Category
ขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์ยังไงให้ยังได้ราคาดี
วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก การมีวิกฤตโรคระบาดดังกล่าว หมายความว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่างที่จำเป็นที่จะต้องถูกยกเลิกเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ด้วยเหตุนี้ จำนวนคนที่ตกงานก็เลยเพิ่มมากขึ้น คนที่มีกำลังซื้อก็ลดน้อยลง สุดท้ายนี้ก็เป็นที่แน่นอนว่าการบริโภคก็จะลดน้อยลง การขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์ให้ยังได้ราคาดีในสภาวะดังกล่าวนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ต่างออกโปรโมชันมาเพื่อดึงดูดลูกค้าให้ยังใช้บริการแพลตฟอร์มของตน จนบางทีสามารถทำให้ผู้ขายหลาย ๆ ท่านนั้นขาดทุนไปตาม ๆ กัน แล้วเราจะขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์อย่างไรให้คงไว้ซึ่งกำไร? 1. เริ่มจากการเลือกสินค้าขั้นพื้นฐาน การขายเสื้อผ้ามือสองนั้น มีปัจจัยให้ต้องใส่ใจไม่แพ้กับการขายเสื้อผ้ามือหนึ่งหากผู้ขายอยากเพิ่มโอกาสการสร้างกำไรจากสินค้า ถึงจะเป็นของมือสอง สินค้าก็ยังควรอยู่ในสภาพเดิม 80% – 90% 2. ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายมากกว่าหนึ่งช่องทาง ในปัจจุบัน ผู้ขายมีทางเลือกมากมายในการที่จะทำให้สินค้าของตนเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ รวมไปถึงเรื่องการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า การติดตามผล และการให้บริการหลังการขาย โซเชียลมีเดียและอีมาร์เก็ตเพลสถือเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจสำหรับการเข้าถึงผู้บริโภค ผู้ขายที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วในระดับหนึ่ง สามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า หรือเป็นช่องทางในประชาสัมพันธ์สิ่งต่าง ๆ มากกว่าขายตรง ๆ เพื่อให้เกิดการโน้มน้าวหรือสร้างแรงบันดาลใจในการตัดสินใจซื้อสินค้า แต่ถ้าหากผู้ขายยังไม่มีฐานลูกค้า ไม่ได้ต้องการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง หรือไม่ได้ต้องการขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์เป็นอาชีพหลัก ผู้ขายสามารถใช้แค่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ประเภทอีมาร์เก็ตเพลส อย่าง ลาซาด้า ช้อปปี้ หรือเจดี เซ็นทรัล เป็นสื่อกลางการติดต่อซื้อ-ขายได้ 3. รูปสินค้าต้องชัด สวย และบอกรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ รูปภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการโน้มน้าวหรือสร้างแรงบันดาลใจในการตัดสินใจซื้อสินค้า ดังนั้นควรถ่ายรูปสินค้าทุกชิ้นออกมาให้ดูดี เพราะรูปถ่ายนั้นถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถเพิ่มโอกาสการขายให้ผู้ขายได้มากไม่แพ้ข้อแนะนำอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม รูปที่ถ่ายออกมาก็ต้องตรงกับความเป็นจริง หากสินค้ามีตำหนิก็ต้องถ่ายรูปเฉพาะส่วนที่มีตำหนิ และไม่ควรแต่งรูปหรือปรับแสงจนสีของสินค้าเพี้ยนไป 4. รู้จักวิธีรับมือกับการถูกต่อราคา และการจัดโปรโมชั่น การถูกต่อราคา การลด การแจก และการแถม เป็นสิ่งที่ผู้ขายของออนไลน์นั้นเลี่ยงที่จะเผชิญไม่ได้ การจัดโปรโมชั่นสามารถนำมาใช้เพื่อเรียกลูกค้าได้ แต่ไม่ควรนำมาใช้บ่อยเพื่อป้องกันการที่ลูกค้าจะรอซื้อแต่ของราคาถูก แต่ถ้าเป็นในสภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงโปรโมชั่นต่าง ๆ ได้ เพราะทุกแพลตฟอร์มต่างต้องการให้ผู้บริโภคใช้บริการแพลตฟอร์มของตน ดังนั้น ผู้ขายต้องมีความหนักแน่นในราคาที่ตนเองได้ตัดสินใจตั้งไว้ ทั้งสองฝ่ายสามารถถามหาราคากลางของกันและกันได้ แต่ถ้าหากลูกค้าไม่สามารถจ่ายในราคาที่เหมาะสมได้จริงๆ การปฏิเสธลูกค้าตรง ๆ นั้นก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร 5. ต้องทำอะไรเร็ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการขายของออนไลน์คือความรวดเร็ว