หมวดหมู่
สุดยอดเทคนิคทำธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นให้ “รับทรัพย์”
“ในการเริ่มต้นธุรกิจว่ายากแล้ว แต่ถึงเวลาจะขายออกตลาดเนี่ยสิยากกว่า” หลายคน ๆ ที่ผ่านการทำธุรกิจมาอย่างช่ำชองคงต้องเคยเจอศึกด่านนี้มาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียวที่จะจับคู่ค้าขายกับชาวต่างแดนให้อยู่หมัด วันนี้ทางผู้เขียนได้มีโอกาสมาบอกเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์อันน้อยนิดที่เคยนำผู้ประกอบการบินลัดฟ้าข้ามพรมแดนไปเจรจาธุรกิจกล่าวทักทาย “คอนนิจิวะ” กับผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด แถมยังได้ใจได้คู่ค้าทางธุรกิจเปิดรับออเดอร์รับทรัพย์เป๋าตุงกันเป็นแถว ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญผู้ประกอบการก้าวสู่ความสำเร็จด้วยเทคนิคในบรรทัดถัดไปกันเลยจ้า ศึกด่านนี้ถือว่าเป็นเคล็ดลับที่ทางองค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (Organization for SME and Regional Innovation of Japan - SMRJ) ได้กระซิบบอกผู้เขียนมาเลยนะเนี่ย ว่าถ้าผู้ประกอบการไทยมีคุณสมบัติครบถ้วนตามนี้แล้ว อย่างไรก็ชนะใจเค้าแน่นอน กล่าวมาถึงนาทีนี้แล้วก็อย่ารอช้า เรามาเรียนรู้สุดยอดเทคนิคที่จะพิชิตด่านนี้ไปให้ถึงเส้นชัยกันเลยดีกว่า อะ-อ่ะ-แน่ ก่อนทำศึก ต้องรู้เค้ารู้เรากันก่อนนะคะ ถึงจะรบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้งแน่นอน เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เติบโตก้าวหน้าอย่างที่เห็นในตอนนี้นั้น อาจกล่าวได้ว่า SMEs คือ พื้นฐานเศรษฐกิจของชาวญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมี SMEs จำนวนมากถึง 3.5 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.7 ของวิสาหกิจทั้งหมด นับว่าเป็นวิสาหกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ญี่ปุ่นเชียวล่ะ SMEs ญี่ปุ่นนั้นนอกจากเน้นที่ทำธุรกิจในประเทศแล้ว ยังจะเน้นจับคู่ธุรกิจกับกับตลาดต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งไทยก็เป็น 1 ในความสนใจที่ญี่ปุ่นต้องการผูกมิตรค้าขายด้วย ตามที่ท่านได้เห็นหน่วยงานส่งเสริม SMEs ของญี่ปุ่นเข้ามาจับจองตั้งถิ่นฐานเปิดออฟฟิศประจำอยู่ในไทยกันอย่างมากมาย อาทิ องค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทญี่ปุ่น (Organization for SME and Regional Innovation of Japan - SMRJ) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization : JETRO) และหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นแม่สื่อหาคู่แท้ให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 เชื้อชาติได้สานสัมพันธ์การค้ากันมาแล้วหลายราย ผู้เขียนกล่าวมาถึงจุดนี้แล้ว ทุกท่านก็คงใจร้อนอยากทราบเทคนิคขั้นเทพกันแล้วใช่ไหมล่ะคะ งั้นเรามาเรียนรู้เทคนิค 5 ข้อง่าย ๆ ที่ทุกท่านทำได้ไม่ยากกันเลยค่ะ เริ่มจาก ข้อแรก ท่านต้องตั้งวัตถุประสงค์และความคาดหวังของตัวเองในการทำธุรกิจกับคู่ค้าให้ชัดเจน และเริ่มทำการศึกษาพิจารณาประเภทธุรกิจที่ท่านคาดหวังจะทำธุรกิจด้วยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใช้สินค้าตัวจริงเสียงจริง ตัวแทนหรือผู้จัดจำหน่าย พันธมิตรกิจการร่วมค้า ความร่วมมือทางเทคนิค ซึ่งการเจรจาธุรกิจกับกลุ่มประเภทธุรกิจที่ต่างกันท่านต้องมีการเตรียมข้อมูลในการพูดคุยให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจนั้น ๆ เช่น หากท่านต้องการเจรจาค้าขายกับผู้ใช้สินค้าตัวจริงเสียงจริงต้องเตรียมข้อมูลระบบบริการหลังการขาย สร้างความพึงพอใจและช่วยท่านการันตีเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการ เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการศึกษาข้อมูลถานกาณ์ของตลาดญี่ปุ่นในเบื้องต้นก่อนไปเจรจาธุรกิจทุกครั้ง ข้อสอง ดึงดูดความสนใจด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างหรือจุดแข็งของธุรกิจ นำเสนอสินค้าหรือธุรกิจของท่านด้วยมุมมองหลัก Q.C.D. (Quality / Cost / Delivery) เช่น รายละเอียดข้อดีของสินค้า การันตีเทคนิคการจัดการการผลิตพร้อมส่งมอบสินค้า การรับรองคุณภาพด้วยใบรับรองระดับ ISO เป็นต้น ซึ่งทั้ง 3 อย่างมีความเชื่อมโยงกันที่คุณภาพสินค้าสำคัญ แต่ราคานั้นต้องสมเหตุสมผล พร้อมต้องคำนึงถึง การส่งมอบที่ทันทีและตรงเวลา อีกทั้งนำเสนอเงื่อนไขพิเศษที่แตกต่างทำให้ธุรกิจท่านโดดเด่นจากคู่แข่ง เอาใจลูกค้าแบบรัว ๆ จนอีกฝ่ายอยากทำธุรกิจด้วย ข้อสาม เตรียมรายการส่งเสริมการขายของท่านให้พร้อมลุย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมนามบัตรให้พียงพอ แคตตาล็อกรายละเอียดสินค้าที่แอบแนบนามบัตรของท่านไว้ด้วย รูปภาพหรือวิดีโอแสดงการดำเนินธุรกิจของท่าน รวมทั้งตัวอย่างสินค้าที่ทำให้เชิญชวนลูกค้าเป้าหมายได้ทดลองใช้สินค้าหรือได้เห็นได้สัมผัสสินค้าจริง โดยคาดหวังว่าจะขายสินค้าได้ในอนาคต ข้อสี่ ในการเจรจาธุรกิจทุกครั้งสิ่งที่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบมากที่สุดคือ ล่าม นั้นเองค่ะ หลาย ๆ ท่านอาจเตรียมตัวเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้ามาพร้อม แต่อาจจะตกม้าตายกับคุณล่ามที่มาช่วยสื่อสารให้เราได้ไม่ตรงใจเอาซะเลย การเตรียมตัวให้ล่ามช่วยเจรจากับคู่ค้าได้สำเร็จนั้นท่านต้องอธิบายรายละเอียดสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้ล่ามเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้ล่ามสามารถอธิบายแปลความได้เหมือนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ตัวนั้นเองก็จะยิ่งเก๋ไก๋สไลเดอร์มากจ้า รวมทั้งการวางตัวและการปฏิบัติต่อล่ามต้องทำเสมือนเค้าเป็นพนักงานคนหนึ่งของท่าน เรียกว่าใช้ “ใจแลกใจ” กันเลยค่ะ นอกจากนี้ อย่างที่ท่านทราบกันดีว่าญี่ปุ่นจะค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องเวลาเป็นอย่างมาก