หมวดหมู่
อสอ. เปิดสัมมนา DIProm Online Marketeer เพิ่มทักษะบุคลากร กสอ. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตอย่างแท้จริง
เสริมแกร่งเจ้าหน้าที่ กสอ. ด้านการตลาดออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตอย่างแท้จริง กรุงเทพฯ 17 พฤษภาคม 2564 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การพัฒนาบุคลากร กสอ. สู่การเป็นนักส่งเสริมการตลาดออนไลน์ หรือ DIProm Online Marketeer ร่วมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กสอ.) กล่าวรายงาน ณ ห้อง DIPROM Co-working Space ชั้น 3 อาคาร กสอ. สำหรับกิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การพัฒนาบุคลากร กสอ. สู่การเป็นนักส่งเสริมการตลาดออนไลน์ หรือ DIProm Online Marketeer จัดขึ้น ภายใต้ กิจกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 12 วัน 72 ชั่วโมง ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2564 โดยจะมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของบุคลากร กสอ. ให้มีทักษะและศักยภาพด้านการสื่อสารบนโลกธุรกิจออนไลน์ สามารถสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กสอ. ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ให้มีศักยภาพในการแข่งขันบนตลาด Online เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ประกอบด้วย 1) หัวข้อ วางกลยุทธ์สู่การขายสินค้า Online - อาจารย์ธัญญ์นิธิ อภิชัยโชติรัตน์ อาจารย์ศุภกร สินธุธาน และ อาจารย์ยุทธนา เทียนธรรมชาติ 2) หัวข้อ ปั้น Content ให้ปังบนโลกออนไลน์ - อาจารย์เกียรติรัตน์ จินดามณี อาจารย์เอกลักษณ์ ธรรมรัตน์ และ อาจารย์วรัญญู จันทร์ทอง3) หัวข้อ เทคนิคการถ่ายภาพสินค้าใน Trend ปัจจุบัน - อาจารย์ปารณ ตรีวิวัฒน์ อาจารย์ปิติวัตติ์ ปิติพรภูวพัฒน์ และ อาจารย์ธนวิทย์ กังวาลนรกุล4) หัวข้อ Present สินค้าอย่างไรให้โดนใจลูกค้า - อาจารย์เจนจิรา ศรีดี อาจารย์รัฐพงษ์ กาญจนาศรัย และ อาจารย์วันชัย เสรีนิธิกุล ### กย.กง.กสอ. (กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ค. 2564
เปลี่ยนวิธีคิด ลองผลิตแบบโตโยต้า
หากเราพูดถึงยี่ห้อรถชั้นนำที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงจะนึกถึงแบรนด์ “โตโยต้า” เป็นอันดับต้น ๆ เลยใช่หรือไม่คะ แต่ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า ไม่เพียงแค่รถยนต์หลากหลายรุ่นที่โตโยต้า ได้สรรสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ในรูปแบบต่าง ๆ ของกลุ่มลูกค้าเท่านั้น แต่ “ระบบการผลิตแบบโตโยต้า” หรือ “Toyota Production System (TPS)” ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของโตโยต้าอีกด้วยค่ะ เราลองมาดูกันนะคะว่าระบบการผลิตแบบโตโยต้ามีวิธีการคิดอย่างไร และจะนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตในกิจการของเราได้อย่างไรค่ะ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลดสาเหตุที่ส่งผลต่อคุณภาพของกระบวนการผลิต และมุ่งสู่การตกผลึกกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบการผลิตแบบโตโยต้า ในปัจจุบันนี้ ก็เป็นผลมาจากการพัฒนาต่อยอดจากประสบการณ์ที่ทางโตโยต้าได้สั่งสมมานี่เองค่ะ สำหรับหัวใจหลักของระบบการผลิตแบบโตโยต้า นั้น มีด้วยกันทั้งสิ้น 2 ประการนะคะ อันดับแรกคือ การควบคุมอัตโนมัติ (Autonomation) หรือ Jidoka ที่มาจากแนวคิดที่สามารถหยุดการเดินเครื่องได้อย่างทันท่วงที หากพบสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ (Defect) และการผลิตแบบทันเวลา (Just In Time) ที่มาจากแนวคิดที่จะผลิตแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้นในแต่ละขั้นตอนอย่างลื่นไหล ภายใต้หัวใจหลักทั้ง 2 ประการข้างต้นนี้เองนะคะ ที่ทำให้โตโยต้าสามารถผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ ส่งถึงมือผู้บริโภคอย่างเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุนในการผลิตค่ะ เอาล่ะค่ะ เราจะลองมาศึกษาไปพร้อมๆ กันว่า Jidoka และ Just In Time นั้น คืออะไรและถูกนำไปใช้อย่างไรบ้างนะคะ การควบคุมอัตโนมัติ หรือ Jidoka อย่างที่ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วนะคะว่า Jidoka นั้น เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะควบคุมคุณภาพการผลิต ไม่ต้องการผลิตของเสีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเปลี่ยนระบบเป็นการควบคุมอัตโนมัติได้ทันทีนะคะ เพราะเราจะต้อง “ไคเซ็น (Kaizen)” หรือการวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการผลิตก่อนค่ะ สำหรับเครื่องมือที่เราใช้ในการไคเซ็นนั้น