ตอบเร็ว ปิดการขายไว และส่งเร็ว การที่ผู้ขายสามารถตอบข้อความของลูกค้าได้เร็วมากเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะการตอบคำถามที่รวดเร็วจะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและต้องการขายสินค้าจริงๆ รายงานจาก FACEBOOK For Business ได้กล่าวไว้ว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจซื้อกับแม่ค้าที่ตอบคำถามเร็ว ตอบดี และตรงประเด็น โดย 54% นั้นซื้อสินค้าหรือบริการผ่านการส่งข้อความเป็นหลัก และอีก 54% ก็ยังให้สัมภาษณ์ว่าประสบการณ์การซื้อของออนไลน์ครั้งแรกของพวกเขาเกิดขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านแชทอีกด้วย หวังว่าข้อแนะนำ 5 ข้อขากผู้เขียนจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย การขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์นั้นสามารถคืนเงินจำนวนหนึ่งมาให้เราได้ไม่ยาก เพราะผู้ขายมีแพลตฟอร์มมากมายที่สามารถทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก ลูกค้าแต่ละท่านที่เข้ามานั้นต่างก็มีความต้องการซื้อมากเป็นทุนอยู่แล้ว จึงทำให้มีโอกาสขายได้มากนั่นเอง นอกจากนี้การขายของออนไลน์ยังลงขายง่าย และมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ ยิ่งในปัจจุบัน อัตราการเข้าถึงและการใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้นมีอัตราที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่กำลังเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สาเหตุหลักก็เพราะมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคของแต่ละประเทศที่ขอความร่วมมือให้ประชาชนของตนอยู่บ้าน เวลาในการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ก็เลยเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่าผู้ขายก็มีโอกาสที่จะได้พบปะกับลูกค้าจำนวนมากขึ้นเช่นกัน ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนให้ผ่านวิกฤตดังกล่าวไปด้วยกันนะคะ นางสาวปวิชญา ศักยาภินันท์นักวิเทศสัมพันธ์ กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อ้างอิง https://www.mycloudfulfillment.com/e-commerce-social-media-e-marketplace/ https://www.page365.net/all-articles/sell-your-antiques-online https://cheechongruay.smartsme.co.th/content/26457 https://business.facebook.com/iq/insights-to-go?tags[0]=thailand&tags[1]=people-insights&__tn__=-UKH-R https://wearesocial.com/blog/2020/01/digital-2020-3-8-billion-people-use-social-media
20 พ.ค. 2021
อสอ. เปิดสัมมนา DIProm Online Marketeer เพิ่มทักษะบุคลากร กสอ. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตอย่างแท้จริง
เสริมแกร่งเจ้าหน้าที่ กสอ. ด้านการตลาดออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตอย่างแท้จริง กรุงเทพฯ 17 พฤษภาคม 2564 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การพัฒนาบุคลากร กสอ. สู่การเป็นนักส่งเสริมการตลาดออนไลน์ หรือ DIProm Online Marketeer ร่วมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน (กสอ.) กล่าวรายงาน ณ ห้อง DIPROM Co-working Space ชั้น 3 อาคาร กสอ. สำหรับกิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การพัฒนาบุคลากร กสอ. สู่การเป็นนักส่งเสริมการตลาดออนไลน์ หรือ DIProm Online Marketeer จัดขึ้น ภายใต้ กิจกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 12 วัน 72 ชั่วโมง ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2564 โดยจะมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของบุคลากร กสอ. ให้มีทักษะและศักยภาพด้านการสื่อสารบนโลกธุรกิจออนไลน์ สามารถสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กสอ. ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ให้มีศักยภาพในการแข่งขันบนตลาด Online เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ประกอบด้วย 1) หัวข้อ วางกลยุทธ์สู่การขายสินค้า Online - อาจารย์ธัญญ์นิธิ อภิชัยโชติรัตน์ อาจารย์ศุภกร สินธุธาน และ อาจารย์ยุทธนา เทียนธรรมชาติ 2) หัวข้อ ปั้น Content ให้ปังบนโลกออนไลน์ - อาจารย์เกียรติรัตน์ จินดามณี อาจารย์เอกลักษณ์ ธรรมรัตน์ และ อาจารย์วรัญญู จันทร์ทอง3) หัวข้อ เทคนิคการถ่ายภาพสินค้าใน Trend ปัจจุบัน - อาจารย์ปารณ ตรีวิวัฒน์ อาจารย์ปิติวัตติ์ ปิติพรภูวพัฒน์ และ อาจารย์ธนวิทย์ กังวาลนรกุล4) หัวข้อ Present สินค้าอย่างไรให้โดนใจลูกค้า - อาจารย์เจนจิรา ศรีดี อาจารย์รัฐพงษ์ กาญจนาศรัย และ อาจารย์วันชัย เสรีนิธิกุล ### กย.กง.กสอ. (กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ค. 2021
เปลี่ยนวิธีคิด ลองผลิตแบบโตโยต้า
หากเราพูดถึงยี่ห้อรถชั้นนำที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงจะนึกถึงแบรนด์ “โตโยต้า” เป็นอันดับต้น ๆ เลยใช่หรือไม่คะ แต่ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า ไม่เพียงแค่รถยนต์หลากหลายรุ่นที่โตโยต้า ได้สรรสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ในรูปแบบต่าง ๆ ของกลุ่มลูกค้าเท่านั้น แต่ “ระบบการผลิตแบบโตโยต้า” หรือ “Toyota Production System (TPS)” ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของโตโยต้าอีกด้วยค่ะ เราลองมาดูกันนะคะว่าระบบการผลิตแบบโตโยต้ามีวิธีการคิดอย่างไร และจะนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตในกิจการของเราได้อย่างไรค่ะ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลดสาเหตุที่ส่งผลต่อคุณภาพของกระบวนการผลิต และมุ่งสู่การตกผลึกกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบการผลิตแบบโตโยต้า ในปัจจุบันนี้ ก็เป็นผลมาจากการพัฒนาต่อยอดจากประสบการณ์ที่ทางโตโยต้าได้สั่งสมมานี่เองค่ะ สำหรับหัวใจหลักของระบบการผลิตแบบโตโยต้า นั้น มีด้วยกันทั้งสิ้น 2 ประการนะคะ อันดับแรกคือ การควบคุมอัตโนมัติ (Autonomation) หรือ Jidoka ที่มาจากแนวคิดที่สามารถหยุดการเดินเครื่องได้อย่างทันท่วงที หากพบสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ (Defect) และการผลิตแบบทันเวลา (Just In Time) ที่มาจากแนวคิดที่จะผลิตแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้นในแต่ละขั้นตอนอย่างลื่นไหล ภายใต้หัวใจหลักทั้ง 2 ประการข้างต้นนี้เองนะคะ ที่ทำให้โตโยต้าสามารถผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ ส่งถึงมือผู้บริโภคอย่างเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุนในการผลิตค่ะ เอาล่ะค่ะ เราจะลองมาศึกษาไปพร้อมๆ กันว่า Jidoka และ Just In Time นั้น คืออะไรและถูกนำไปใช้อย่างไรบ้างนะคะ การควบคุมอัตโนมัติ หรือ Jidoka อย่างที่ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วนะคะว่า Jidoka นั้น เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะควบคุมคุณภาพการผลิต ไม่ต้องการผลิตของเสีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเปลี่ยนระบบเป็นการควบคุมอัตโนมัติได้ทันทีนะคะ เพราะเราจะต้อง “ไคเซ็น (Kaizen)” หรือการวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการผลิตก่อนค่ะ สำหรับเครื่องมือที่เราใช้ในการไคเซ็นนั้น ท่านผู้อ่านอาจจะใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์อย่าง P-D-A-C เพื่อหาปัญหา หรือสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการผลิตลดลง และเมื่อหาเจอแล้วก็ทำการปรับปรุงกระบวนการผลิตในเบื้องต้นก่อน ซึ่งโตโยต้า ก็ได้บอกเราเอาไว้นะคะว่าสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการผลิตลดลง นั้น มีด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ 1. Muda การทำงานที่ไม่เกิดประโยชน์ในกระบวนการผลิต 2. Mura ความไม่สม่ำเสมอในกระบวนการผลิต 3. Muri การรับภาระเกินขีดจำกัดของบุคลากรและเครื่องจักรนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ บุคลากรของเราต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญและเข้าใจกระบวนการผลิตอย่างแท้จริงค่ะ ไม่ว่าใครทำก็ต้องได้ผลงานออกมาเหมือนกัน โดยไม่ได้มีตัวบุคคลเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของชิ้นงานนะคะ ถ้าทำได้แบบนี้แล้วเราจึงจะนำการควบคุมอัตโนมัติ หรือ Jidoka เข้ามาใช้ได้ค่ะ การผลิตแบบทันเวลา หรือ Just In Time Just In Time ถูกริเริ่มโดย คุณ Kiichiro TOYODA หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท โตโยต้า และประธานบริษัท โตโยต้า รุ่นที่ 2 ค่ะ Just In Time นั้น มีแนวคิดง่าย ๆ คือ การผลิตของที่จำเป็นในเวลาที่จำเป็น และผลิตแค่จำนวนที่ต้องการ เพราะเป้าหมายหลักของ Just In Time ก็คือการลดสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการผลิตลดลง หรือที่เราเรียกว่า Muda Mura และ Muri เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพด้วยกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพนั่นเองค่ะ จากแนวคิดนี้เอง เราสามารถกล่าวได้ว่า Just In Time นั้น นำเอาความต้องการของผู้บริโภคมาเป็นตัวกำหนดปริมาณการผลิต และใช้ระบบดึง (Pull System) ซึ่งเป็นระบบที่จะผลิตตามความต้องการของขั้นตอนถัดไปในกระบวนการผลิตเท่านั้น ในการควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามความต้องการโดยไม่เกิดของเหลือค่ะ การจะนำระบบ Just In Time ไปใช้ในโรงงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการกำจัด Muda Mura และ Muri ออกไปจากกระบวนการผลิตของเราเสียก่อนค่ะ ซึ่งเราสามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น การวางแผนสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่ต้องเสียเวลาเดินไปเดินมา ไม่เกิดการเคลื่อนย้ายวัสดุในระยะทางที่มากเกินไป ไม่เกิดการปฏิบัติงานที่ไม่จําเป็น ไม่ต้องรอคอยในแต่ละขั้นตอน ไม่มีวัตถุดิบหรือสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วมากเกินไป และไม่มีการผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เป็นต้นค่ะ ถ้าเราทำได้แบบนี้แล้ว ก็จะทำให้เราสามารถลดต้นทุนการผลิต และการจัดเก็บสินค้าคงคลังได้ค่ะ การปรับปรุงกระบวนการผลิตภายใต้แนวคิด Just In Time ควบคู่ไปกับ Jidoka จะทำให้เราสามารถลดปริมาณสินค้าที่เสียหายหรือไม่ได้มาตรฐานได้ และยังช่วยให้การไหล (Flow) ของกระบวนการผลิตของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยลดเวลาทํางานของผู้ปฏิบัติงานในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้า การรอคอยการขนส่ง และสามารถป้องกันการเกิดของเสีย (Waste) จากสินค้าที่เสียหาย หรือคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานได้อีกด้วยค่ะ เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับระบบการผลิตแบบโตโยต้า หรือ TPS ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้ การลดต้นทุนอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการประคองกิจการของเราต่อไปในวันข้างหน้านะคะ เริ่มต้นง่าย ๆ จากการค้นหาปัญหาภายในโรงงานของเรา กำจัดมันทิ้งไป และเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการผลิตของเราค่ะ จริง ๆ แล้ว ระบบการผลิตแบบโตโยต้ายังมีเครื่องไม้เครื่องมืออีกมากที่น่าสนใจอีกมาก หากมีโอกาสก็จะขอนำมาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านได้ลองศึกษากันใหม่ค่ะ นางสาวเขมณัฏฐ์ เป็นเอกวงศ์ นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มา : https://global.toyota/jp/company/vision-and-philosophy/production-system/#:~:text=%E3%83%88%E3%83%A8%E3%82%BF%E7%94%9F%E7%94%A3%E6%96%B9%E5%BC%8F%E3%81%AF%E3%80%81%E3%80%8C%E7%95%B0%E5%B8%B8,%E3%81%A8%E3%81%97%E3%81%A6%E7%A2%BA%E7%AB%8B%E3%81%95%E3%82%8C%E3%81%BE%E3%81%97%E3%81%9F%E3%80%82 https://www.softbankthai.com/Article/Detail/906
14 พ.ค. 2021
ทำไงดีตกงาน?