ท่านต้องมีสูตรลับการใช้เวลาในการเจรจาธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นด้วย สูตร 8:8:14 นั้นคือ 8 นาทีแรกให้ท่านอธิบายสรรพคุณงามความดีของสินค้าท่านให้มากที่สุด 8 นาทีต่อมา เปิดโอกาสให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจ พูดเสนอความต้องการต่อบ้าง และ 14 นาทีสุดท้าย เป็นนาทีทองที่ท่านต้องเจรจาให้ได้ใจพร้อมทำการซื้อขาย และทำการสรุปงานปิดการขายอย่างสวยงาม ข้อสุดท้าย ท้ายสุดที่เป็นเทคนิคห้ามทำพลาดเด็ดขาด ให้ท่านคำนึงเสมอว่า ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความไว้วางใจก่อนการทำธุรกิจเสมอ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ เนื่องจากในปัจจุบันนั้น มีสินค้าและทางเลือกใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในการเจรจาธุรกิจใหม่เป็นครั้งแรก การสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมาก ท่านควรสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจสำหรับลูกค้าให้ได้มากที่สุด วันนี้เน้นทฤษฎีเล็กน้อยพอหอมปากหอมคอเป็นกษัยนะคะ หากท่านใดมีโอกาสได้เจรจาธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นลองนำเทคนิคนี้ไปปรับใช้กันค่ะ หรือจะมาขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือที่ปรึกษาด้าอุตสาหกรรมก็สามารถทำได้นะคะ และหากการเจรจาครั้งแรกไม่สำเร็จเหมือนที่หวังไว้อย่าเพิ่งย่อท้อกันนะคะ แทนที่ท่านจะคาดคั้นคู่ค้าพยายามยัดเยียดข้อเสนอจนเกินงาม ให้ท่านลองถอยออกมากลับไปวางแผนข้อเสนอใหม่ โดยอาศัยประสบการณ์จากครั้งแรกเพื่อจะกลับมาเจรจากันอีกครั้ง ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการเจรจาธุรกิจกับญี่ปุ่นค่ะ ที่มา : - ประสบการณ์จากการเข้าร่วมงานเจรจาธุรกิจ CEO Business Meeting Event for Automotive Industry 2019 ณ ประเทศญี่ปุ่น - https://www.smrj.go.jp/english/about/ - https://www.jetro.go.jp/thailand/e_activity/sbpromot.html
14 ก.ค. 2563
10 SMEs พลิกวิกฤติปี 2020 สู่ผู้ประกอบการเงินล้าน (USD)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) และแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจได้ส่งผลต่อรูปแบบการประกอบธุรกิจทั่วโลก หากคุณริเริ่มดำเนินการธุรกิจระดับเล็กในปี 2020 นี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่คาดเดายาก แต่ก็มีโอกาสที่ทรงพลังซ่อนอยู่ บทความเดิมคิดบนพื้นฐานของการตลาดสำหรับ SMEs ในประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพมาแรงอย่างต่อเนื่องหลังการระบาดรอบแรกคลี่คลาย และกลุ่มธุรกิจร้านอาหารรวมถึงกลุ่มธุรกิจขนส่งมีความนิยมลดลง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาและแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนโฉมธุรกิจไปตลอดกาลนั้น เมื่อเราไตร่ตรองถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในองค์รวมพบว่า ยังไม่สามารถประมาณการณ์หรือประเมินค่าได้ ทว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็พอเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้บ้าง จากการสำรวจของ Business Insider เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ในกลุ่มอุตสาหกรรมยอดฮิตของสหรัฐอเมริกา โดยอิงจากข้อมูลการลงทุน ขนาดธุรกิจ และปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อศึกษาว่ากลุ่มผู้ประกอบการประเภทใดจะเติบโตมากที่สุด สามารถทำเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ้างคนน้อยกว่า 100 คน ! ซึ่ง Business Insider ได้จัดอันดับไว้ ดังนี้ 10. กลุ่มร้านอาหาร 9. กลุ่มร้านค้าปลีก 8. กลุ่มธุรกิจขนส่ง 7. กลุ่มหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการค้าแบบ B2B operations support 6. กลุ่มโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนา 5. กลุ่มผู้รับเหมาด้านช่าง 4. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีเกียรติบัตรรับรอง อาทิ วิศวกร นักกฎหมาย สถาปนิก นักบัญชี 3. กลุ่มที่ปรึกษาด้านการเงิน 2. กลุ่มผู้ดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล ในด้านการพยาบาล การกายภาพบำบัด หรือกรฝึกสอนฟิตเนส 1. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเฉพาะบุคคล ในด้านการทันตกรรม การแพทย์ ที่มา: https://www.businessinsider.com/top-ten-categories-for-small-business-to-make-millions-in-2020
10 ก.ค. 2563
กสอ. ติวเข้มบุคลากร เสริมทักษะการค้าออนไลน์ ต่อยอดเสริมแกร่ง ผปก. ในอนาคต
วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม 2563 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) เพื่อชี้แจงหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ดีพร้อมด้านการค้าออนไลน์ ร่วมด้วย นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ณ ห้องประชุมชั้น 6 โซนบี อาคาร กสอ. สำหรับหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ดีพร้อมด้านการค้าออนไลน์ จะเป็นการจัดอบรมในรูปแบบออนไลน์ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ใช้ระยะเวลารวม 138 ชั่วโมง เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรของ กสอ. ให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการค้าออนไลน์ในเชิงลึก เพื่อนำไปต่อยอดการดำเนินงานส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน จนเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริม SMEs ในอนาคต
03 ก.ค. 2563
แก่ไปไม่จน
