999 บาท ก็เล่นหุ้นได้
ว่าด้วยเรื่อง หุ้น หุ้น สำหรับคนที่เริ่มสนใจการลงทุนในหุ้นแต่ไม่อยากลงทุนเยอะ ลองเริ่มต้นจากเงินไม่ถึงหนึ่งพันบาท กันปัจจุบันด้วยจำนวนโบรกเกอร์ที่มากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันของโบรกเกอร์สูง ทำให้บางโบรกเกอร์ใช้ Statement เป็นเพียงหลักฐานประกอบเท่านั้น และไม่ได้กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำ หรือบางโบรกเกอร์ ใช้แค่หลักฐานหน้าสมุดบัญชีธนาคาร (Bookbank) ก็เพียงพอแล้วที่จะสามารถ ทำให้การเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใช้เงินและสะดวกมากขึ้นกว่าสมัยก่อน โดยการเริ่มต้นมีขั้นตอนและหลักการ ดังนี้ ขั้นตอนการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น 1. สมัครเปิดบัญชีออนไลน์ในเว็บของโบรกเกอร์ที่สนใ0 2. ส่งหลักฐานการเงินต่าง ๆ ให้ทางโบรกเกอร์ตรวจสอบ 3. เมื่อตรวจสอบสำเร็จจะได้รหัสผ่านสำหรับเข้าไปซื้อขายหุ้นในเว็บหรือแอปพลิเคชันของทางโบรกเกอร์ เมื่อได้บัญชีซื้อขายหุ้นแล้ว หลังจากที่ทางโบรกเกอร์ตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ สำเร็จแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญนั่นคือ “การซื้อหุ้นตัวแรก” นั่นเอง มีคำแนะนำสำหรับหุ้นตัวแรกที่ควรจะซื้อเข้าพอร์ต ดังนี้ 1. ควรซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า 10 บาท เนื่องจากการซื้อขายหุ้น ทางตลาดหลักทรัพย์จะบังคับให้ซื้อทีละ 100 หุ้น ดังนั้นถ้าเราซื้อหุ้น ABC (ชื่อสมมติ) ราคา 5 บาท เราต้องซื้อจำนวน 100 หุ้น เราก็จะเสียเงินทั้งหมด 500 บาท ซึ่งการซื้อหุ้นครั้งแรกมักจะขาดทุนอยู่แล้วเพราะเราไม่มีความรู้ แต่เราจะเข้าใจการทำงานของตลาดหุ้นมากขึ้น 2. การหาหุ้นตัวแรก ในการหาหุ้นตัวแรกที่จะซื้อนั้น อยากให้ลองหาจากรายชื่อใน SET50 (หุ้น 50 ตัวแรกที่มีมูลค่าเยอะที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย) เพื่อนั่งดูว่าธุรกิจหรือกิจการของหุ้นตัวนั้นทำอะไร เราเคยใช้บริการหรือซื้อสินค้าของเขาแล้วเราอยากจะเป็นเจ้าของหรือไม่ กิจการมีแนวโน้มจะเติบโตในอนาคตได้หรือไม่ รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ 3. ควรซื้อหุ้นที่เรารู้จัก นอกจากเรื่องราคาแล้วเราก็ควรซื้อหุ้นที่เรารู้จัก แม้จะดูงบการเงินของหุ้นตัวนั้นไม่เป็นเลยก็ตาม หุ้น คือ กิจการธุรกิจอย่างหนึ่งไม่ใช่ตัวเลขวิ่งไปวิ่งมาเฉย ๆ ให้เราคิดว่าเรากำลังจะซื้อกิจการนั้น ๆ เราอยากซื้อกิจการที่ได้กำไรทุกปีหรืออยากได้กิจการที่ขาดทุนทุกปี (ในตลาดหุ้นมีแบบนี้เยอะ) วิธีที่ง่ายที่สุดคือไปหาว่าเราสนใจธุรกิจใด แล้วธุรกิจนั้นมีในตลาดหุ้นหรือไม่ นอกจากนั้นก็ดูว่าลูกค้าเยอะหรือไม่ ไปลองใช้บริการดูว่าพนักงานบริการดีไหม คิดเหมือนว่าเราจะซื้อกิจการนั้นเลย 4. หุ้นในพอร์ต สำหรับมือใหม่แนะนำว่าควรถือหุ้นแค่ประมาณ 3 – 5 ตัวในพอร์ต เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามข่าวสาร ถ้ามีเยอะเกินไปจะดูแลไม่ทั่วถึง และถ้ามีหุ้นน้อยเกินไปก็จะเหมือนใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงสูงเกินไปจึงควรกระจายการลงทุนออกมา เราก็จะได้เห็นว่าราคามันขึ้น ๆ ลง ๆ ทุกวัน ซึ่งเราอาจจะตื่นเต้นทุกครั้งที่หุ้นในพอร์ตกำไร หรือปวดใจทุกรอบที่เห็นราคาที่เคยซื้อต่ำลง แต่นี่แหละคือธรรมชาติของหุ้น ในระยะสั้นราคาอาจจะมีขึ้นมีลง ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ในระยะยาวถ้าคุณซื้อบริษัทที่ดี ราคาของหุ้นจะเพิ่มขึ้นเองตามผลประกอบการ การที่หุ้นตัวแรกของเราจะกำไรหรือขาดทุนไม่ได้บ่งบอกว่าเราเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่หุ้นตัวแรกนี้คือ “ค่าเล่าเรียน” เพื่อดูว่าเราจะอยู่กับตลาดหุ้นได้หรือไม่ แต่หุ้นตัวต่อไปต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ในการเลือกมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไร ไม่ควรมาเลือกมั่ว ๆ แบบหุ้นตัวแรก ๆ สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในวันนี้ก็เพียงต้องการจะบอกว่าแค่มีแบงค์พันใบเดียวก็เล่นหุ้นได้แล้ว ซึ่งผมไม่ได้พูดขึ้นลอยแต่เกิดจากการศึกษาและหาความรู้ ใช่แล้วครับ! หนึ่งในแหล่งความรู้ของผมก็คือ SET นั่นเอง ถ้าคุณอยากศึกษาหาอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นก็กดลิ้งก์ด้านล่างเลยครับ ขอให้โชคดีในการเล่นหุ้นนะครับ ที่มา https://stockradars.news , https://www.set.or.th
17 ก.ย. 2563
Six Sigma ปรับปรุงธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ ปั้นกำไรอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน Six Sigma ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในการปรับปรุงกระบวนการทั้งในภาคการผลิตและงานบริการ วันนี้ผู้เขียนได้นำ D-M-A-I-C (Define, Measure, Analyze, Improvement, Control) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกระบวนการทำงานของ Six Sigma มาแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ลองใช้ดู ซึ่งผู้เขียนเคยนำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อลด Lead Time ของกระบวนการผลิต ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนคนงานและจำนวนเครื่องจักร เมื่อสมัยทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม D-M-A-I-C เป็นขั้นตอนของการเรียบเรียงกระบวนการทางความคิด และเป็นแนวทางที่องค์กรส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้ในการระบุสาเหตุ ในการลดความสูญเสียจากการดำเนินงาน หรือ อาจเรียกว่า Problem Resolution โดย D-M-A-I-C จะมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหลังจากปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว เพื่อจะปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้มีคุณภาพตามกำหนด และเพื่อให้ทุกคนจดจำได้ง่ายขึ้น ลองจำเป็น D-MAI-C (ดี-ไหม-ครับ หรือ ดี-ไหม-คะ) แล้วแต่ที่สะดวกได้เลยค่ะ ผู้เขียนขออธิบายถึงรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนให้เพื่อน ๆ ได้มองเห็นภาพได้ง่ายขึ้นนะคะ ไปเรียนรู้กันทีละตัวเลยค่ะ Define คือ ขั้นตอนของการนิยามหรือกำหนดปัญหาให้เข้าใจตรงกัน เลือกโครงการที่จะทำการปรับปรุงหรือออกแบบ เช่น เลือกกระบวนการผลิตที่เป็นกระบวนการคอขวด (Bottleneck Process) หรือ กระบวนการผลิตที่เกิดของเสียสูงที่สุด เพื่อให้โครงการที่เลือกทำนั้นเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ทำแล้วคุ้มค่า ตรงประเด็นไม่เสียเวลา Measure คือ การนำปัญหาที่เรากำหนดแล้ว มาทำให้เป็นตัวเลข หรือสร้างเกณฑ์ชี้วัดสภาพปัญหา เช่น การวัดความสามารถของกระบวนการผลิต การวัดของเสีย การวัดประสิทธิผล ฯลฯ Analyze คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำการวัดมาแล้ว เพื่อพิสูจน์หาตัวแปรที่สำคัญที่สุดในกระบวนการ (Key process variable) ที่เป็นต้นตอสาเหตุของปัญหาที่นิยามไว้ เช่น การผลิตสินค้าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของลูกค้าในขั้นตอนนนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะถ้ากำหนดตัวแปรที่สำคัญผิดก็ไม่สามารถปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นได้ Improve คือ การปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น หลังจากที่เราสามารถหาตัวแปรที่มีผล หรือนัยสำคัญในกระบวนการทำงานได้แล้ว เราก็ลงมือปรับปรุงกันได้เลย Control คือ การควบคุมกระบวนการทำงานให้อยู่ภายใต้การทำงานอย่างมีมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ โดยเราสามารถควบคุมการกระบวนการทำงานอย่างมีมาตรฐาน ด้วยการออกเอกสารมาตรฐาน (Standard Document) หรือ Statistical process control (SPC) ในการควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิต Six Sigma เป็นหนึ่งในหลายร้อยวิธีที่อาจจะคลิกกับปัญหาที่ธุรกิจของท่านกำลังประสบอยู่จนสามารถคลายปมที่ยุ่งเหยิงพลิกวิกฤติกลับไปสู่กำไรที่เพิ่มขึ้นพอกพูนได้ อ่านมาถึงบรรทัดนี้คงรู้แล้วใช่ไหมคะว่าวิธีการนี้ไม่ยากอย่างที่คิด ลองนำไปปรับใช้กันดูแล้วจะรู้ว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอถ้าเราใช้กุญแจถูกดอกค่ะ แหล่งที่มา 1. https://www.dropbox.com/th_TH/business/resources/dmaic 2. https://www.solutioncenterminitab.com/blog/lean-six-sigma-terms-dmaic-dmadv-dfss-2/ บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น
10 ก.ย. 2563
PMQA อิหยังวะ!
PMQA ย่อมาจาก Public sector Management Quality Award หรือแปลเป็นภาษาไทยว่ารางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นกรอบการประเมินองค์การด้วยตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นในการปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง ใครเคยสงสัยบ้างครับ ว่าอะไรคือ การบริหารจัดการที่ดี หรือ ระบบราชการที่ดี ความคิดของทุกคนคงผุดขึ้นมาจนล้นสมอง ถ้าให้ยกมือก็คงมือพันกันระวิงเลยใช่ไหมครับ งั้นมาลองไล่ความสำคัญไปพร้อม ๆ กันดีกว่า เริ่มจากการมองสภาพแวดล้อม ในปัจจุบันที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับปรุงหรือปฏิรูป จากแนวคิดของการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐสู่ระบบราชการ 4.0 เพื่อให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 จึงมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ภาครัฐสามารถเป็นที่พึ่ง เชื่อถือและไว้วางใจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดกลไกการขับเคลื่อนการนำเครื่องมือประเมินสถานการณ์เป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) มาใช้ในการยกระดับการบริหารจัดการองค์การไปสู่ระบบราชการ 4.0 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำเครื่องมือไปวิเคราะห์องค์การด้วยตนเองเพื่อหาโอกาสในการปรับปรุงองค์การ และนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาองค์การ นำไปสู่การยกระดับองค์การให้เป็นระบบราชการ 4.0 โดยมุ่งเน้นให้ปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้านและอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั้ง 7 หมวด ซึ่งถ้าเจาะลึก ๆ ระดับการพัฒนาก็มี 3 ระดับ ได้แก่ Basic Advance และ Significance ลองนึกภาพเล่น ๆ ก็จะเปรียบเหมือนคนที่ชอบเล่นเกม ขั้นแรกก็เปรียบเหมือนคนที่เล่นเกมเป็น ขั้นต่อไปก็ยกระดับหน่อยเปรียบเหมือนคนเล่นเกมที่ติดลำดับ ขั้นสุดก็อยู่ในเลเวลที่เล่นเกมจนได้รางวัล ก็จะประมาณนั้นครับ เวลาเราขายของยังหวังผลกำไร นับประสาอะไรกับการทำงานเราก็ต้องมีเรือธงใช่ไหมครับ ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 