ท่านผู้อ่านอาจจะใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์อย่าง P-D-A-C เพื่อหาปัญหา หรือสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการผลิตลดลง และเมื่อหาเจอแล้วก็ทำการปรับปรุงกระบวนการผลิตในเบื้องต้นก่อน ซึ่งโตโยต้า ก็ได้บอกเราเอาไว้นะคะว่าสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการผลิตลดลง นั้น มีด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ 1. Muda การทำงานที่ไม่เกิดประโยชน์ในกระบวนการผลิต 2. Mura ความไม่สม่ำเสมอในกระบวนการผลิต 3. Muri การรับภาระเกินขีดจำกัดของบุคลากรและเครื่องจักรนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ บุคลากรของเราต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญและเข้าใจกระบวนการผลิตอย่างแท้จริงค่ะ ไม่ว่าใครทำก็ต้องได้ผลงานออกมาเหมือนกัน โดยไม่ได้มีตัวบุคคลเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของชิ้นงานนะคะ ถ้าทำได้แบบนี้แล้วเราจึงจะนำการควบคุมอัตโนมัติ หรือ Jidoka เข้ามาใช้ได้ค่ะ การผลิตแบบทันเวลา หรือ Just In Time Just In Time ถูกริเริ่มโดย คุณ Kiichiro TOYODA หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท โตโยต้า และประธานบริษัท โตโยต้า รุ่นที่ 2 ค่ะ Just In Time นั้น มีแนวคิดง่าย ๆ คือ การผลิตของที่จำเป็นในเวลาที่จำเป็น และผลิตแค่จำนวนที่ต้องการ เพราะเป้าหมายหลักของ Just In Time ก็คือการลดสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการผลิตลดลง หรือที่เราเรียกว่า Muda Mura และ Muri เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพด้วยกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพนั่นเองค่ะ จากแนวคิดนี้เอง เราสามารถกล่าวได้ว่า Just In Time นั้น นำเอาความต้องการของผู้บริโภคมาเป็นตัวกำหนดปริมาณการผลิต และใช้ระบบดึง (Pull System) ซึ่งเป็นระบบที่จะผลิตตามความต้องการของขั้นตอนถัดไปในกระบวนการผลิตเท่านั้น ในการควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามความต้องการโดยไม่เกิดของเหลือค่ะ การจะนำระบบ Just In Time ไปใช้ในโรงงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการกำจัด Muda Mura และ Muri ออกไปจากกระบวนการผลิตของเราเสียก่อนค่ะ ซึ่งเราสามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น การวางแผนสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่ต้องเสียเวลาเดินไปเดินมา ไม่เกิดการเคลื่อนย้ายวัสดุในระยะทางที่มากเกินไป ไม่เกิดการปฏิบัติงานที่ไม่จําเป็น ไม่ต้องรอคอยในแต่ละขั้นตอน ไม่มีวัตถุดิบหรือสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วมากเกินไป และไม่มีการผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เป็นต้นค่ะ ถ้าเราทำได้แบบนี้แล้ว ก็จะทำให้เราสามารถลดต้นทุนการผลิต และการจัดเก็บสินค้าคงคลังได้ค่ะ การปรับปรุงกระบวนการผลิตภายใต้แนวคิด Just In Time ควบคู่ไปกับ Jidoka จะทำให้เราสามารถลดปริมาณสินค้าที่เสียหายหรือไม่ได้มาตรฐานได้ และยังช่วยให้การไหล (Flow) ของกระบวนการผลิตของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยลดเวลาทํางานของผู้ปฏิบัติงานในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้า การรอคอยการขนส่ง และสามารถป้องกันการเกิดของเสีย (Waste) จากสินค้าที่เสียหาย หรือคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานได้อีกด้วยค่ะ เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับระบบการผลิตแบบโตโยต้า หรือ TPS ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้ การลดต้นทุนอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการประคองกิจการของเราต่อไปในวันข้างหน้านะคะ เริ่มต้นง่าย ๆ จากการค้นหาปัญหาภายในโรงงานของเรา กำจัดมันทิ้งไป และเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการผลิตของเราค่ะ จริง ๆ แล้ว ระบบการผลิตแบบโตโยต้ายังมีเครื่องไม้เครื่องมืออีกมากที่น่าสนใจอีกมาก หากมีโอกาสก็จะขอนำมาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านได้ลองศึกษากันใหม่ค่ะ นางสาวเขมณัฏฐ์ เป็นเอกวงศ์ นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มา : https://global.toyota/jp/company/vision-and-philosophy/production-system/#:~:text=%E3%83%88%E3%83%A8%E3%82%BF%E7%94%9F%E7%94%A3%E6%96%B9%E5%BC%8F%E3%81%AF%E3%80%81%E3%80%8C%E7%95%B0%E5%B8%B8,%E3%81%A8%E3%81%97%E3%81%A6%E7%A2%BA%E7%AB%8B%E3%81%95%E3%82%8C%E3%81%BE%E3%81%97%E3%81%9F%E3%80%82 https://www.softbankthai.com/Article/Detail/906
14 พ.ค. 2564
ทำไงดีตกงาน?