ตกงานก็ต้องตกใจ แต่ต้องตั้งรับตั้งตัวใหม่ให้ได้ “โควิดจ๋า อย่าฆ่าฉันเลย อย่าคร่าเงินและอาชีพไปจากฉันเลย พลีสสสส” ถ้อยคำเหล่านี้อาจเป็นเสียงสะท้อนที่ดังกึกก้องในช่วงนี้ แต่สติก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องมีเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเช่นกันนะคะ ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์แรงงาน เพราะฉะนั้นหากวันดีคืนดีเรือที่เราอาศัยให้ไปถึงฝั่งฝันความสำเร็จในหน้าที่การงานดันอับปางหรือไล่เราลงกลางคันระหว่างทางจะทำยังไง? ใช่แล้วถ้าคุณโดนเลิกจ้างกะทันหัน คุณจะเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้อย่างไร 1. ได้เงินเดือนก้อนสุดท้ายกี่บาท หลังจากเป็นลมแล้วฟื้นขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตั้งสติ แล้วรีบดูรายละเอียดการให้ออกในครั้งนี้ทันที ส่วนใหญ่บริษัทจะแจ้งล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน คือให้เป็นเวลาทำใจซะมากกว่า แต่ถ้าทุกอย่างเกิดแบบกะทันหันปุบปับอยู่ ๆ รับเงินเดือนเสร็จแล้วเซย์กู๊ดบาย Go out หรือบอกเพียงแค่ไม่กี่วัน คุณรู้เอาไว้เลยนะว่านอกจากเงินเดือนเดือนนั้นๆ ที่บริษัทต้องจ่ายเราตามปกติแล้ว เราจะต้องได้ค่าตกใจเป็นเรทเงินเดือนเดือนล่าสุดของเราเพิ่มอีก 1 เดือนด้วย ต่อมาก็ต้องพลิกปฎิทินดูว่าเราทำงานที่บริษัทนี้มากี่ปีแล้ว โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2555 ซึ่งอันนี้เราควรคำนวณไว้ก่อน เพื่อไปรีเช็คกับฝ่ายบุคคลของบริษัทหรือกับนายจ้าง ว่าเขาจ่ายให้เราครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ เรื่องเงินชดเชยในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับหากต้องออกจากงานโดยไม่มีความผิด ดอกจันตัวโต ๆ ไว้เลยนะคะเหล่าแรงงานทุกท่าน 2. ได้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเปล่า สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลังจากที่เราถูกเลิกจ้าง นายจ้างก็จะยุติการจ่ายเงินสมทบให้กับเราหรือเท่ากับสมาชิกกองทุนของเราได้สิ้นสุดลง แล้วแจ้งฝ่ายบุคคลหรือนายจ้างตั้งแต่เนิ่น ๆ ต้องพูดคุยเช็คทุกสิ่งที่ HR เคยบอกตอนเราเซ็นสัญญาให้เรียบร้อยก่อน 3. ได้อะไรบ้างจากประกันสังคม ก็มาดูกันว่าประกันสังคมที่เราโดนหักกันอยู่ทุกเดือนนั้น ในยามหน้าวิกฤติเช่นนี้ มีความช่วยเหลืออะไรบ้างที่จะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง ก็เข้าไปดูมาตรา 33 ได้เลยจ้า หากเกิดข้อสงสัยอะไรก็ยกหูถามเลยค่ะ อย่าคิดว่าสิ่งที่เรารู้ถูกไปกว่าคนที่กำหนดมันขึ้นมาเด็ดขาดค่ะ 4. ได้แล้วอย่าใช้หมด หลังจากผ่านมรสุมการตกงานมาได้ สิ่งที่ควรทำก็คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตั้งแต่วันแรกที่ว่างงาน ซึ่งในความเป็นจริงควรทำทุกวันให้เป็นนิสัยตั้งแต่ในยามปกติแล้ว เราจะได้ตรวจดูการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือสุรุ่ยสุร่ายได้แต่เนิ่น ๆ อีกอย่างก็เหมือนเป็นการป้องกันเงินที่ควรมีไม่ให้หายไปจากกระเป๋าเงินคุณนั่นเอง สำหรับใครที่ตกงานก็อย่าเพิ่งคิดสั้นหรือหมดหวัง