ก็จะดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (Better Governance, Happier Citizens) สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีหน้าที่ต้องขลุกหรือคลุกวงในกับการประเมินองค์การ หรือ PMQA ทุกวัน ผมว่าแค่รู้ไว้ว่าหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มีอะไรบ้าง แล้วมันดีอย่างไร? ก็เท่มากแล้วครับสำหรับคนในเครื่องแบบสีกากี เริ่มเลยนะครับ Go Go Go 1. ระบบราชการที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน (Open & Connected Government) เป็นการทำงานที่เปิดเผยโปร่งใสในการทำงาน โดยบุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการหรือมีการแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันและสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานได้ ตลอดจนเปิดกว้างให้กลไกหรือภาคส่วนอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม และโอนถ่ายภารกิจที่ภาครัฐไม่ควรดำเนินการเองออกไปให้แก่ภาคส่วนอื่น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแทน โดยการจัดระเบียบความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้างให้สอดรับกับการทำงานในแนวระนาบ ในลักษณะของเครือข่าย มากกว่าตามสายการบังคับบัญชาในแนวดิ่ง ขณะเดียวกันก็ยังต้องเชื่อมโยงการทำงานภายในภาครัฐด้วยกันเองให้มีเอกภาพและสอดรับประสานกันไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น 2. ระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Government) ต้องทำงานในเชิงรุก และมองไปข้างหน้า โดยตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่าประชาชนจะได้อะไร มุ่งเน้นแก้ไข ปัญหาความต้องการและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนเข้ามาติดต่อขอรับบริการหรือร้องขอความช่วยเหลือจากทางราชการ (Proactive Public Services) รวมทั้งใช้ประโยชน์จากข้อมูลของทางราชการ (Big Government Data) และระบบดิจิทัลสมัยใหม่ในการจัดบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของประชาชน (Personalized หรือ Tailored Services) พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกโดยมีการเชื่อมโยงกันเองของหน่วยงานราชการเพื่อให้บริการต่าง ๆ สามารถเสร็จสิ้นในจุดเดียว ประชาชนสามารถใช้บริการของทางราชการได้ตลอดเวลาตามความต้องการ และสามารถติดต่อได้หลายช่องทางผสมผสานกัน ทั้งการติดต่อด้วยตนเอง ติดต่อผ่านอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ 3. หน่วยงานของรัฐมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance Government) คือกระบวนการทำงานที่ต้องทำงานอย่างเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงสร้างนวัตกรรมหรือความคิดริเริ่มและประยุกต์องค์ความรู้ในแบบสหสาขาวิชาเข้ามาใช้ในการตอบโต้กับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เพื่อสร้างคุณค่า มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการตอบสนองกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันเวลา ตลอดจนเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูงและปรับตัวเข้าสู่สภาพความเป็นสำนักงานสมัยใหม่ รวมทั้งทำให้ข้าราชการมีความผูกพันต่อการปฏิบัติราชการและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมกับบทบาทของตน (ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแล ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติ) ใช่แล้วครับ การจะพัฒนาไปสู่ระบบราชการ 4.0 จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ในการทำงานร่วมกัน