คนไทย "จนตอนแก่" ปัญหาใหญ่ระดับชาติ จากข้อมูลใน website ธนาคารไทยพาณิชย์ พูดถึงเรื่องนี้เป็นประเด็น Hot issue การเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ของประเทศไทยในระยะยาวจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก โดยนิยามของ “สังคมผู้สูงอายุ” ตามหลักการสากลทางองค์การสหประชาชาติ ระบุไว้ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็น “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ” หรือ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 มาดูที่ตัวเลขของประเทศไทย โดยที่เมื่อสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 65,203,979 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,569,021 คน หรือคิดเป็นร้อย 16.2 ของประชากรทั้งหมด นั่นก็แปลว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และคาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จากตัวเลขประชากรดังกล่าวทำให้ในปัจจุบันจำนวนคนวัยทำงาน 4 คนจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ 1 คน และในอนาคตสัดส่วนนี้จะมีค่าลดลงเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนคนวัยทำงานกลับลดลงเป็นอย่างมาก ตัวเลขนี้กำลังจะบอกว่าหากเราไม่มีการเตรียมการเกษียณอายุที่ดีมากพอ เราจะมีโอกาสประสบปัญหา “จนตอนแก่” อย่างแน่นอน เพราะเราไม่อาจคาดหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเราได้เหมือนในอดีต (คนแต่งงานช้าลง มีลูกน้อยลง และบางส่วนโสด) และสวัสดิการจากรัฐก็อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป (คนสูงวัยมากขึ้น คนวัยทำงานน้อยลง รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง งบประมาณไม่พอ และดูแลไม่ไหว) จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2557 พบว่าแหล่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุมาจาก เงินได้จากบุตร 36.7 % รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง 33.9 % เบี้ยยังชีพจากราชการ 14.8 % เงินบำเหน็จ บำนาญ 4.9 % เงินได้จากคู่สมรส 4.3 % ดอกเบี้ยเงินออมและการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ 3.9 % จะเห็นว่าผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงรายได้จากคนอื่น (จากลูก จากรัฐ และจากคู่สมรส) สูงถึง 55.8% และประมาณ 34% ยังต้องทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเองต่อไป กล่าวโดยสรุป หากไม่มีลูกหลานและคู่สมรสดูแล และสวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุกว่า 90% จะไม่สามารถเกษียณอายุได้ และยังคงต้องทำงานต่อไป ในความเป็นจริงไม่มีใครหรอกที่จะวางแผนให้ชีวิตตัวเองล้มเหลว แต่ที่ล้มเหลวเพราะไม่ได้วางแผนต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้วางแผนเกษียณอายุกันเลย เรื่องการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นให้เร็วที่สุด ไม่ใช่รอจนเวลาใกล้เกษียณจึงมาวางแผนเพราะนั่นจะทำให้โอกาสที่จะ “จนตอนแก่” มากกว่า "พร้อมก่อนแก่" คำพูดที่ว่าแก่แล้วเดี๋ยวก็ตายแล้ว ถ้าไม่ตายล่ะครับจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร? เริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สายครับ สำหรับอาชีพสีกากีผมขอแนะนำเครื่องมือในการช่วยวางแผนก่อนเกษียณที่เรามีอยู่ (แต่บางทีเราไม่ได้ให้ความสำคัญ) คือ “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.” นับตั้งแต่ปี 2540 ข้าราชการบรรจุใหม่ทุกคนต้องสมัครเข้า กบข. อัตโนมัติ โดยบังคับเข้านั้นเองแต่รู้หรือไม่ว่า กบข. ช่วยให้เราวางแผนเกษียณได้อย่างไร ทุกครั้งที่ผมไปชวนพี่ ๆ น้อง ๆ วางแผนทางการเงินกับ กบข. ก็จะได้รับเสียงสะท้อนกลับมาว่าทุกวันนี้เงินเดือนก็จะไม่พอ (รับประทาน) อยู่แล้ว จะให้หักเข้า กบข. เพิ่มอีกไม่ไหวแน่ ๆ ใจเย็น ๆ ก่อนนะครับ สิ่งที่ผมจะแนะนำในขั้นแรกยังไม่ต้องเพิ่มเงินออมครับ แต่ขอให้เปลี่ยนแผนในการลงทุน เพราะเมื่อเราสมัครเข้า กบข. แผนที่ กบข. เลือกให้นั้นคือแผนหลัก (แผนหลักคือแผนที่ได้ผลตอบแทนเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ) ดังนั้นเงินที่เราโดนหักไป (3% ตามกฎหมาย) นั้นไม่สามารถงอกเงยได้เลย ผมจึงอยากจะแนะนำให้เปลี่ยนแผนการลงทุนจากแผนหลักไปเป็นแผนสมดุลตามอายุ (จริง ๆ มีอีกหลายแผนแต่ถ้าให้ผมอธิบายคงยาว) เพราะแผนนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแผนบ่อย ๆ หรือไม่ได้มีความรู้ด้านการลงทุนมาก แผนนี้จะปรับสัดส่วนในการลงทุนตามอายุ กล่าวคืออายุน้อยลงทุนในกองทุนที่เสี่ยงมากนิดหนึ่ง พออายุมากขึ้นก็จะปรับสัดส่วนความเสี่ยงลง (ความเสี่ยงมาก ความเสี่ยงน้อยมีผลกับค่าตอบแทนโดยตรง high risk high return) ผมพิจารณาแล้วเห็นว่าผลตอบแทนให้มากกว่าแผนหลัก และเป็นประโยชน์กับพี่น้องข้าราชการทุกท่าน ที่ได้ผลตอบแทนมากขึ้นโดยไม่ต้องออมเพิ่มแต่อย่างใด เริ่มสนใจ กบข. แล้วใช่ไหมครับ เรามาต่อกันเลยสำหรับคนที่คิดว่าเราน่าจะออมเพิ่มสักนิดสักหน่อย มาครับ ๆ ผมจะแนะนำให้ง่าย ๆ ออมแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวกันเลย ปัจจุบัน กบข. เปิดให้สมาชิกออมเพิ่มได้ในสัดส่วน 12% ของเงินเดือน เมื่อรวมกับเงินออมตามกฎหมายอีก 3% รวมเป็น 15% ที่เราสามารถออมได้ โดยที่เราสามารถเพิ่มอัตราส่วนการออมเริ่มตั้งแต่ 1% ไปจนถึง 12% วิธีการง่าย ๆ คือ เราได้ปรับเงินเดือนเมื่อไร (เฉลี่ยประมาณ 3%) ให้ออมเพิ่มอย่างน้อยสัก 1% ก็ยังดี ทำแบบนี้ทุกรอบการประเมิน 6 ปี ก็ออมได้ 12% แล้วครับ และที่สำคัญเราจะไม่รู้ตัวด้วยว่าโดนหักเงินเดือน เพราะหักเงินเดือนในส่วนที่เราได้เงินเดือนขึ้นมา เห็นไหมครับไม่ยากเลยในการวางแผนเกษียณ สามารถทำออนไลน์ได้ตาม link ด้านล่างครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านให้แก่ไปไม่จนนะครับ สู้ สู้ Link เปลี่ยนแผน https://www.gpf.or.th/thai2019/2Member/main.php?page=3&menu=investplan Link ออมเพิ่ม https://www.gpf.or.th/thai2019/2Member/main.php?page=11&menu=oomperm
03 ก.ค. 2563
New Normal กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง
New Normal วิถีใหม่ในสังคมที่ต้องย้ำ ทำซ้ำ ๆ ให้แน่ใจว่าตัวเรา คนรอบข้าง และคนในสังคมจะปลอดภัยอย่างแท้จริง ทุกคนอาจจะฟังมาบ่อยจนเอียน หรือท่องจนจำขึ้นใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกหลายคนที่การ์ดตกลดการระแวดระวังตัวเองลง ซึ่งในเวลานี้ถือว่ายังไม่ปลอดภัย 100% ดังนั้นเรามาตอกย้ำและทบทวนความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นกันอีกครั้ง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและปรับตัวให้คุ้นชินกันชีวิตวิถีใหม่ที่เกิดขึ้นและกำลังปรับการใช้ชีวิตของทุกคนไปอย่างอัตโนมัติ และหลังสถานการณ์โควิดที่ (คง) จะยุติลงในเร็ววันนี้ จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนไปเหล่านี้ยังไง ถ้าคุณเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ “New Normal” ก็จะกลายเป็น “New Success” ครั้งใหม่ของคุณ คำว่า “New Normal” ราชบัณฑิตยสภา ได้บัญญัติศัพท์ "New Normal" เพิ่มเข้ามา โดย รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณะกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายคำนี้ผ่านทาง เฟซบุ๊ก Malee Boonsiripunth เอาไว้ว่า New Normal แปลว่า ความปกติใหม่ , ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต อันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติและเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลัมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย "New Normal" ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” การใช้ชีวิตประจำวันจึงจำเป็นต้องป้องกันตนเองเพื่อให้มีชีวิตรอดด้วยการปรับหาวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ควบคู่ไปกับความพยายามรักษาและฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจ นำไปสู่การสรรค์สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีการปรับแนวคิด วิสัยทัศน์ วิธีการจัดการ ตลอดจนพฤติกรรม ทั้งในด้านอาหาร การแต่งกาย การรักษาสุขอนามัย การศึกษาเล่าเรียน การสื่อสาร การทำธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นความปกติใหม่ จนในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปก็จะทำให้เกิดความคุ้นชินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปกติของผู้คนในสังคม สิ่งที่เราพบเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นวิถีชีวิตใหม่ในสังคม ตั้งแต่ก้าวออกจากบ้าน New Normal มีอะไรบ้าง มาดูกัน 1. สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน เพื่อป้องกันตัวเอง และห่วงใยผู้อื่น 2. ทำงานออนไลน์ Work from Home หน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ เริ่มมีนโยบายให้พนักงาน Work from Home ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดอยู่ เพื่อลดความแออัด 3. เรียนออนไลน์ โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ ก็เริ่มวางแผนตารางเรียนออนไลน์ให้ เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Google Meet, Zoom, Microsoft Team พูดคุยสนทนากับคุณครูด้วยการใช้นวัตกรรมมาเป็นตัวช่วย 4. อาคารสถานที่ตั้งจุดคัดกรอง เนื่องจาก COVID-19 นั้นสังเกตเบื้องต้นได้ด้วยการวัดไข้ จึงจำเป็นต้องมีจุดคัดกรองก่อนเข้าอาคารตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข ผู้ติดต่อราชการ ห้าง ร้าน จะต้องผ่านการวัดอุณหภูมิและผู้ผ่านการคัดกรองแล้วจะได้รับเครื่องหมายติดที่เสื้อ และขอความร่วมมือให้ลงชื่อก่อนเข้าใช้บริการ 5. ร้านอาหารนั่งแยกโต๊ะ และซื้อกลับมากขึ้น เห็นได้ชัดว่ายอดสั่งอาหารแบบนั่งรับประทานที่ร้านและซื้อกลับ แทบจะพอ ๆ กันแล้ว จนร้านค้าต่าง ๆ ต้องจัดที่นั่งให้บริการพนักงาน Food Delivery และลูกค้าที่ยืนรออาหารแบบสั่งกลับบ้านกันมากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งคำนึงถึงสุขอนามัยกันมากขึ้น และการจัดโต๊ะที่นั่งในร้าน ก็รับประทานได้โต๊ะละ 1-2 คน วางโต๊ะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตรเพราะเว้นระยะห่าง หรือมีบริการ Drive Thru ให้วนรถสั่งได้โดยลูกค้าไม่ต้องลงจากรถ 6. การใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นรับเงิน โอนเงิน จ่ายเงิน ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน เป็นอีกช่องทางที่นิยมกันมากขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องการเช็กยอดเงินที่ได้รับจากมาตรการช่วยเหลือ จึงต้องเปิดบัญชีเพื่อใช้งาน Mobile Application รวมถึงการชำระสินค้าบริการ เพื่อลดระยะเวลาเดินทางไปใช้บริการกับธนาคารที่สาขา 7. เว้นระยะในการเดินทางสาธารณะเพราะต้องร่วมเดินทางกันเป็นเวลานาน ทั้งรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง ต่างต้องทำป้ายเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งเว้นระยะ เนื่องจาก COVID-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ จึงป้องกันการสัมผัสอนุภาคละอองจากการหายใจ ไอ จาม เบื้องต้นด้วยป้ายกำกับเหล่านี้ 8. ใช้บริการส่งของถึงบ้าน (Delivery) ประชาชนหันมาใช้บริการสั่งของส่งถึงบ้าน ทั้งของใช้ อาหาร และยารักษาโรคประจำตัว เพื่อลดการเดินทางไปยังสถานที่แออัดอย่าง ซุปเปอร์มาร์เก็ตโรงพยาบาล สรุปแล้วหลังโควิด-19 โลกเราจะเป็นอย่างไร? สิ่งแรกก็คือการเข้าสู่รูปแบบชีวิตปกติใหม่ “New Normal” และสิ่งที่สอง คือเรามองว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวที่พวกเราต่างเชื่อมาก่อนแล้วว่าเทรนด์เหล่านี้กำลังจะมา ถ้าคุณจับเทรนด์มองอนาคตอย่างครบถ้วนทุกมุมมอง โอกาสจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะอยู่ในมือคุณอย่างแน่นอน https://www.egat.co.th/egattoday/index.php?option=com_k2&view=item&id=11397:20200608-egatsp&Itemid=129 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/882508 https://www.tmbameastspring.com/insights/new-normal
