญ อย่ามองข้ามเป็นอันขาดเพราะจุดเล็ก ๆ อาจจะเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจที่คุณกำลังมองหาอยู่ก็ได้ จากข้อมูลประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการวิเคราะห์สถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง! และข้อไหนประเด็นอะไรที่กระทบเราแบบจัง ๆ หรือกระทบแบบอ้อมโลกบ้าง? สถานการณ์ภายในประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ยังคงมีแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศในระยะยาวอยู่ รัฐบาลได้ออกนโยบายในการพัฒนาประเทศในหลากหลายด้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนในด้านความเป็นอยู่เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบของไทยอาจส่งผลด้านโครงสร้างแรงงานที่ช่วงวัยเด็กและวัยทำงานมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้กระทบต่อความสามารถด้านการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็อย่ามองข้ามเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองในการซื้อและมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากมีเงินเก็บจากการทำงานหนักมาทั้งชีวิต จึงมีศักยภาพสูงในการบริโภค จึงสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต ข้ามมาประเด็นข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและความเป็นอยู่ของประชาชน การจัดหาวัตถุดิบหรือ Supplier ธุรกิจควรต้องบริหารจัดการอย่างรอบคอบ เพราะฉะนั้นการดำเนินธุรกิจในตอนนี้จึงควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในสาขาสินค้าหรือบริการที่เราสนใจจะลงทุนเปิดธุรกิจรอบด้านเสียก่อน สถานการณ์ภายนอกประเทศ ด้านเศรษฐกิจอย่าง Trade war หรือสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนได้ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศเทศรวมถึงประเทศไทยเราด้วย การย้ายเสรีของคน เงินทุน ข่าวสาร เทคโนโลยี และฐานการผลิตมาเอเชีย การรวมกลุ่มของเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่วนด้านเทคโนโลยีก็กำลังเติบโตและสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก การเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลโดยตรงกับปัญหาแรงงานทั้งภาคการผลิต การค้าและบริการ ส่วนด้านหลักการบริหารจัดการที่ดี ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก็เป็นอีกเรื่องที่สังคมโลกให้ความสนใจในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประชากรโลกที่อาจเกิดปัญหาการแย่งชิงแรงงานและเงินทุนตามมาก็เป็นเรื่องที่กำลังหาทางป้องกันกันอยู่ และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจนก่อให้เกิดภัยทางธรรมชาติที่อาจกระทบถึงความมั่นคงด้านอาหารของโลกและการดำเนินชีวิตประจำวัน วิกฤตการณ์โควิด-19 ได้ทิ้งบาดแผลให้ผู้ประกอบการไม่น้อย ซึ่งการวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศก็จะทำให้เรามองเห็นภาพปัจจุบันในมุมกว้างได้ดียิ่งขึ้น ทั้งปัญหาและเทรนด์ที่สังคมไทยและสังคมโลกให้ความสำคัญ อะไรที่ควรให้ความสนใจ ใส่ใจเป็นพิเศษ ก็หยิบเรื่องนั้นมาพลิกแพลงกับสินค้าและบริการของเรา หรืออะไรที่เราควรตัดใจก็พับโครงการซะก่อนที่จะเกิดผลเสียบานปลาย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้คุณสามารถพยากรณ์ปัญหาและคิดวางแผนธุรกิจให้รัดกุมเพื่อปิดอุปสรรคที่อาจจะขัดขวางความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้ ...อย่าเพิ่งท้อนะคะ ถ้ามีปัญหาธุรกิจคิดอะไรไม่ออก ก็อยากให้นึกถึง DIProm (ดีพร้อม) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่จะคอยก้าวไปเป็นเพื่อนผู้ประกอบการเสมอ ไม่ทอดทิ้งแม้ยามลำบาก ...สู้ ๆ ค่ะ Fighting! ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
04 ส.ค 2563
ใคร FIT กว่ากัน?