ตกงานก็ต้องตกใจ แต่ต้องตั้งรับตั้งตัวใหม่ให้ได้ “โควิดจ๋า อย่าฆ่าฉันเลย อย่าคร่าเงินและอาชีพไปจากฉันเลย พลีสสสส” ถ้อยคำเหล่านี้อาจเป็นเสียงสะท้อนที่ดังกึกก้องในช่วงนี้ แต่สติก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องมีเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเช่นกันนะคะ ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์แรงงาน เพราะฉะนั้นหากวันดีคืนดีเรือที่เราอาศัยให้ไปถึงฝั่งฝันความสำเร็จในหน้าที่การงานดันอับปางหรือไล่เราลงกลางคันระหว่างทางจะทำยังไง? ใช่แล้วถ้าคุณโดนเลิกจ้างกะทันหัน คุณจะเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้อย่างไร 1. ได้เงินเดือนก้อนสุดท้ายกี่บาท หลังจากเป็นลมแล้วฟื้นขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตั้งสติ แล้วรีบดูรายละเอียดการให้ออกในครั้งนี้ทันที ส่วนใหญ่บริษัทจะแจ้งล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน คือให้เป็นเวลาทำใจซะมากกว่า แต่ถ้าทุกอย่างเกิดแบบกะทันหันปุบปับอยู่ ๆ รับเงินเดือนเสร็จแล้วเซย์กู๊ดบาย Go out หรือบอกเพียงแค่ไม่กี่วัน คุณรู้เอาไว้เลยนะว่านอกจากเงินเดือนเดือนนั้นๆ ที่บริษัทต้องจ่ายเราตามปกติแล้ว เราจะต้องได้ค่าตกใจเป็นเรทเงินเดือนเดือนล่าสุดของเราเพิ่มอีก 1 เดือนด้วย ต่อมาก็ต้องพลิกปฎิทินดูว่าเราทำงานที่บริษัทนี้มากี่ปีแล้ว โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2555 ซึ่งอันนี้เราควรคำนวณไว้ก่อน เพื่อไปรีเช็คกับฝ่ายบุคคลของบริษัทหรือกับนายจ้าง ว่าเขาจ่ายให้เราครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ เรื่องเงินชดเชยในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับหากต้องออกจากงานโดยไม่มีความผิด ดอกจันตัวโต ๆ ไว้เลยนะคะเหล่าแรงงานทุกท่าน 2. ได้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเปล่า สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลังจากที่เราถูกเลิกจ้าง นายจ้างก็จะยุติการจ่ายเงินสมทบให้กับเราหรือเท่ากับสมาชิกกองทุนของเราได้สิ้นสุดลง แล้วแจ้งฝ่ายบุคคลหรือนายจ้างตั้งแต่เนิ่น ๆ ต้องพูดคุยเช็คทุกสิ่งที่ HR เคยบอกตอนเราเซ็นสัญญาให้เรียบร้อยก่อน 3. ได้อะไรบ้างจากประกันสังคม ก็มาดูกันว่าประกันสังคมที่เราโดนหักกันอยู่ทุกเดือนนั้น ในยามหน้าวิกฤติเช่นนี้ มีความช่วยเหลืออะไรบ้างที่จะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง ก็เข้าไปดูมาตรา 33 ได้เลยจ้า หากเกิดข้อสงสัยอะไรก็ยกหูถามเลยค่ะ อย่าคิดว่าสิ่งที่เรารู้ถูกไปกว่าคนที่กำหนดมันขึ้นมาเด็ดขาดค่ะ 4. ได้แล้วอย่าใช้หมด หลังจากผ่านมรสุมการตกงานมาได้ สิ่งที่ควรทำก็คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตั้งแต่วันแรกที่ว่างงาน ซึ่งในความเป็นจริงควรทำทุกวันให้เป็นนิสัยตั้งแต่ในยามปกติแล้ว เราจะได้ตรวจดูการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือสุรุ่ยสุร่ายได้แต่เนิ่น ๆ อีกอย่างก็เหมือนเป็นการป้องกันเงินที่ควรมีไม่ให้หายไปจากกระเป๋าเงินคุณนั่นเอง สำหรับใครที่ตกงานก็อย่าเพิ่งคิดสั้นหรือหมดหวัง เพราะพี่ตูนบอกไว้ว่าชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอยังไงล่ะคะ ขอแค่คุณไม่ตายไปก่อน ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอค่ะ สู้ สู้ ค่ะ นางสาวสดใส บัวลอย นักวิชาการอุตสาหกรรม กลุ่มศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรมกองยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มา https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/sudden-unemploy.html
07 พ.ค. 2564
การปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐจากภัตตาคารสู่ร้านอาหารตามสั่ง
หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยราชการของไทยเราสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น การแบ่งตามลักษณะการจัดตั้ง การแบ่งตามภารกิจ การแบ่งตามคุณลักษณะวิชาชีพ การแบ่งตามพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งเราท่านก็ทราบและใช้บริการกันเป็นปกติอยู่แล้ว ในที่นี้ผมจะไม่พูดถึงประเภทของหน่วยราชการทั้งหมด แต่จะขอพูดถึงหน่วยงานที่มีโอกาสสูญสลายไปในอนาคตหากยังไม่ปรับตัว โดยจะยกหน่วยราชการที่แบ่งตามภารกิจเป็นหลัก ก่อนอื่นก็ขอปูพื้นเนียน ๆ ให้เข้าใจก่อนว่า “ภารกิจ” นั้นคือ หน้าที่ตามกฎหมายที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ นั่นเอง แต่ละหน่วยงานก็จะมีภารกิจแตกต่างกันออกไป อาจมีคล้ายกันบ้าง ทับซ้อนกันในเชิงพื้นที่หรือวิธีการปฏิบัติบ้าง แต่จะไม่เหมือนกันในทางกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบภารกิจของหน่วยราชการไทย 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านกำกับ ดูแล และบังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ ทหาร ป่าไม้ สรรพากร และหน่วยงานด้านปกครอง เป็นต้น 2. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนโดยตรง เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เช่นเทศบาล/ตำบล/อำเภอ/จังหวัด การไฟฟ้า การประปา กรมขนส่งทางบก เป็นต้น 3. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา ได้แก่ หน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือหรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น สังเกตได้ง่าย ๆ คือหน่วยงานเหล่านี้มักมีชื่อขึ้นต้นด้วย”พัฒนา หรือ ส่งเสริม” เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือกรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น 4. หน่วยงานประเภทวิชาการ หน่วยงานกลุ่มนี้มีหน้าที่ คิด ค้นคว้า วิจัย สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยฯ สสวท. สวทช. เป็นต้น หน่วยงานที่มีแนวโน้มจะสูญสิ้นและต้องปรับตัวตามหัวข้อของบทความนี้คือหน่วยงานประเภทที่ 3 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ในทุกกระทรวง เพราะอะไร เพราะตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานเหล่านี้มักจะใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในหน่วยงานหรือความเชี่ยวชาญของบุคลากรในหน่วยงานเป็นสารตั้งต้นในการให้บริการครับ หากจะให้เห็นภาพก็เช่น การจัดฝึกอบรมให้ความรู้ในการประกอบอาชีพกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หน่วยงานก็มักจะกำหนดหลักสูตรไว้ก่อนหรือนำหลักสูตรที่เคยจัดเคยมาใช้อยู่เสมอมาสอน อาจมีการเปลี่ยนวิทยากรบ้าง เปลี่ยนพื้นที่ฝึกอบรมบ้าง เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายบ้าง แต่อย่าลืมว่าโลกทุกวันนี้มีความรู้แขวนอยู่ในระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเรียนรู้ได้เองเพียงแค่มีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต อาจจะมีเพียงกลุ่มเล็กสุด ๆ เป็นส่วนเล็กน้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ แต่ท่านเชื่อเถอะว่าในอนาคตอีกไม่นานต่อให้เป็นเด็กเลี้ยงควายอยู่กลางทุ่งก็สามารถนอนดูหนังบนหลังควายได้ครับ ระบบการส่งเสริม การสนับสนุน และการพัฒนาของหน่วยงานในรูปแบบนี้ผมเรียกว่า “ระบบภัตตาคาร” เนื่องจากหน่วยงานจะมีแค่รายการส่งเสริมพัฒนาแบบเมนูของร้านให้ประชาชนเลือก เมื่อก่อนประชาชนไม่มีโอกาสเลือกเมนูเองด้วยซ้ำ มีอะไรก็สอนไป พัฒนาไป ตามแต่หน่วยงานจะนึกอะไรได้ ในปัจจุบันดีขึ้นนิดหน่อยที่ยังมีการถามว่าท่านอยากทานอะไร? ที่เราเรียกว่า “การสำรวจความต้องการของผู้รับบริการ หรือ Need” นั่นเอง มาถูกทางแล้วแต่ยังไปไม่สุดทางครับ เพราะว่าต่อให้เราบอกให้ผู้รับบริการหรือประชาชนเลือกสิ่งที่อยากได้ อยากพัฒนา แต่หน่วยงานภาครัฐเองก็ยังมีรายการพัฒนา หรือหลักสูตรความรู้ตามที่มีอยู่ในเมนูเท่านั้น หากต้องการอะไรที่นอกเหนือไปจากเมนูหรือรายการประชาชนหรือผู้รับบริการก็ต้องร้องเพลงลา แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้นครับคงยอมให้บอกลาไม่ได้ไหน ๆ ก็มาแล้ว เจ้าหน้าที่ภาครัฐจึงมักจับคนเหล่านั้นเข้ากระบวนการพัฒนาหรือฝึกอบรมหลักสูตรอื่นแทนเพื่อให้ได้เป้าหมายครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในโครงการที่ตนเขียน ถามว่ากรณีแบบนี้ใครได้ประโยชน์ เจ้าของโครงการครับได้ประโยชน์เพราะได้เป้าตามโครงการ แล้วใครเสียประโยชน์ อันดับแรกก็คือ ผู้รับบริการหรือประชาชนคนนั้นนั่นแหละ เสียทั้งเวลา บางครั้งก็เสียเงินในการเดินทาง และหากวิทยากรหรือเจ้าหน้าที่ที่มาให้ความรู้ไม่เก่งหรือเก่งน้อยกว่าคนเข้าร่วมโครงการด้วยแล้ว ก็จะเกิดการเสียความรู้สึกตามมา ผลกระทบคือ หน่วยงานเสียหน้า รัฐเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เพราะทุกโครงการมีต้นทุนและต้นทุนเหล่านั้นก็มาจากภาษีของประชาชนที่หน่วยงานได้รับมาในรูปของงบประมาณ นี่คือข้อเสียและผลกระทบของการทำงานแบบภัตตาคารร้านหรูของหน่วยงานภาครัฐ สุดท้ายประชาชนก็จะร้องยี้กับการให้บริการแบบนี้และหน่วยงานนั้นก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีผู้รับบริการ เมื่อไม่มีผู้รับบริการก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานนั้นอีกต่อไป หากต้องการให้หน่วยงานอยู่รอด จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการให้บริการครับ นึกไปถึงร้านอาหารตามสั่งที่มีอยู่ดาษดื่นเต็มประเทศไทยสิครับว่าเค้ามีวิธีขาย (การให้บริการ) กับลูกค้าอย่างไร ผมเชื่อว่าทุกท่านคงนึกออก เพียงแค่เราเข้าไปในร้านแล้วสั่งอาหารตามที่เราอยากทาน รับรองว่าในร้านตามสั่งทำอาหารตามเมนูที่ลูกค้าต้องการได้มากกว่าภัตตาคารแน่นอน ทำไมร้านตามสั่งถึงทำได้ตามที่ลูกค้าต้องการซึ่งมันมีความหลากหลายแบบสุด ๆ นั่นเพราะร้านตามสั่งจะเตรียมองค์ประกอบที่สำคัญ 2 อย่างอยู่เสมอครับ นั่นคือ 1 วัตถุดิบที่หลากหลาย พ่อครัวแม่ครัวที่มีความสามารถ เท่านี้ไม่ว่าจะอยากทานอะไรแบบไหนก็ทำได้ตามความต้องการของลูกค้าทั้งนั้น หันกลับมามองหน่วยงานราชการประเภทส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบ้าง หน่วยงานเหล่านี้มักมีวัตถุดิบที่สำคัญอยู่แล้วนั่นคือ องค์ความรู้ และบุคลากรที่มีคุณภาพ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ “วิธีการ” ให้บริการ หรือก็คือ วิธีการส่งเสริมและพัฒนา นั่นเอง อันดับแรกที่ต้องทำคือการสำรวจความต้องการของประชาชนหรือผู้รับบริการ ต่อมาก็สำรวจและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ให้ครอบคลุมทุกด้านเพื่อจะได้กำหนดปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานบริการของหน่วยงานตนเอง ตามด้วยการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถตรงกับผลการวิเคราะห์จาก 2 ส่วนแรกนั้น เท่านี้หน่วยงานของท่านก็จะมีวัตถุดิบที่หลากหลายและพ่อครัวที่มากความสามารถอยู่ในมือแล้วครับ ส่วนการให้บริการจากเดิมที่เคยยื่นเมนูให้เค้าเลือกก็เปลี่ยนเป็นการรับความต้องการของผู้รับบริการแต่ละรายได้เลย แล้วกลับมาพิจารณาสิ่งที่มีอยู่ในหน่วยงานว่าสามารถช่วยเหลือหรือพัฒนาผู้รับบริการตามที่เขาต้องการได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ดำเนินการได้เลยครับ ถ้าไม่ได้ก็หาตัวช่วย เช่น เชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วย หรือส่งต่อให้หน่วยงานที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้นเป็นผู้ช่วยเหลือแทน แต่ทั้งนี้อาจมีข้อโต้แย้งว่า แต่ละคนต้องการไม่เหมือนกันแล้วจะให้บริการยังไงไหว? ไหวสิครับ ความต้องการพื้นฐานมีไม่กี่ประเภทหรอก เช่น ความต้องการในการดำเนินธุรกิจ ก็จะมีแค่ เงินทุน/เงินหมุนเวียน เทคโนโลยี และการตลาด เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเวลาท่านให้บริการ ท่านก็เพียงแค่รวบรวมผู้รับบริการที่มีความต้องการเหมือนกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันมาเข้ารับการพัฒนาพร้อม ๆ กันนั่นเองครับ หากทำได้แบบนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ผู้รับบริการของท่านจะได้สิ่งที่ตรงตามความต้องการ (ตามสายงานของท่าน) ท่านจะกลายเป็นที่พึ่งหลักให้คนเหล่านั้นแล้วก็จะทำให้ท่านมีผู้รับบริการต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต และไม่ถูกยุบแน่นอน จงจำไว้ว่า “ก่อนจะพัฒนาเขา เราต้องพัฒนาตัวเองก่อน” ครับ นายอมรพงศ์ แสนสุข ผู้อำนวยการกลุ่มติดตามและประเมินผล กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