29 มิ.ย. 2563
พลิกธุรกิจด้วยแนวคิด VUCA
เราลองนึกภาพดูว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของไอโฟนลองนึกดูว่า 10 ปี ที่ผ่านมาเปลี่ยนไปแล้วกี่รุ่น ธุรกิจไหนที่เราเคยเห็นเมื่อ 20 ปี ที่แล้ว และปัจจุบันไม่อยู่ให้เราเห็น การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการเสพข่าวสาร พฤติกรรมการฟังเพลงจากสื่อ พฤติกรรมการทานอาหาร พฤติกรรมการสั่งอาหาร และพฤติกรรมการซื้อของที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส (Covid-19) ในปัจุบันก็เช่นกัน มีคนสรุปว่า โลกในยุคนี้สามารถอธิบายลักษณะได้ด้วยคำ 4 คำ คือ VUCA หรือ Volatility Uncertainty, Complexity และ Ambiguity นั่นคือ เรากำลังอยู่ในโลกที่มีลักษณะผันผวนเปลี่ยนแปลงเร็ว หรือ Volatility จากเมื่อก่อนที่ธุรกิจ มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างต่ำมาสู่ยุคที่ธุรกิจมีความผันผวนสูงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น ไม่แน่นอนหรือ Uncertainty จากเดิมที่เราสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ค่อนข้างแม่นยำมาสู่ยุคที่เราไม่สามารถคาดการณ์หรือพยากรณ์อนาคตของธุรกิจได้ยากขึ้น ความซับซ้อนสูงหรือ Complexity จากเดิมที่ธุรกิจมีลักษณะเชิงเดี่ยวไม่ค่อยซับซ้อนมาสู่ยุคที่ธุรกิจ มีความซับซ้อนสูงหรือมีองค์ประกอบมาก หรือมีความเกี่ยวโยงกับธุรกิจอื่นมากขึ้น คลุมเครือไม่ชัดเจน หรือ Ambiguity เราไม่สามารถมองภาพของธุรกิจได้ชัดเจนเหมือนเมื่อก่อน เมื่อโลกหรือธุรกิจที่เราอยู่มีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ข้อ ธุรกิจนั้นก็ยิ่งอยู่ยากยิ่งขึ้น ระดับของแต่ละธุรกิจที่ VUCA เข้ามามีบทบาทนั้นอาจไม่เท่ากัน บางธุรกิจก็อยู่ในระดับที่สูง เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี สื่อและบันเทิง เป็นต้น บางธุรกิจก็อยู่ในระดับปานกลาง เช่น ธุรกิจการเงิน การท่องเที่ยว สุขภาพ เป็นต้น บางธุรกิจก็อาจอยู่ในระดับที่น้อย แต่ไม่ว่าอย่างไรเราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกที่ผันผวน พลิกผัน ไม่แน่นอนกว่าเมื่อก่อน ดังนั้นการปรับตัวเพื่อรับมือให้อยู่รอดหรือได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราจะปรับตัวได้อย่างไรในโลกของ VUCA ผู้นำหรือนักวางแผนกลยุทธ์ควรมีการปรับตัวเพื่อรับมือให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยยึดหลัก VUCA เช่นกัน โดยธุรกิจต้องมี วิสัยทัศน์ หรือ VISION ที่ชัดเจน โดยมองจากมุมมองจากอนาคต มีความเข้าใจธุรกิจและองค์ประกอบย่อยของหน่วยธุรกิจตลอดจนความเข้าใจในปัจจัยภายนอกและภายในรวมถึงตัวบุคลากรที่เกี่ยวข้อง (Understanding) มีความชัดเจน (Clarity) ในธุรกิจที่ทำ เปลี่ยนความซับซ้อนให้มีความชัดเจนและเรียบง่ายมากขึ้น และสุดท้าย คือต้องปรับตัวให้รวดเร็วหรือ Agility หรือ Adaptability ผู้นำ บุคลากรในองค์กร ระบบ ตลอดจนวัฒนธรรมต้องมี การเรียนรู้และรับมือการเปลี่ยนแปลง ที่มา: ดร.ศุภกร สุนทรกิจ นักวิชาการอิสระ https://www.bangkokbiznews.com
25 มิ.ย. 2563
Reverse-culture shock ช้อปไม่ชิน
เมื่อกลับมา (Shopping) อยู่บ้านแล้วไม่ชิน: Reverse-culture shock ในการซื้อของออนไลน์ อาการของความไม่คุ้นชินเมื่อต้องย้ายไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง การไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และวัฒนธรรมใหม่ๆ อาจทำให้บางคนรู้สึกอึดอัด หวาดระแวง ไม่มั่นใจ วางตัวไม่ถูก บางคนอาจมีปัญหาเรื่องการปรับตัวทางด้านอารมณ์และสภาพจิตใจ นั่นคืออาการ Culture shock ที่มักจะพบได้บ่อยๆ ในคนที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ แต่คนที่ย้ายจากต่างประเทศกลับมาอยู่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองก็มีอาการลักษณะนี้ได้เช่นกัน หรือที่เรียกว่า Reverse Culture Shock อาการนี้ในบางคนนั้นอาจจะหนักกว่าตอนย้ายไปดูเมืองนอกเสียด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุที่คิดว่ามันคือ “การกลับบ้าน” อาการนี้เกิดจากการที่เราไปอาศัยอยู่ต่างถิ่นเป็นเวลานานและเกิดความคุ้นชินกับวัฒนธรรมที่นั่น และทำให้ต้องปรับตัวกันใหม่อีกครั้งเมื่อต้องกลับมาอยู่ในวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่ประเทศตัวเอง ปี 2015 เป็นปีที่ผู้เขียนจากประเทศไทยไปศึกษาต่อที่อังกฤษ การช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยเริ่มมีบ้างประปรายแต่ยังไม่มากนัก ซึ่งขณะนั้นที่ในประเทศอังกฤษการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว ถึงขั้นที่บางบริษัทเลือกที่จะทยอยปิดหน้าร้านเพื่อไปมุ่งเน้นการขายออนไลน์ ในปี 2020 ผู้เขียนกลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทยอีกครั้งก็พบว่าการซื้อของออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผู้คนประเทศไทยด้วยแล้วเช่นกัน การมีสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้โลกออนไลน์มีบทบาทในไลฟ์สไตล์พวกเรามากขึ้น แต่พฤติกรรมการซื้อของบนอินเทอร์เน็ตในสองประเทศก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว หลายๆ อย่างที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยในปัจจุบัน ก็เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้เขียนเดินทางไปต่างประเทศเสียแล้ว การกลับมาอยู่บ้านตัวเองคราวนี้จึงแทบจะเป็นการเรียนรู้ทุกอย่างใหม่แทบทั้งหมดเกี่ยวกับการช้อปปิ้งออนไลน์ (ในประเทศไทย) E-marketplace ยอดนิยมของไทยคือ Lazada หรือ Shopee ไม่ใช่ Amazon หรือ E-bay แบบที่คุ้นเคยในยุโรป … เอาสิ เราต้องลงทะเบียนกันใหม่ ไม่เป็นไร ไม่ยาก ว่าแต่สองเว็บที่ว่านั่นมันสะกดยังไงนะ เค้าอ่านว่า ละซาดา หรือลาซาด้า