PMQA อิหยังวะ!


31 ส.ค 2563    napakan    7

PMQA ย่อมาจาก Public sector Management Quality Award หรือแปลเป็นภาษาไทยว่ารางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นกรอบการประเมินองค์การด้วยตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นในการปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง ใครเคยสงสัยบ้างครับ ว่าอะไรคือ การบริหารจัดการที่ดี หรือ ระบบราชการที่ดี ความคิดของทุกคนคงผุดขึ้นมาจนล้นสมอง ถ้าให้ยกมือก็คงมือพันกันระวิงเลยใช่ไหมครับ งั้นมาลองไล่ความสำคัญไปพร้อม ๆ กันดีกว่า เริ่มจากการมองสภาพแวดล้อม ในปัจจุบันที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับปรุงหรือปฏิรูป จากแนวคิดของการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐสู่ระบบราชการ 4.0 เพื่อให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 จึงมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ภาครัฐสามารถเป็นที่พึ่ง เชื่อถือและไว้วางใจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

 

สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดกลไกการขับเคลื่อนการนำเครื่องมือประเมินสถานการณ์เป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) มาใช้ในการยกระดับการบริหารจัดการองค์การไปสู่ระบบราชการ 4.0 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำเครื่องมือไปวิเคราะห์องค์การด้วยตนเองเพื่อหาโอกาสในการปรับปรุงองค์การ และนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาองค์การ นำไปสู่การยกระดับองค์การให้เป็นระบบราชการ 4.0 โดยมุ่งเน้นให้ปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้านและอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั้ง 7 หมวด ซึ่งถ้าเจาะลึก ๆ ระดับการพัฒนาก็มี 3 ระดับ ได้แก่ Basic Advance และ Significance ลองนึกภาพเล่น ๆ ก็จะเปรียบเหมือนคนที่ชอบเล่นเกม ขั้นแรกก็เปรียบเหมือนคนที่เล่นเกมเป็น ขั้นต่อไปก็ยกระดับหน่อยเปรียบเหมือนคนเล่นเกมที่ติดลำดับ ขั้นสุดก็อยู่ในเลเวลที่เล่นเกมจนได้รางวัล ก็จะประมาณนั้นครับ

เวลาเราขายของยังหวังผลกำไร นับประสาอะไรกับการทำงานเราก็ต้องมีเรือธงใช่ไหมครับ ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 ก็จะดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (Better Governance, Happier Citizens) สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีหน้าที่ต้องขลุกหรือคลุกวงในกับการประเมินองค์การ หรือ PMQA ทุกวัน ผมว่าแค่รู้ไว้ว่าหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มีอะไรบ้าง แล้วมันดีอย่างไร? ก็เท่มากแล้วครับสำหรับคนในเครื่องแบบสีกากี เริ่มเลยนะครับ Go Go Go

1. ระบบราชการที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน (Open & Connected Government)

เป็นการทำงานที่เปิดเผยโปร่งใสในการทำงาน โดยบุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการหรือมีการแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันและสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานได้ ตลอดจนเปิดกว้างให้กลไกหรือภาคส่วนอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม และโอนถ่ายภารกิจที่ภาครัฐไม่ควรดำเนินการเองออกไปให้แก่ภาคส่วนอื่น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแทน โดยการจัดระเบียบความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้างให้สอดรับกับการทำงานในแนวระนาบ ในลักษณะของเครือข่าย มากกว่าตามสายการบังคับบัญชาในแนวดิ่ง ขณะเดียวกันก็ยังต้องเชื่อมโยงการทำงานภายในภาครัฐด้วยกันเองให้มีเอกภาพและสอดรับประสานกันไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

2. ระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Government)

ต้องทำงานในเชิงรุก และมองไปข้างหน้า โดยตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่าประชาชนจะได้อะไร มุ่งเน้นแก้ไข ปัญหาความต้องการและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนเข้ามาติดต่อขอรับบริการหรือร้องขอความช่วยเหลือจากทางราชการ (Proactive Public Services) รวมทั้งใช้ประโยชน์จากข้อมูลของทางราชการ (Big Government Data) และระบบดิจิทัลสมัยใหม่ในการจัดบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของประชาชน (Personalized หรือ Tailored Services) พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกโดยมีการเชื่อมโยงกันเองของหน่วยงานราชการเพื่อให้บริการต่าง ๆ สามารถเสร็จสิ้นในจุดเดียว ประชาชนสามารถใช้บริการของทางราชการได้ตลอดเวลาตามความต้องการ และสามารถติดต่อได้หลายช่องทางผสมผสานกัน ทั้งการติดต่อด้วยตนเอง ติดต่อผ่านอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ

3. หน่วยงานของรัฐมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance Government)

คือกระบวนการทำงานที่ต้องทำงานอย่างเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงสร้างนวัตกรรมหรือความคิดริเริ่มและประยุกต์องค์ความรู้ในแบบสหสาขาวิชาเข้ามาใช้ในการตอบโต้กับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เพื่อสร้างคุณค่า มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการตอบสนองกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันเวลา ตลอดจนเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูงและปรับตัวเข้าสู่สภาพความเป็นสำนักงานสมัยใหม่ รวมทั้งทำให้ข้าราชการมีความผูกพันต่อการปฏิบัติราชการและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมกับบทบาทของตน (ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแล ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติ)

ใช่แล้วครับ การจะพัฒนาไปสู่ระบบราชการ 4.0 จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ในการทำงานร่วมกัน มองเป้าหมายร่วมกัน มิใช่เฉพาะภาครัฐเพียงส่วนเดียว รวมถึงการคิดค้นและแสวงหาวิธีการหรือแนวทาง (Solutions) ใหม่ ๆ หรือการสร้างนวัตกรรมนั่นเองครับที่จะมีช่วยให้สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศหรือตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี และที่ขาดไม่ได้ก็คือการปรับตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องได้รับการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด (Mindset) ให้ตนเองมีความเป็นผู้ประกอบการสาธารณะ (Public Entrepreneurship) เพิ่มทักษะให้มีสมรรถนะที่จำเป็นและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน อันจะช่วยทำให้สามารถแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) เพื่อสร้างคุณค่า (Public Value) และประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน

ดังนั้นนะครับ หากผู้อ่านเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล หรือเป็นผู้กำกับดูแล หรือจะเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรงเลยก็ดี ก็อย่าลืมยึดหลักปัจจัยสำคัญที่เป็นเหมือนกุญแจสำคัญเหล่านี้ที่จะทำให้หน่วยงานของท่านบรรลุเป้าหมาย และมีผลการประเมินในระดับที่คาดหวังไว้ได้อย่างง่ายดายครับ พอหอมปากหอมคอ ถ้าใครยังเอ๊ะอ๊ะ สงสัยในบางประเด็นผมแนบลิ้งก์เล่ม PMQA 4.0 ไว้ด้านล่างนะครับ ผมพร้อม คุณพร้อม ประเทศไทยพร้อม ระบบราชการ 4.0 ก็ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เราวาดฝันอีกต่อไปครับ


ที่มา
คู่มือการประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 : https://www.opdc.go.th/content/Mjc3Mg
ความหมายเกี่ยวกับ PMQA : http://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/pmqa.pdf

ดาวน์โหลด