29 เม.ย. 2564
กลยุทธ์ซื้อรถ EV ไม่ให้ค่าไฟทวีคูณ
สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่จะซื้อรถไฟฟ้า (EV) โปรดอ่านและเตรียมการรอไว้เลยนะครับ จากกระแสรถยนต์ EV ที่มาแรงและต้องมาอย่างแน่นอนในอนาคต เผื่อบทความนี้จะพอมีประโยชน์เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการใช้ไฟฟ้าในบ้านนะครับ (ส่วนตัวก็วางแผนไว้ว่าจะหาใช้สักคัน ล้อเล่นนะครับ) ก่อนลงมือซื้อเราต้องลงมือหาข้อมูลก่อน กลยุทธ์ที่จะไม่ทำให้เราพ่ายแพ้ให้กับสิ่งยั่วกิเลสทั้งหลาย จากการไปหาข้อมูลจากการไฟฟ้า ได้ความว่าถ้าเราต้องการจะใช้รถไฟฟ้า EV ซักคัน เราต้องจัดการระบบไฟในบ้านอย่างไรบ้าง? (อันนี้สำคัญ) อย่างแรกเลยที่เราต้องรู้ คือบ้านเราเป็นระบบไฟแบบ 1 เฟส หรือ 3 เฟส มีค่าแอมป์เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ถ้าบ้านทั่วไปก็จะ 1 เฟส 15 (45) แอมป์ คือบ้านเรารับการใช้กระแสไฟฟ้าพร้อมกันได้สูงสุดที่ 45 แอมป์ ทีนี้ รถไฟฟ้า EV อย่างเช่น MG ZS EV ตัวชาร์จที่ติดตั้งที่บ้านจะใช้กับระบบไฟ 3 เฟสเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราใช้ไฟ 1 เฟส ก็ต้องไปแจ้งการไฟฟ้าขอเปลี่ยนเป็น 3 เฟส ถ้าบ้านเราเป็นไฟ 1 เฟส 15 (45) แอมป์ ซึ่งเราเคยเสียค่าตรวจสอบติดตั้งไปแล้ว 749 บาท การขอเปลี่ยนเป็น 3 เฟส 15 (45) แอมป์ ก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเลยสักบาท แต่ทีนี้เมื่อเรามีรถไฟฟ้า ซึ่งต้องชาร์จแบตเราต้องมาคำนวณว่า แอมป์ บ้านเราพอหรือไม่ เช่น MG ZS EV ตัวชาร์จสามารถชาร์จไฟได้ 7 KW แปลว่า ทุก ๆ ชั่วโมงจะต้องชาร์จไฟและใช้แรงดัน (วัตต์) 7,000 วัตต์ หรือคิดเป็นไฟ 7 หน่วย บ้านเราใช้ไฟ 220 โวลล์ เอาวัตต์ หารด้วย โวลล์ (วิชาการนิดหนึ่ง) ก็จะได้ค่าแอมป์ 7,000/220 = 31.81 แอมป์ จะเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่ได้ชาร์จรถไฟฟ้าอย่างเดียวแต่เรามีทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว เปิดแอร์ทีละหลาย ๆ เครื่อง 45 แอมป์ อาจจะไม่พอนะครับ ยิ่งถ้าวางแผนว่าในอนาคตอาจจะมีรถไฟฟ้ามากกว่า 1 คัน 15 (45) แอมป์ ไม่พอแน่นอน เราก็ต้องไปขอไฟ 3 เฟส แบบ 30 (100) แอมป์ ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่าย 1,605 - 749 = 856 บาท (จ่ายเพิ่ม) ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อขอเปลี่ยนระบบไฟกับการไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราต้องมาเปลี่ยนสายไฟที่เดินจากเสาไฟเข้ามาในบ้านด้วยไฟ 3 เฟส ก็จะต้องเดินสายไฟเพิ่มอีก 2 สาย ถ้าเป็น 30 (100) แอมป์ และต้องเปลี่ยนขนาดสายไฟเข้าบ้านใหม่ทั้งหมด ให้เป็นสายไฟที่หนาขึ้นเพื่อรองรับกระแสไฟที่สูงถึง 100 แอมป์ รวมถึงต้องเปลี่ยนระบบเบรกเกอร์ที่บ้านด้วย และสายไฟที่ออกจากเบรกเกอร์มาที่จุดชาร์จก็ต้องเป็นสายไฟที่สามารถรองรับกระแสไฟที่มากตามสเปกด้วย ถ้าซื้อรถ EV มาแล้วเสียบปลั๊กมั่วซั่วไปเรื่อยไฟไหม้บ้านแน่นอนครับ !!!!! คอนเฟิร์ม !!!!! Confirm !!!!! อีกจุดที่น่าสนใจคือ เรื่อง มิเตอร์ TOU (Time Of Use) ซึ่งมิเตอร์ TOU แบบ 3 เฟส จะมีค่ามิเตอร์อยู่ที่ 5,340 บาท ถ้าเราตั้งใจจะใช้รถไฟฟ้า แนะนำเลยครับว่าให้หาเงินมาอีกสักก้อน มาติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านด้วยแล้วไปขอเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ซึ่งมิเตอร์ TOU จะมีวิธีคิดค่าไฟแตกต่างกันตามช่วงเวลา ในช่วง PEAK วันธรรมดา 9.00 – 22.00 น. ค่าไฟจะแพงมาก หน่วยละ 5.79 บาท แต่แลกกับช่วง Off Peak วันธรรมดาหลังเวลา 22.00 – 06.00 น. และวันเสาร์ อาทิตย์ ทั้งวันทั้งคืน ค่าไฟจะเหลือแค่หน่วยละ 2.63 บาท แปลว่าอะไร แปลว่า...