ช้อปพีหรือช้อปปีหรือว่าชอปปี้ นี่ก็ยังต้องถามเพื่อนข้างๆ นอกจากการสะสมแต้มผ่านบัตรเครดิตแล้ว โปรแกรม cashback reward จากการใช้จ่ายออนไลน์ที่เมืองไทยใช้เว็บไซต์ไหนก็ต้องเริ่มหาข้อมูลกันใหม่ เมื่อเพื่อนๆ พูดกันว่า “เจ็บมาเยอะ” เพราะการซื้อเสื้อผ้าออนไลน์แล้วใส่ไม่พอดี หรือสินค้าไม่ตรงปก ... เราก็งงว่าทำไมไม่ส่งของกลับแล้วขอเงินคืนหรือขอเปลี่ยนไซส์ เพราะในอังกฤษลูกค้าอาจกดสั่งเสื้อผ้ามาเผื่อเลือก หลายไซส์หลายแบบ เอามาลองใส่ ถ้าชอบก็เอาไว้ อันไหนที่ไม่ชอบก็ส่งคืนร้านไปเพื่อเอาเงินคืน เพราะในประเทศอังกฤษมีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์สามารถคืนสินค้าได้ภายหลังจากได้รับสินค้าและได้รับเงินคืน แม้ว่าจะไม่บอกเหตุลผลของการคืนสินค้าก็ตาม (แต่มีเงื่อนไขว่าสินค้าต้องยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์) ขณะที่บางร้านค้าในไทยเค้าขายแล้วขายเลย ไม่มีการรับคืน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันระหว่างสองประเทศทำให้เราต้องศึกษาข้อมูลกันใหม่ก่อนจ่ายเงินซื้อของออนไลน์ ดู Live สดขายของทาง Facebook หรือ Instagram รวมถึงการใช้ Social media เพื่อโปรโมทสินค้าและพูดคุยกับลูกค้าเพื่อสร้างยอดขาย คนซื้อต้องรีบ CF หรือ CC, คนขายอาจจะบอก CF no CC ศัพท์ใหม่สำหรับ การช้อปออนไลน์ ที่เมื่อได้ยินครั้งแรกก็อึ้งไปเหมือนว่าเราตกยุคไปแล้ว ทำไมฟังแล้วไม่เข้าใจเลยเวลาที่เพื่อนพูดเรื่องการ F (การเอฟ) ของใหม่ๆ มาจาก Facebook หรือ Instagram สิ่งเหล่านี้เหมือนจะเป็นที่คุ้นชินของนักช้อปในเมืองไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความเป็น Social Commerce สูงมาก ต่างจากสังคมในแถบยุโรปที่โดยมากเป็นการซื้อของผ่านเว็บไซต์ที่ลูกค้าทำการเลือกและหยิบสินค้าลงตะกร้า จ่ายตังค์ผ่านบัตรแล้วรอสินค้ามาส่งที่หน้าบ้าน ปรากฎการณ์เหล่านี้สอดคล้องกับรายงานจากหลายแหล่งที่พบว่าประเทศในเอเชียเป็นผู้นำในเรื่องการใช้สื่อ Social Media ในการขายของออนไลน์ ขณะที่ในบางทวีปการชอปปิ้งออนไลน์ส่วนใหญ่อยู่บนแพลตฟอร์มที่เป็นเว็บไซต์หรือ marketplace การพูดคุยระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายก็มีบ้างเพื่อการแนะนำสินค้า/การสอบถามรายละเอียดสินค้าเพิ่มเติม หรือการติดตามสถานะคำสั่งซื้อ แต่ไม่ใช่การพูดเพื่อเชิญชวนโต้ตอบสื่อสารกับลูกค้ากันแบบสดๆ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า Social Commerce ถือเป็นอนาคตของ e-commerce ซึ่งประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มผู้นำของการใช้สื่อโซเชียลเพื่อการขายของบนอินเทอร์เน็ต และก็เริ่มพบว่าเทรนด์ดังกล่าวนี้ก็เริ่มจะเป็นที่นิยมในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วยแล้วเช่นกัน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าตอนนี้ทักษะการทำ Social Commerce ของผู้ประกอบการไทยนั้นไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก ด้วยความที่รูปแบบดังกล่าวสอดคล้องกับวัฒนธรรมดิจิทัลของคนไทยที่ชื่นชอบการใช้ Social Media เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเรายังมีหน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่คอยช่วยเติมและเสริมทักษะดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการมาโดยตลอดซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี อารมณ์หงุดหงิดที่เมื่อเจอสินค้าถูกใจแต่แม้ค้าเขียนแคปชั่นใต้ภาพไว้ว่า “ไม่รับเปลี่ยนหรือคืน” ความเสียอารมณ์เมื่อพบว่าสินค้าที่ได้มานั้นมีตำหนิและต้องใช้เวลาอีกเกือบเดือนกว่าจะได้สินค้าชิ้นใหม่ หรือความไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมานั่งดูแม่ค้า Live เพื่อขายสินค้า ถ้าอยากได้สินค้าทำไมไม่ไปซื้อจาก e-market หรือไปซื้อที่หน้าร้านออนไลน์ (บนเว็บไซต์) เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความช็อคกับวัฒนธรรมการช้อปปิ้งที่แตกต่างจากที่ผู้เขียนเคยชิน เมื่ออยู่ต่างประเทศ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ก็ค่อยๆ คลายไปเมื่อมีการปรับตัว จากที่ไม่ค่อยเข้าใจก็เริ่มสนุกไปกับชมสินค้าดูแม่ค้า Live FB ขายของ หรือการรีวิวสินค้าผ่าน IG TV มีการพูดคุยกับผู้ขายผ่าน LINE หรือ Messenger มากขึ้นเพื่อสอบถามรายละเอียดให้ดีจะได้เจ็บตัวน้อยที่สุด โลกของอินเตอร์เน็ตเป็นโลกไร้พรมแดน แต่พฤติกรรมการซื้อการขายของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรนั้นก็เป็นไปตามพื้นฐานทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ด้วย คงไม่มีที่ถูกต้องที่สุดหรือดีที่สุด หากแต่ประเด็นสำคัญคือความเหมาะสมตามบริบท ผู้ประกอบการในแต่ละท้องถิ่นอาจมองเห็นโอกาสได้ด้วยวิธีการที่ต่างกัน ผู้ซื้อก็ย่อมต้องศึกษาข้อมูล เสาะหาวิธีการ เพื่อให้ได้สินค้าที่เหมาะกับรสนิยมและความพอใจ กฎระเบียบกฎหมายของแต่ละบริบทที่แตกต่างกันทำให้ผู้ซื้อสินค้าต้องศึกษาด้วยว่าตัวเองจะได้รับความคุ้มครองมากน้อยเพียงใด ประเด็นใดบ้างที่ต้องพึงใส่ใจมากเป็นพิเศษ การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในแต่ละท้องถิ่นนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมใดสัจธรรมอย่างหนึ่งของการช้อปปิ้งออนไลน์ก็คือเงินจะออกจากกระเป๋าเราแม้เราไม่ออกจากบ้าน
23 มิ.ย. 2563
เสพสื่ออย่างไรให้ DIProm