เพราะพี่ตูนบอกไว้ว่าชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอยังไงล่ะคะ ขอแค่คุณไม่ตายไปก่อน ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอค่ะ สู้ สู้ ค่ะ นางสาวสดใส บัวลอย นักวิชาการอุตสาหกรรม กลุ่มศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรมกองยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มา https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/sudden-unemploy.html
07 พ.ค. 2021
การปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐจากภัตตาคารสู่ร้านอาหารตามสั่ง
หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยราชการของไทยเราสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น การแบ่งตามลักษณะการจัดตั้ง การแบ่งตามภารกิจ การแบ่งตามคุณลักษณะวิชาชีพ การแบ่งตามพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งเราท่านก็ทราบและใช้บริการกันเป็นปกติอยู่แล้ว ในที่นี้ผมจะไม่พูดถึงประเภทของหน่วยราชการทั้งหมด แต่จะขอพูดถึงหน่วยงานที่มีโอกาสสูญสลายไปในอนาคตหากยังไม่ปรับตัว โดยจะยกหน่วยราชการที่แบ่งตามภารกิจเป็นหลัก ก่อนอื่นก็ขอปูพื้นเนียน ๆ ให้เข้าใจก่อนว่า “ภารกิจ” นั้นคือ หน้าที่ตามกฎหมายที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ นั่นเอง แต่ละหน่วยงานก็จะมีภารกิจแตกต่างกันออกไป อาจมีคล้ายกันบ้าง ทับซ้อนกันในเชิงพื้นที่หรือวิธีการปฏิบัติบ้าง แต่จะไม่เหมือนกันในทางกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบภารกิจของหน่วยราชการไทย 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านกำกับ ดูแล และบังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ ทหาร ป่าไม้ สรรพากร และหน่วยงานด้านปกครอง เป็นต้น 2. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนโดยตรง เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เช่นเทศบาล/ตำบล/อำเภอ/จังหวัด การไฟฟ้า การประปา กรมขนส่งทางบก เป็นต้น 3. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา ได้แก่ หน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือหรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น สังเกตได้ง่าย ๆ คือหน่วยงานเหล่านี้มักมีชื่อขึ้นต้นด้วย”พัฒนา หรือ ส่งเสริม” เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือกรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น 4. หน่วยงานประเภทวิชาการ หน่วยงานกลุ่มนี้มีหน้าที่ คิด ค้นคว้า วิจัย สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยฯ สสวท. สวทช. เป็นต้น หน่วยงานที่มีแนวโน้มจะสูญสิ้นและต้องปรับตัวตามหัวข้อของบทความนี้คือหน่วยงานประเภทที่ 3 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ในทุกกระทรวง เพราะอะไร เพราะตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานเหล่านี้มักจะใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในหน่วยงานหรือความเชี่ยวชาญของบุคลากรในหน่วยงานเป็นสารตั้งต้นในการให้บริการครับ หากจะให้เห็นภาพก็เช่น การจัดฝึกอบรมให้ความรู้ในการประกอบอาชีพกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หน่วยงานก็มักจะกำหนดหลักสูตรไว้ก่อนหรือนำหลักสูตรที่เคยจัดเคยมาใช้อยู่เสมอมาสอน อาจมีการเปลี่ยนวิทยากรบ้าง เปลี่ยนพื้นที่ฝึกอบรมบ้าง เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายบ้าง แต่อย่าลืมว่าโลกทุกวันนี้มีความรู้แขวนอยู่ในระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเรียนรู้ได้เองเพียงแค่มีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต อาจจะมีเพียงกลุ่มเล็กสุด ๆ เป็นส่วนเล็กน้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ แต่ท่านเชื่อเถอะว่าในอนาคตอีกไม่นานต่อให้เป็นเด็กเลี้ยงควายอยู่กลางทุ่งก็สามารถนอนดูหนังบนหลังควายได้ครับ ระบบการส่งเสริม การสนับสนุน และการพัฒนาของหน่วยงานในรูปแบบนี้ผมเรียกว่า “ระบบภัตตาคาร” เนื่องจากหน่วยงานจะมีแค่รายการส่งเสริมพัฒนาแบบเมนูของร้านให้ประชาชนเลือก เมื่อก่อนประชาชนไม่มีโอกาสเลือกเมนูเองด้วยซ้ำ มีอะไรก็สอนไป พัฒนาไป ตามแต่หน่วยงานจะนึกอะไรได้ ในปัจจุบันดีขึ้นนิดหน่อยที่ยังมีการถามว่าท่านอยากทานอะไร? ที่เราเรียกว่า “การสำรวจความต้องการของผู้รับบริการ หรือ Need” นั่นเอง มาถูกทางแล้วแต่ยังไปไม่สุดทางครับ เพราะว่าต่อให้เราบอกให้ผู้รับบริการหรือประชาชนเลือกสิ่งที่อยากได้ อยากพัฒนา แต่หน่วยงานภาครัฐเองก็ยังมีรายการพัฒนา หรือหลักสูตรความรู้ตามที่มีอยู่ในเมนูเท่านั้น หากต้องการอะไรที่นอกเหนือไปจากเมนูหรือรายการประชาชนหรือผู้รับบริการก็ต้องร้องเพลงลา แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้นครับคงยอมให้บอกลาไม่ได้ไหน ๆ ก็มาแล้ว เจ้าหน้าที่ภาครัฐจึงมักจับคนเหล่านั้นเข้ากระบวนการพัฒนาหรือฝึกอบรมหลักสูตรอื่นแทนเพื่อให้ได้เป้าหมายครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในโครงการที่ตนเขียน ถามว่ากรณีแบบนี้ใครได้ประโยชน์ เจ้าของโครงการครับได้ประโยชน์เพราะได้เป้าตามโครงการ แล้วใครเสียประโยชน์ อันดับแรกก็คือ ผู้รับบริการหรือประชาชนคนนั้นนั่นแหละ เสียทั้งเวลา บางครั้งก็เสียเงินในการเดินทาง และหากวิทยากรหรือเจ้าหน้าที่ที่มาให้ความรู้ไม่เก่งหรือเก่งน้อยกว่าคนเข้าร่วมโครงการด้วยแล้ว ก็จะเกิดการเสียความรู้สึกตามมา ผลกระทบคือ หน่วยงานเสียหน้า รัฐเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เพราะทุกโครงการมีต้นทุนและต้นทุนเหล่านั้นก็มาจากภาษีของประชาชนที่หน่วยงานได้รับมาในรูปของงบประมาณ นี่คือข้อเสียและผลกระทบของการทำงานแบบภัตตาคารร้านหรูของหน่วยงานภาครัฐ สุดท้ายประชาชนก็จะร้องยี้กับการให้บริการแบบนี้และหน่วยงานนั้นก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีผู้รับบริการ เมื่อไม่มีผู้รับบริการก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานนั้นอีกต่อไป หากต้องการให้หน่วยงานอยู่รอด จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการให้บริการครับ นึกไปถึงร้านอาหารตามสั่งที่มีอยู่ดาษดื่นเต็มประเทศไทยสิครับว่าเค้ามีวิธีขาย (การให้บริการ) กับลูกค้าอย่างไร ผมเชื่อว่าทุกท่านคงนึกออก เพียงแค่เราเข้าไปในร้านแล้วสั่งอาหารตามที่เราอยากทาน รับรองว่าในร้านตามสั่งทำอาหารตามเมนูที่ลูกค้าต้องการได้มากกว่าภัตตาคารแน่นอน ทำไมร้านตามสั่งถึงทำได้ตามที่ลูกค้าต้องการซึ่งมันมีความหลากหลายแบบสุด ๆ นั่นเพราะร้านตามสั่งจะเตรียมองค์ประกอบที่สำคัญ 2 อย่างอยู่เสมอครับ นั่นคือ 1 วัตถุดิบที่หลากหลาย พ่อครัวแม่ครัวที่มีความสามารถ เท่านี้ไม่ว่าจะอยากทานอะไรแบบไหนก็ทำได้ตามความต้องการของลูกค้าทั้งนั้น หันกลับมามองหน่วยงานราชการประเภทส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบ้าง หน่วยงานเหล่านี้มักมีวัตถุดิบที่สำคัญอยู่แล้วนั่นคือ องค์ความรู้ และบุคลากรที่มีคุณภาพ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ “วิธีการ” ให้บริการ หรือก็คือ วิธีการส่งเสริมและพัฒนา นั่นเอง อันดับแรกที่ต้องทำคือการสำรวจความต้องการของประชาชนหรือผู้รับบริการ ต่อมาก็สำรวจและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ให้ครอบคลุมทุกด้านเพื่อจะได้กำหนดปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานบริการของหน่วยงานตนเอง ตามด้วยการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถตรงกับผลการวิเคราะห์จาก 2 ส่วนแรกนั้น เท่านี้หน่วยงานของท่านก็จะมีวัตถุดิบที่หลากหลายและพ่อครัวที่มากความสามารถอยู่ในมือแล้วครับ ส่วนการให้บริการจากเดิมที่เคยยื่นเมนูให้เค้าเลือกก็เปลี่ยนเป็นการรับความต้องการของผู้รับบริการแต่ละรายได้เลย แล้วกลับมาพิจารณาสิ่งที่มีอยู่ในหน่วยงานว่าสามารถช่วยเหลือหรือพัฒนาผู้รับบริการตามที่เขาต้องการได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ดำเนินการได้เลยครับ ถ้าไม่ได้ก็หาตัวช่วย เช่น เชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วย หรือส่งต่อให้หน่วยงานที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้นเป็นผู้ช่วยเหลือแทน แต่ทั้งนี้อาจมีข้อโต้แย้งว่า แต่ละคนต้องการไม่เหมือนกันแล้วจะให้บริการยังไงไหว? ไหวสิครับ ความต้องการพื้นฐานมีไม่กี่ประเภทหรอก เช่น ความต้องการในการดำเนินธุรกิจ ก็จะมีแค่ เงินทุน/เงินหมุนเวียน เทคโนโลยี และการตลาด เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเวลาท่านให้บริการ ท่านก็เพียงแค่รวบรวมผู้รับบริการที่มีความต้องการเหมือนกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันมาเข้ารับการพัฒนาพร้อม ๆ กันนั่นเองครับ หากทำได้แบบนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ผู้รับบริการของท่านจะได้สิ่งที่ตรงตามความต้องการ (ตามสายงานของท่าน) ท่านจะกลายเป็นที่พึ่งหลักให้คนเหล่านั้นแล้วก็จะทำให้ท่านมีผู้รับบริการต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต และไม่ถูกยุบแน่นอน จงจำไว้ว่า “ก่อนจะพัฒนาเขา เราต้องพัฒนาตัวเองก่อน” ครับ นายอมรพงศ์ แสนสุข ผู้อำนวยการกลุ่มติดตามและประเมินผล กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
29 เม.ย. 2021