ถ้าพูดเรื่องความ Fit ทุกคนคงนึกถึงความฟิตแอนด์เฟิร์มของร่างกายเป็นอันดับแรก แต่ถ้าในมุมมองนักกลยุทธ์หรือนักธุรกิจก็จะแปลความหมายว่า “สอดคล้อง” ซึ่งความสอดคล้องก็มีเยอะแยะแต่วันนี้ขอพูดถึงการบริหารจัดการองค์กรว่ามีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ระดับองค์กรที่คุณเจ้าของบริษัทเลือกหรือเปล่า คล้ายกับการตัวสุขภาพตัวเองว่า Fit หรือเปล่า แต่เปลี่ยนมาเป็นตรวจสุขภาพองค์กรว่ายัง Fit กับองค์กรหรือเปล่า เป็นการสอดส่องตัวเองให้สอดคล้องกลยุทธ์ เอาสั้น ๆ ง่าย ๆ กระชับ ๆ เลยนะคะ กลยุทธ์ระดับองค์กรที่ว่าก็คือ บริษัทเราจะเป็นผู้นำด้านไหน ระหว่าง Differentation กับ Cost Leadership โดยขั้นตอนการตรวจดูว่าเรา Fit หรือไม่ Fit กับพี่ยุทธ์นั้นก็แสนจะง่ายดายเพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้นค่ะ 1. สภาพแวดล้อมภายในองค์กร มี VMG : Vision Mission Goal) เป็นยังไง 2. สภาพแวดล้อมทั่วไปภายนอกองค์กร (PESTI : Political, Economical, Socio-cultural, Technological, International) และสภาพแวดล้อมการแข่งขัน (FiveForce : Current Competitors, New entrant, Suppliers, Substitute, Buyers) ตอนนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว 3. วินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบ Component ขององค์กร 1) กลยุทธ์ขององค์กรเป็นอย่างไร เป็นผู้นำด้านต้นทุน ลูกค้ามีความต้องการที่คล้าย ๆ กัน หรือผู้นำด้านความแตกต่าง ลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลาย 2) โครงสร้างองค์กรเป็นอย่างไร มีความยืดหยุ่น กระจายอำนาจ (Organic) หรือ ตามสายบังคับบัญชา (Mechanistic) 3) ระบบการวัดการประเมินขององค์กรเป็นอย่างไรตามแนวคิด BSC องค์กรนี้มีตัวชี้วัดด้านใดบ้าง 4) การจัดการทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างไร เกี่ยวกับการรับสมัคร การคัดเลือก การประเมินผล การให้รางวัล การพัฒนา 5) ประเภทหรือลักษณะเทคโนโลยีขององค์กรเป็นอย่างไร (Small batch, Large batch, Continuous) 6) วัฒนธรรมขององค์กรเป็นอย่างไร (Group culture, Developmental culture, Market culture, Bureaucratic culture) เราวินิจฉัยองค์กรเราก็เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะต้อง Change อะไรบ้าง โดยดูว่ากลยุทธ์ระดับองค์กรที่เราเลือกสอดคล้องกับ Component แต่ละข้อหรือไม่เพราะอะไร ซึ่งพอเช็คครบทั้ง 6 องค์ประกอบแล้วทีนี้แหละจ้าพี่จ๋า จะรู้เลยว่าสิ่งที่เราฝัน กลยุทธ์ที่เราเลือก มันสัมพันธ์ไปทิศทางเดียวกันกับการดำเนินงานที่กำลังทำอยู่หรือเปล่า และจะรู้ได้ทันทีว่าที่เราไม่ Success มันเป็นเพราะประเด็นไหน หรือเราพลาดตกหล่นหลงลืมเรื่องอะไรไป อย่าลืมว่าเวลาเปลี่ยนคนยังเปลี่ยน เมื่อปัจจัยภายนอกเปลี่ยนไป ตัวเรา (ภายในองค์กร) ก็ต้องเปลี่ยน (เมื่อนั้น) เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนปัจจัยภายนอกได้ เราเปลี่ยนได้แค่ตัวเราเอง และอีกอย่างที่อยากฝากถึงผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจอนาคตอภิมหึมามหาเศรษฐีทุกคนก็คือ No best practice นะคะ ต้อง Best fit ค่ะ สิ่งที่องค์กรอื่นทำแล้วดี แต่พอมาเป็นองค์กรเรา สิ่งที่ Fit ดีที่สุดอาจจะเป็นอีกอย่างก็ได้ ลองทำกันดูกันนะคะ มันไม่ยากอย่างที่คิดเลย เพราะทุกข้อล้วนแต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจทำอยู่แล้ว แค่จับมาแหมะแปะใส่มองเทียบตามตารางข้างบน แต่ที่สำคัญต้องวินิจฉัยตามความเป็นจริงไม่เข้าข้างองค์กรตัวเองเด็ดขาด หัวเรือที่หันไปผิดทางจะได้เบนทิศหันกลับตั้งหลักได้ถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปหลงเจอมรสุมใหญ่อยู่ในมหาสมุทร คราวนี้ก็มาวัดกันที่ธุรกิจไหน Fit กว่า ปรับตัวได้เร็วกว่า วางแผนได้ดีกว่า ก็จะอยู่รอดลอยลำขึ้นฝั่ง (แห่งความสำเร็จ) ได้อย่างสบาย ๆ นอนตีพุงชิล ๆ ได้ก่อนเพื่อน ...ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะเป็นคนต่อไปที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจนะคะ ที่มา : การจัดการการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์การ ดร.เกรียงไกรยศ พันธุ์ไทย และคณะ
29 ก.ค. 2563
นินทา...ภายใต้เรื่องร้าย ยังมีเรื่องดีให้เรียนรู้
เมื่อชีวิตต้องพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา และยิ่งเข้ามาสู่สังคมในที่ทำงาน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราทุกคนนั้นจะไม่โดนเพื่อนร่วมงานนำเอาไปนินทา ดังคำกลอนข้างต้นที่เรามักเอามาเตือนใจตัวเองกันบ่อย ๆ แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่กับสิ่งที่เราต้องเจอในทุกวันได้ล่ะ วันนี้ผู้เขียนได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นหลักการธรรมชาติของพฤติกรรมการนินทามาให้ผู้อ่านได้ทราบกัน เพื่อที่เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะได้ไม่ต้องเก็บมาคิดมากในพฤติกรรม “การนินทา” ให้เป็นทุกข์กันอีกต่อไป หากพูดถึง “การนินทา” แล้วละก็ ภาพจำของคนเกือบทุกคนก็คือสิ่งที่ไม่ดี เป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจใครเจอเป็นต้องอี๋!!! แต่ใครจะรู้ละว่า การนินทา ก็มีข้อดีกับเค้าอยู่เหมือนกัน ในงานวิจัยชื่อ The Virtues of Gossip หรือว่า ‘คุณธรรมของการนินทา’ ของแมทธิว ไฟน์เบิร์ก (Matthew Feinberg) และคณะที่ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Review of General Psychology เขาบอกว่าการนินทาเป็นเรื่องสำคัญของสังคมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณเลยทีเดียว ถ้าคุณสังเกตดูให้ดี ว่าการนินทาไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ ‘เรื่อง’ ที่จะเอามานินทากันนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง อาทิเช่น เป็นเรื่องที่ ‘สำคัญ’ (Significant) ต่อแวดวงสังคมนั้น ๆ โดยการนินทาจะต้องมี ‘มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์’ ซ่อนอยู่ข้างใต้เสมอ งานวิจัยนี้บอกว่า เอาเข้าจริงแล้ว การทำให้ผู้ถูกนินทาเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น มักจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของการนินทา และจำนวนมากก็ถึงขั้นไม่เกี่ยวข้องกับ ‘ตัวคน’ ด้วยซ้ำ และ การนินทา นี่แหละเป็นเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ที่ใช้ควบคุมไม่ให้มีใครทำตัวออกนอกลู่นอกทางในสังคมไป จะเห็นได้ว่า การนินทามักเกิดขึ้นเมื่อมีใครบางคนทำอะไรบางอย่างแตกต่างไปจาก “บรรทัดฐานของสังคม” นั้น ๆ ไป โดยในบางครั้งการทำอะไรแตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสื่อมเสียอย่างเดียว ใครทำอะไรเป็นที่โดดเด่นดีงามก็มักจะเป็นที่พูดถึงด้วย การนินทาในแง่นี้จึงมีหน้าที่ของมันในฐานะการส่งต่อข้อมูลข่าวสารในกลุ่ม คล้าย ๆกับสัตว์ที่อยู่ในฝูงแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องแหล่งอาหารผ่านฟีโรโมนหรือวิธีการอื่น ๆ ซึ่งสำหรับมนุษย์นั้น ภาษา ได้ถูกคิดค้นและนำมาใช้ในการส่งต่อข้อมูลแทนพฤติกรรมของสัตว์ดังที่กล่าวมา “การนินทา” นอกจากจะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงบรรทัดฐานต่าง ๆ ของสังคมเท่านั้น แต่ศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) นักมานุษยวิทยายังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังเป็นการเรียนรู้ถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น รวมไปถึงการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่น ได้สร้างการทำงานร่วมกัน และยังทำให้คนแต่ละคนได้ประเมินความสำเร็จของตัวเอง และมองเห็นถึงจุดยืนร่วมของสังคมที่คน ๆ นั้นสังกัดอยู่อีกด้วย!!! อย่างไรก็ตาม แม้การจับกลุ่มนินทา จะเป็นเครื่องมือสื่อสารหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่ทำให้เราเป็นทุกข์กับมันได้เช่นกัน หากเราไม่ชอบพฤติกรรมการนินทานี้เอาซะเลย ก็ลองให้เรานำหลักการที่ว่ามาคิดวิเคราะห์แล้วจะพบว่า การนินทา นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางสังคมก็แล้วกัน มันเป็นเช่นนั้นเอง.... ที่มา : 101world
22 ก.ค. 2563
Strategy DIProm ประชุมแผนปฏิบัติราชการระดับหน่วยงานขับเคลื่อน SME สู่ 4.0
วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2563 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมการประชุมการจัดทำแผนการขับเคลื่อน SME สู่ 4.0 (แผนปฏิบัติราชการระดับหน่วยงาน) และได้มอบนโยบายการส่งเสริม SME เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินงาน ณ ห้องประชุมโซนบี ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการนี้ นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน นำทีมชาว Strategy DIProm แต่งกายผ้าไทยสวมใส่เสื้อสีเหลืองอย่างพร้อมเพรัียง ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงรายละเอียดการจัดทำแผนงาน รวมทั้งทบทวนและระดมความคิดเห็นในบทบาทภารกิจของกองยุทธศาสตร์ฯ พร้อมมีการนำเสนอข้อมูลระบบ IT และการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานด้าน IT ให้มีความสมบูรณ์ขึ้น
17 ก.ค. 2563
การประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินโครงการส่งเสริม SME ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
วันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2563 นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการส่งเสริม SME ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินโครงการส่งเสริม SME ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และร่วมแลกเปลี่ยนปัญหา อุปสรรคจากการดำเนินโครงการและการปรับแผนการดำเนินงานในการรองรับสถานการณ์ COVID-19 กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้แผนงานบูรณาการ SME ณ ห้องประชุม Mayfair Ballroom C ชั้น 11 โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
16 ก.ค. 2563