ในปัจจุบัน สื่อต่าง ๆ เริ่มมีอิทธิพลและมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของเรามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งหลาย ๆ คนได้ใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้น จึงทำให้มีเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สนใจและผ่อนคลายมากขึ้น หนึ่งในกิจกรรมยอดนิยม คือ การเสพสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น ในบทความนี้ผมจะมานำเสนอการเสพสื่ออย่างสร้างสรรค์และต่อยอดการดำเนินงานในฐานะบุคลากรของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIProm) และเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในการต่อยอดธุรกิจครับ วิเวียน (Vivian, 2013) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Winona State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือ Media of Mass Communication ได้จำแนกสื่อตามประเภทอุตสาหกรรมสื่อ (mass media industries) ได้แก่ 1. สื่อสิ่งพิมพ์ (ink on paper) เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ เป็นต้น2. สื่อเสียง (sound media) เช่น วิทยุกระจายเสียง วิทยุผ่านดาวเทียม (satellite radio) พอดแคสติง (podcasting มาจาก broadcasting + iPod) หรือการเผยแพร่เสียงรวมไปถึงการพูดคุย เล่าเรื่อง สนทนาเรื่องต่าง ๆ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต และวิทยุตามความต้องการของผู้ฟัง (on-demand radio) ที่สามารถรับฟังรายการสดหรือย้อนหลังก็ได้3. สื่อภาพเคลื่อนไหว (motion picture) เช่น โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เป็นต้น4. ภูมิทัศน์สื่อใหม่ (new media landscape) เช่น สื่อออนไลน์ต่าง ๆ นวนิยายมือถือ (cell phone novel) บล็อก (blog) สื่อสังคม (social media) เกม (game) โปรแกรมในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ผ่านระบบเว็บไซต์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (search engine) คลังดิจิทัลเก็บข้อมูล (digital store) วิกิพีเดีย (wikipedia) และการบันทึกข่าวสาร (news record) ซึ่งในบทความนี้ ผมขอกล่าวถึงสื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลอย่างยิ่ง นั่นคือ สื่อประเภทภูมิทัศน์สื่อใหม่ (new media landscope) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการให้บริการสื่อออนไลน์ที่น่าสนใจในรูปแบบ “แพลตฟอร์มด้านความบันเทิง” ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เป็นผู้นำของตลาดแพลตฟอร์มดังกล่าวในปัจจุบัน จากข้อมูลของฐานเศรษฐกิจ (2563) Netflix ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองลอสแกทัส รัฐแคลิฟอร์เนีย และมีสำนักงานในอีกหลายประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีพื้นที่ให้บริการ 190 ประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมของบริษัทคือ การบันเทิง โดยมีผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สื่อแบบส่งต่อเนื่องวีดีทัศน์ตามคำขอ การผลิตภาพยนตร์ จัดจำหน่ายภาพยนตร์ การผลิตละครโทรทัศน์ บริษัทฯ มีรายได้ประมาณ 8.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น รายได้จากการดำเนินงาน 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินได้สุทธิ 187 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินทรัพย์รวม 13.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2561 กำไรของบริษัทมากกว่าประมาณการไว้ ทำให้มูลค่าตลาดของ Netflix นั้น ได้ผ่าน 1 แสนล้านเหรียญ (ประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท) ปัจจุบัน Netflix มีผู้ใช้กว่า 109.25 ล้านคนทั่วโลก มีบุคลากรในบริษัท 3,500 คน มีนายรีด ฮาสติงส์ (Reed Hastings) เป็น ประธานกรรมการบริหารของ Netflix หลังจากสาธยายความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมบันเทิงที่เผยแพร่สื่อที่จัดเตรียมไว้ให้ผู้บริโภคได้เสพอย่างไม่จำกัดอย่าง Netflix มาพอสมควรแล้ว ในฐานะของผู้ชมที่เลือกเสพสื่อที่มีมากมาย จะเสพอย่างไรให้ได้ประโยชน์ และไม่สูญเสียเวลาไปกับความบันเทิงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสพอย่างสร้างสรรค์ ทั้งในฐานะบุคลากรของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIProm) และในฐานะผู้ประกอบการ โดยยกตัวอย่างสื่อที่ผมได้รับชมแล้วรู้สึกว่าโดนใจและนำไปต่อยอดได้บางส่วน (แน่นอนว่าอาจมีการสปอยล์บางส่วน) ดังนี้ครับ 1. เส้นทางธุรกิจ จากชีวิตติดลบสู่ CEO ติดจรวดเกริ่นมาเบื้องต้น แต่ถ้าคนไหนเคยชมต้องร้อง อ๋อ!!! แน่นอนครับ ผมกำลังกล่าวถึงซีรีส์เกาหลีสุดปัง “Itaewon Class (ธุรกิจปิดเกมส์แค้น)” ซึ่งเรียกได้ว่า ดังได้ถูกจังหวะและเนื้อหาถูกจริตยุค COVID-19 เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเส้นทางธุรกิจของ “พัคแซรอย” ที่ชีวิตพลิกผันจากเด็กมัธยมปลายสู่นักโทษในเรือนจำ โดยใช้ความแค้นเป็นแรงผลักดันไปสู่เส้นทางนักธุรกิจที่มีแรงผลักดันในการใช้ความแค้นเป็นเส้นทางสู่นักธุรกิจ เรียกได้ว่าจากชีวิตติดลบแต่ใช้เวลาไม่กี่ปีก็สามารถก้าวสู่ตำแหน่ง CEO แบบติดจรวดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งถ้าใครได้ติดตามซีรีส์เรื่องนี้จะเห็นกระบวนการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหารและแฟรนไชส์ ซึ่งมีประเด็นการทำธุรกิจที่น่าสนใจหลายประเด็นครับ>> วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่งเราจะเห็นพระเอกพูดถึงเป้าหมายในแต่ละช่วงชีวิตหลังจากออกจากเรือนจำแล้ว ซึ่งตัวละครหลายตัวหัวเราะเยาะและคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็สามารถทำได้จริง เนื่องจากมีการวางแผนที่ดีมีเป้าหมายชัดเจน มีการกำหนดเป้าหมายเป็นระยะ ๆ และมีความพยายามในการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ >> รู้เรื่อง “ทำเล” ไม่มีทาง “โดนเท” แน่นอนแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งร้านอาหารย่าน “Itaewon” จะมีต้นทุนสูงมาก แต่พระเอกก็เลือกที่จะเริ่มต้นธุรกิจในย่านดังกล่าว เนื่องจากได้ศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายและประเมินผลลัพธ์ไว้แล้วว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ดังนั้นในซีรีส์ดังกล่าว เราจะเห็นอิทธิพลของ “ทำเล” ที่มีผลต่อธุรกิจในหลาย