ถ้าเราติดโซล่าเซลล์ในระดับที่พอกับการใช้ไฟในตอนกลางวันของเรา ช่วง 09.00 – 17.00 น. แม้ค่าไฟจะแพงแต่เราก็ไม่ได้ใช้ เพราะเราใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์แทน เราจะใช้ค่าไฟแพงแค่ช่วงที่แดดหมดเท่านั้น 17.00 – 22.00 น. ในวันธรรมดา วันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น นอกนั้นเราก็เอ็นจอยกับค่าไฟหน่วยละ 2.63 บาท แล้วลองคิดดูว่า หลัง 22.00 น. เราชาร์ตแบตรถ EV เสียค่าไฟแค่หน่วยละ 2.63 บาท มันจะประหยัดขนาดไหน เช่น MG ZS EV แบตขนาด 44.5 kwh หรือ 44.5 หน่วย ตามสเปก วิ่งได้ 337 กิโลเมตร ถ้าชาร์จเต็มในช่วง Off Peak จะเสียเงินแค่ 117 บาท ตกกิโลละ 34 สตางค์ เท่านั้นเองครับ อ่านจบแล้วตาชั่งในใจของทุกคนเอนเอียงไปทางไหนบ้างครับ ระหว่างรถยนต์น้ำมันกับรถยนต์ไฟฟ้า นอกเหนือจากความชอบทางอารมณ์ความรู้สึกแล้วยังต้องมองถึงความพร้อมของบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ชาร์จหลักด้วย แต่บางคนอาจจะมองหาจุดชาร์จนอกบ้านอันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกครับ ข้อดีข้อเสียก็มีให้เห็นแล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อม (เรื่องเงิน) ของแต่ละคนแล้วล่ะครับ นายอัครวัฒน์ ศุภเลิศวรานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
21 เม.ย. 2564
สงสัยโทรศัพท์มือถือแอบฟัง!!! เพิ่งพูดถึง…โฆษณาก็ขึ้นมา
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ที่ว่าเพิ่งพูดถึงสินค้าอะไร พอเข้าไปในแอป Facebook บนมือถือ มักจะเจอโฆษณาสินค้าที่เราเพิ่งจะพูดคุยถึง และแอบสงสัยอยู่ว่าแอป Facebook ในโทรศัพท์มือถืออาจกำลังฟังบทสนทนาของเราอยู่หรือไม่ ซึ่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2559 Facebook ได้ปฏิเสธประเด็นนี้ว่า “Facebook ไม่ได้ใช้ไมโครโฟนของคุณเพื่อสร้างโฆษณาหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุณจะเห็นบน News'Feed ที่ผ่านมามีบทความพยายามชี้ว่าเราต้องฟังบทสนทนาของทุกคนเพื่อจะยิงโฆษณาให้ตรงจุดแก่ทุกคนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริงเลย เราแสดงโฆษณาโดยใช้พื้นฐานของความสนใจและข้อมูลโปรไฟล์อื่น ๆ” เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 Bloomberg News ได้เปิดเผยข้อมูลว่า Facebook ได้ว่าจ้างบริษัทนอกเพื่อถอดบทสนทนาของผู้ใช้งานเวลาพูดคุยกัน โดย Facebook ได้แถลงว่าเป็นบันทึกเสียงการสนทนาของผู้ใช้ที่พูดคุยกันผ่านแอปพลิเคชัน Facebook Messenger โดยสิ่งที่ทำเป็นการทดสอบความแม่นยำของระบบอัลกอริทึมถอดบทสนทนาอัตโนมัติที่กำลังจะปล่อยออกมา โดยได้หยุดโครงการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ Facebook ยังได้ใส่ฟีเจอร์ที่จะเข้ามาช่วยหาสาเหตุว่าทำไมโฆษณานี้ถึงได้เด้งขึ้นมาให้เราได้เห็นกันด้วยการกดไปที่ปุ่มเมนู (3 จุด) ที่มุมขวาบนของโฆษณาดังกล่าว แล้วเลือกที่ Why am I seeing this ad? (ทำไมฉันจึงเห็นโฆษณานี้?) อย่างไรก็ตามหลายคนก็ยังคงสงสัยว่าแอป Facebook แอบฟังบทสนทนาของเราอยู่ดี เนื่องจาก Facebook ช่างรู้ใจเราเหลือเกิน เพียงแค่คิดก็ขึ้นโฆษณามาให้แล้ว เว็บไซต์ thematter ได้กล่าวถึงการทดสอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว ของบริษัท Wandera ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งผลลัพธ์ออกมาพบว่า Facebook ไม่ได้ดักฟังบทสนทนาของเรา และการที่ Facebook สามารถยิงโฆษณาที่ตรงเป้าถึงผู้ใช้งานแต่ละคน เพราะว่า Facebook ดึงข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราจากร้านค้าหรือบริการต่าง ๆ ที่เราเข้าไปดู สั่งซื้อของ หรือใช้บริการ ระบบสามารถรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน เพื่อนของเราเป็นใคร พวกเขาสนใจอะไรบ้าง ข้อมูลมากมายที่ Facebook เก็บไปนั้นจะถูกนำไปเข้าระบบหลังบ้านผ่านอัลกอริทึมที่ซับซ้อน ก่อนจะเลือกว่าโฆษณาไหนควรถูกส่งให้ใครดูบ้าง ซึ่งอาจจะเหมือนว่ามันช่างตรงกับสิ่งที่เรากำลังสนใจอยู่เหลือเกินจนหลายคนเชื่อว่า Facebook แอบฟังเสียงเราอยู่ เพื่อพิสูจน์ว่ามีคนคิดว่า Facebook แอบฟังเสียงเราอยู่มากน้อยเท่าไร ผู้เขียนได้ทำการสำรวจง่าย ๆผ่านระบบโพลล์ของ Facebook ให้เพื่อนๆผู้ใช้ Facebook เป็นประจำ ตอบคำถาม “คุณคิดว่า Facebook แอบฟังเสียงของเราหรือไม่” จากผู้ตอบคำถามจำนวน 30 คน มีผู้ตอบว่าใช่ ร้อยละ 76.7 หรือจำนวน 23 คน และอีกร้อยละ 