ๆ ฉากของซีรีส์เรื่องนี้ >> สินค้าดี บริการโดนใจ แต่ไร้ค่า (ถ้าไม่สร้างกระแส) ในช่วงแรกพระเอกยังคงยึดการทำธุรกิจที่เน้นคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ แต่ยอดขายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นจึงได้ตัวช่วยจากตัวละครหนึ่งในเรื่องที่มากระตุ้นยอดขายจากการสร้างกระแสใน social network ทำให้กิจการเติบโตขึ้นเกินคาด ดังนั้นหากจะทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน การสร้างกระแสสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน social network เพราะนอกจากจะทำให้ธุรกิจเป็นที่รับรู้ในวงกว้างแล้ว ยังอาจใช้ข้อมูลคำวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ จากผู้บริโภคไปพัฒนาและปรับปรุงสินค้าและบริการต่อไปได้>> ธุรกิจรุ่ง โตเดี่ยว เดินคนเดียวไม่ยั่งยืนถึงคราวที่พระเอกของเรา โดนกลั่นแกล้งให้ร้านไปอยู่ในย่านที่ทำเลไม่ดี แนวคิดของพระเอก คือ การให้ธุรกิจของตนและธุรกิจรอบ ๆ เติบโตไปด้วยกัน ทำให้ย่านที่ซบเซา กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งหลักการดังกล่าวทำให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจ กล่าวคือ ไม่ได้นึกถึงตนเองเพียงอย่างเดียว แต่นึกถึงเพื่อนบ้านด้วย ทำให้ย่านดังกล่าวกลับมาคึกคักอีกครั้ง>> คุณธรรมค้ำจุนธุรกิจแม้ว่าพระเอกของเราจะโดนกลั่นแกล้งขนาดไหน และมีบางครั้งถ้าเลือกเดินนอกเส้นทางแห่งคุณธรรมก็สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ แต่ก็ยังคงยึดมั่นในคุณธรรมและจรรยาบรรณทางธุรกิจ ซึ่งท้ายที่สุดก็สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างใสสะอาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณธรรมสามารถค้ำจุนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ข้อคิดการทำธุรกิจที่ได้จากซีรีส์เรื่องดังกล่าว สอดคล้องกับ "6 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเริ่มทำธุรกิจ" ที่คุณภาววิทย์ กลิ่นประทุม ผู้อำนวยการส่วนที่ปรึกษาการลงทุน บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง เจ้าของผลงานหนังสือ Bestseller “แกะรอยหยักสมอง รวยหุ้นหมื่นล้าน” และ “คลินิกหุ้นมือใหม่” ได้ให้ข้อคิดการเริ่มต้นทำธุรกิจในรายการ SME Clinic Influencer ได้แก่ 1) การสร้างจุดขายที่แตกต่าง 2) การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน 3) การมีแผนธุรกิจที่ดีและชัดเจน 4) การมีที่ปรึกษาที่ดี มีประสบการณ์ 5) การสร้าง Connection หรือเครือข่ายทางธุรกิจ และ 6) การมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดธุรกิจได้ (ผู้จัดการออนไลน์, 2562) 2. หนังสารคดีไทย ว่าด้วยเรื่องของ Girl Group ที่แฝงด้วยหลักการตลาดและสัจธรรมของชีวิตอีกเรื่องหนึ่งที่ขอหยิบยกมาเกริ่นไว้ก่อนเนื่องจากเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด เป็นภาพยนตร์สารคดีของไทย กล่าวถึงเส้นทางชีวิตของกลุ่มศิลปินสาวชื่อดังวง BNK 48 ใครจะรู้ว่า เมื่อชมจบแล้วสามารถถอดบทเรียนการตลาดและสัจธรรมชีวิตได้เลยครับ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคว้ารางวัล Best Documentary Feature Award ในงานเทศกาลภาพยนตร์ See the sound – soundtrack cologne ณ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ “Girls Don’t Cry” นั่นเองครับ การดำเนินเรื่องใช้บทสัมภาษณ์ ที่ตัดไปมาระหว่างภาพเหตุการณ์สำคัญ ๆ ต่าง ๆ ตั้งแต่ การคัดเลือก (Audition) การฝึกซ้อมเพื่อให้ได้เป็น “เซ็มบัตสึ” หรือผู้ที่ได้ร้องในเพลง ๆ หนึ่ง ซึ่งผมเอง เพิ่งทราบว่า วงนี้มี 30 คน แต่ในแต่ละ single ที่ออกมา ใช้เพียง 16 คน นั่นคือ อีก 14 คน ต้องดูข้างเวที เวลาตัวจริงแสดง และแน่นอนว่า 16 คนเวลาออกสื่อหรือแสดง คนที่โดดเด่นต้องเป็นตำแหน่งหน้า ๆ โดยเฉพาะ “เซ็นเตอร์” ดูไปดูมา นี่มันหลักการตลาดของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หนึ่งชัด ๆ (ค่อนข้างอิน เพราะเคยเป็น R&D มาก่อน) เราจะเห็นกระบวนการตั้งแต่การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ (ก็อาจจะเทียบได้กับ Concept Development ไปจนกระทั่ง Product Design) การพัฒนาสูตรและกระบวนการให้ผลิตได้จริง (Industrialization) การออกสินค้าสู่ตลาด (Launching) ตำแหน่งการวางสินค้าในร้านค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Modern Trade ซึ่งมีการแข่งขันกันสูง การปรับปรุงสูตรและกระบวนการผลิต (Product and Process Improvement) การลดราคาวัตถุดิบ (Cost Reduction) และการบริหารวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle Management) ลองไปชมกันนะครับ แล้วถ้ามีโอกาสในครั้งต่อไป ผมจะมาเขียนแบบละเอียดอีกครั้งครับ จะเห็นได้ว่า สื่อที่ผลิตออกมานั้น นอกจากจะมุ่งเน้นให้ความบันเทิงแล้ว หากเราเสพงานศิลป์ดังกล่าวให้ได้สาระและเชื่อมโยงกับงานที่ทำ ก็จะพบว่าสื่อต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ให้ประโยชน์และแง่คิดในการทำงานและการใช้ชีวิต ดังนั้น อย่าให้เวลาในการเสพสื่อของคุณสูญเปล่าไปกับความบันเทิงเพียงอย่างเดียวนะครับ หากเสพด้วยวิจารณญาณก็จะทำให้การเสพสื่อนั้น “ดีพร้อม” และสามารถนำไปต่อยอดการทำงานของ DIProm ต่อไปได้ครับ ที่มา : Vivian, J. (2013). The Media of Mass Communication: Pearson. Boston. New York ผู้จัดการออนไลน์ : https://mgronline.com/smes/detail/9620000088955 บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด : https://www.thansettakij.com/content/tech/437057 สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (2557). รู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) :http://bcp.nbtc.go.th/uploads/items/attachments/b7bb35b9c6ca2aee2df08cf09d7016c2/_651dab51d77cc9cc0b46de8a418db8e7.pdf
19 มิ.ย. 2563