23.3 หรือจำนวน 7 คน ตอบว่าไม่ใช่ แสดงว่าอัลกอริทึมของ Facebook มีความสามารถในการประมวลผลเพื่อส่งโฆษณาได้ตรงใจจนน่าสงสัยจริง ๆ นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันอื่นที่เปิดเผยว่าบันทึกการสนทนาของเรา เพื่อนำข้อมูลไปเพิ่มความแม่นยำในการรับคำสั่งเสียง สุดท้ายหากเราไม่สบายใจว่าแอปพลิเคชันใด ในโทรศัพท์มือถือจะแอบฟังอะไรเราอยู่หรือไม่ สามารถเข้าไปในแอปดังกล่าวเพื่อตั้งค่าปิดไมโครโฟน แต่เราก็จะไม่สามารถใช้ไมโครโฟนเพื่อพูดคุยหรือสั่งงานแอปด้วยเสียงได้เช่นกัน นางอรพิน อุดมธนะธีระ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ ที่มา https://droidsans.com/facebook-monitoring-users-or-not/ https://thematter.co/thinkers/is-facebook-listening-to-you/86060
08 เม.ย. 2564
กสอ. ติวเข้มบุคลากร มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่
กรุงเทพฯ 16 มีนาคม 2564 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมการพัฒนาบุคลากรระดับภูมิภาคสู่การเป็นหน่วยงานวิชาการ หรือ DIPROM Regional Academy ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กสอ. กล่าวรายงาน ณ ห้อง DIPROM Co-working Space ชั้น 3 อาคาร กสอ. สำหรับกิจกรรมการฝึกอบรมการพัฒนาบุคลากรระดับภูมิภาคสู่การเป็นหน่วยงานวิชาการ หรือ DIPROM Regional Academy จัดขึ้น ภายใต้ กิจกรรมศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 15 วัน 90 ชั่วโมง ระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2564 โดยจะมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของบุคลากร กสอ. ในส่วนภูมิภาคให้มีสมรรถนะในการเป็นนักยุทธศาสตร์และแผนงาน รวมถึงทักษะและกระบวนการคิดให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลและฝึกปฏิบัติการจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ตลอดจนพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคปกติใหม่ (New Normal) ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและการวางแผนกลยุทธ์และยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สถิติ และการวิเคราะห์ข้อมูล จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในมุมมองที่แตกต่างออกไปอีกด้วย PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
16 มี.ค. 2564
การประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานพัฒนาหน่วยงานสู่ระบบราชการ 4.0
วันอังคารที่ 9 มีนาคม 2564 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน จัดการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานพัฒนาหน่วยงานสู่ระบบราชการ 4.0 ครั้งที่ 1/2564 โดยนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมฯ โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อชี้แจงแนวทางและทิศทางการดำเนินงานพัฒนาหน่วยงานสู่ระบบราชการ 4.0 ส่งเสริม สนับสนุน และให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องต่างๆ ของคณะทำงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกรอบ ทิศทาง และแนวทางที่กำหนด และติดตาม เร่งรัดให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดและชี้แจงแนวทางการดำเนินการสมัครและผลการสมัครขอรับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่ง กสอ. ผ่านเกณฑ์การประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้ง 2 รางวัล รางวัลรายหมวด (หมวดที่ 3 ) และรางวัล PMQA 4.0 ในการประเมินรอบแรกอีกด้วย ณ ห้องประชุม VDO Conference ชั้น 2 อาคาร กสอ.
10 มี.ค. 2564
Business Software Application
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจผู้ประกอบการ SMEs สามารถสมัครเป็นสมาชิกของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอทดลองใช้ Software full option ฟรี นาน 6 เดือน ผ่าน http://i.industry.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 202 4535 , 0 202 4557 https://youtu.be/ZaJEkC71MyAhttps://youtu.be/4vWdR60S4q0
01 ก.พ. 2564