มองเป้าหมายร่วมกัน มิใช่เฉพาะภาครัฐเพียงส่วนเดียว รวมถึงการคิดค้นและแสวงหาวิธีการหรือแนวทาง (Solutions) ใหม่ ๆ หรือการสร้างนวัตกรรมนั่นเองครับที่จะมีช่วยให้สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศหรือตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี และที่ขาดไม่ได้ก็คือการปรับตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องได้รับการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด (Mindset) ให้ตนเองมีความเป็นผู้ประกอบการสาธารณะ (Public Entrepreneurship) เพิ่มทักษะให้มีสมรรถนะที่จำเป็นและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน อันจะช่วยทำให้สามารถแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) เพื่อสร้างคุณค่า (Public Value) และประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน ดังนั้นนะครับ หากผู้อ่านเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล หรือเป็นผู้กำกับดูแล หรือจะเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรงเลยก็ดี ก็อย่าลืมยึดหลักปัจจัยสำคัญที่เป็นเหมือนกุญแจสำคัญเหล่านี้ที่จะทำให้หน่วยงานของท่านบรรลุเป้าหมาย และมีผลการประเมินในระดับที่คาดหวังไว้ได้อย่างง่ายดายครับ พอหอมปากหอมคอ ถ้าใครยังเอ๊ะอ๊ะ สงสัยในบางประเด็นผมแนบลิ้งก์เล่ม PMQA 4.0 ไว้ด้านล่างนะครับ ผมพร้อม คุณพร้อม ประเทศไทยพร้อม ระบบราชการ 4.0 ก็ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เราวาดฝันอีกต่อไปครับ ที่มา คู่มือการประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 : https://www.opdc.go.th/content/Mjc3Mg ความหมายเกี่ยวกับ PMQA : http://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/pmqa.pdf
31 ส.ค 2563
ณ จุด ๆ นี้ (ไทย-โลก) อาการเป็นยังไงบ้าง?
ธุรกิจพัง ลงกำลังก็สูญเปล่า เงินก็ต้องเอาไปใช้หนี้ กี่ปีถึงได้กำไร?...การทำธุรกิจในยุคนี้ดูน่ากลัวและหมดหวัง แต่ลองมองกลับกันถ้าเราปรับตัวเป็นและมองให้เห็นโอกาส การทำธุรกิจในยุคสมัยไหนหรือในภาวะวิกฤติอะไรก็สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะแนวคิดหรือหลักการอะไรที่เขาถ่ายทอดกันมาว่าดี หรือข้อมูลอะไรที่บอกต่อ ๆ กันมาว่ามันสำคัญ อย่ามองข้ามเป็นอันขาดเพราะจุดเล็ก ๆ อาจจะเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจที่คุณกำลังมองหาอยู่ก็ได้ จากข้อมูลประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการวิเคราะห์สถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง! และข้อไหนประเด็นอะไรที่กระทบเราแบบจัง ๆ หรือกระทบแบบอ้อมโลกบ้าง? สถานการณ์ภายในประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ยังคงมีแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศในระยะยาวอยู่ รัฐบาลได้ออกนโยบายในการพัฒนาประเทศในหลากหลายด้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนในด้านความเป็นอยู่เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบของไทยอาจส่งผลด้านโครงสร้างแรงงานที่ช่วงวัยเด็กและวัยทำงานมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้กระทบต่อความสามารถด้านการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็อย่ามองข้ามเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองในการซื้อและมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากมีเงินเก็บจากการทำงานหนักมาทั้งชีวิต จึงมีศักยภาพสูงในการบริโภค จึงสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต ข้ามมาประเด็นข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและความเป็นอยู่ของประชาชน การจัดหาวัตถุดิบหรือ Supplier ธุรกิจควรต้องบริหารจัดการอย่างรอบคอบ เพราะฉะนั้นการดำเนินธุรกิจในตอนนี้จึงควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในสาขาสินค้าหรือบริการที่เราสนใจจะลงทุนเปิดธุรกิจรอบด้านเสียก่อน สถานการณ์ภายนอกประเทศ ด้านเศรษฐกิจอย่าง Trade war หรือสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนได้ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศเทศรวมถึงประเทศไทยเราด้วย การย้ายเสรีของคน เงินทุน ข่าวสาร เทคโนโลยี และฐานการผลิตมาเอเชีย การรวมกลุ่มของเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่วนด้านเทคโนโลยีก็กำลังเติบโตและสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก การเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลโดยตรงกับปัญหาแรงงานทั้งภาคการผลิต การค้าและบริการ ส่วนด้านหลักการบริหารจัดการที่ดี ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก็เป็นอีกเรื่องที่สังคมโลกให้ความสนใจในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประชากรโลกที่อาจเกิดปัญหาการแย่งชิงแรงงานและเงินทุนตามมาก็เป็นเรื่องที่กำลังหาทางป้องกันกันอยู่ และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจนก่อให้เกิดภัยทางธรรมชาติที่อาจกระทบถึงความมั่นคงด้านอาหารของโลกและการดำเนินชีวิตประจำวัน วิกฤตการณ์โควิด-19 ได้ทิ้งบาดแผลให้ผู้ประกอบการไม่น้อย ซึ่งการวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศก็จะทำให้เรามองเห็นภาพปัจจุบันในมุมกว้างได้ดียิ่งขึ้น ทั้งปัญหาและเทรนด์ที่สังคมไทยและสังคมโลกให้ความสำคัญ อะไรที่ควรให้ความสนใจ ใส่ใจเป็นพิเศษ ก็หยิบเรื่องนั้นมาพลิกแพลงกับสินค้าและบริการของเรา หรืออะไรที่เราควรตัดใจก็พับโครงการซะก่อนที่จะเกิดผลเสียบานปลาย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้คุณสามารถพยากรณ์ปัญหาและคิดวางแผนธุรกิจให้รัดกุมเพื่อปิดอุปสรรคที่อาจจะขัดขวางความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้ ...อย่าเพิ่งท้อนะคะ ถ้ามีปัญหาธุรกิจคิดอะไรไม่ออก ก็อยากให้นึกถึง DIProm (ดีพร้อม) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่จะคอยก้าวไปเป็นเพื่อนผู้ประกอบการเสมอ ไม่ทอดทิ้งแม้ยามลำบาก ...สู้ ๆ ค่ะ Fighting! ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
04 ส.ค 2563
ใคร FIT กว่ากัน?
ถ้าพูดเรื่องความ Fit ทุกคนคงนึกถึงความฟิตแอนด์เฟิร์มของร่างกายเป็นอันดับแรก แต่ถ้าในมุมมองนักกลยุทธ์หรือนักธุรกิจก็จะแปลความหมายว่า “สอดคล้อง” ซึ่งความสอดคล้องก็มีเยอะแยะแต่วันนี้ขอพูดถึงการบริหารจัดการองค์กรว่ามีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ระดับองค์กรที่คุณเจ้าของบริษัทเลือกหรือเปล่า คล้ายกับการตัวสุขภาพตัวเองว่า Fit หรือเปล่า แต่เปลี่ยนมาเป็นตรวจสุขภาพองค์กรว่ายัง Fit กับองค์กรหรือเปล่า เป็นการสอดส่องตัวเองให้สอดคล้องกลยุทธ์ เอาสั้น ๆ ง่าย ๆ กระชับ ๆ เลยนะคะ กลยุทธ์ระดับองค์กรที่ว่าก็คือ บริษัทเราจะเป็นผู้นำด้านไหน ระหว่าง Differentation กับ Cost Leadership โดยขั้นตอนการตรวจดูว่าเรา Fit หรือไม่ Fit กับพี่ยุทธ์นั้นก็แสนจะง่ายดายเพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้นค่ะ 1. สภาพแวดล้อมภายในองค์กร มี VMG : Vision Mission Goal) เป็นยังไง 2. สภาพแวดล้อมทั่วไปภายนอกองค์กร (PESTI : Political, Economical, Socio-cultural, Technological, International) และสภาพแวดล้อมการแข่งขัน (FiveForce : Current Competitors, New entrant, Suppliers, Substitute, Buyers) ตอนนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว 3. วินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบ Component ขององค์กร 1) กลยุทธ์ขององค์กรเป็นอย่างไร เป็นผู้นำด้านต้นทุน ลูกค้ามีความต้องการที่คล้าย ๆ กัน หรือผู้นำด้านความแตกต่าง ลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลาย 2) โครงสร้างองค์กรเป็นอย่างไร มีความยืดหยุ่น กระจายอำนาจ (Organic) หรือ ตามสายบังคับบัญชา (Mechanistic) 3) ระบบการวัดการประเมินขององค์กรเป็นอย่างไรตามแนวคิด BSC องค์กรนี้มีตัวชี้วัดด้านใดบ้าง 4) การจัดการทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างไร เกี่ยวกับการรับสมัคร การคัดเลือก การประเมินผล การให้รางวัล การพัฒนา 5) ประเภทหรือลักษณะเทคโนโลยีขององค์กรเป็นอย่างไร (Small batch, Large batch, Continuous) 6) วัฒนธรรมขององค์กรเป็นอย่างไร (Group culture, Developmental culture, Market culture, Bureaucratic culture) เราวินิจฉัยองค์กรเราก็เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะต้อง Change อะไรบ้าง โดยดูว่ากลยุทธ์ระดับองค์กรที่เราเลือกสอดคล้องกับ Component แต่ละข้อหรือไม่เพราะอะไร ซึ่งพอเช็คครบทั้ง 6 องค์ประกอบแล้วทีนี้แหละจ้าพี่จ๋า จะรู้เลยว่าสิ่งที่เราฝัน กลยุทธ์ที่เราเลือก มันสัมพันธ์ไปทิศทางเดียวกันกับการดำเนินงานที่กำลังทำอยู่หรือเปล่า และจะรู้ได้ทันทีว่าที่เราไม่ Success มันเป็นเพราะประเด็นไหน หรือเราพลาดตกหล่นหลงลืมเรื่องอะไรไป อย่าลืมว่าเวลาเปลี่ยนคนยังเปลี่ยน เมื่อปัจจัยภายนอกเปลี่ยนไป ตัวเรา (ภายในองค์กร) ก็ต้องเปลี่ยน (เมื่อนั้น) เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนปัจจัยภายนอกได้ เราเปลี่ยนได้แค่ตัวเราเอง และอีกอย่างที่อยากฝากถึงผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจอนาคตอภิมหึมามหาเศรษฐีทุกคนก็คือ No best practice นะคะ ต้อง Best fit ค่ะ สิ่งที่องค์กรอื่นทำแล้วดี แต่พอมาเป็นองค์กรเรา สิ่งที่ Fit ดีที่สุดอาจจะเป็นอีกอย่างก็ได้ ลองทำกันดูกันนะคะ มันไม่ยากอย่างที่คิดเลย เพราะทุกข้อล้วนแต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจทำอยู่แล้ว แค่จับมาแหมะแปะใส่มองเทียบตามตารางข้างบน แต่ที่สำคัญต้องวินิจฉัยตามความเป็นจริงไม่เข้าข้างองค์กรตัวเองเด็ดขาด หัวเรือที่หันไปผิดทางจะได้เบนทิศหันกลับตั้งหลักได้ถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปหลงเจอมรสุมใหญ่อยู่ในมหาสมุทร คราวนี้ก็มาวัดกันที่ธุรกิจไหน Fit กว่า ปรับตัวได้เร็วกว่า วางแผนได้ดีกว่า ก็จะอยู่รอดลอยลำขึ้นฝั่ง (แห่งความสำเร็จ) ได้อย่างสบาย ๆ นอนตีพุงชิล ๆ ได้ก่อนเพื่อน ...ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะเป็นคนต่อไปที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจนะคะ ที่มา : การจัดการการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์การ ดร.เกรียงไกรยศ พันธุ์ไทย และคณะ
29 ก.ค. 2563
นินทา...ภายใต้เรื่องร้าย ยังมีเรื่องดีให้เรียนรู้
เมื่อชีวิตต้องพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา และยิ่งเข้ามาสู่สังคมในที่ทำงาน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราทุกคนนั้นจะไม่โดนเพื่อนร่วมงานนำเอาไปนินทา ดังคำกลอนข้างต้นที่เรามักเอามาเตือนใจตัวเองกันบ่อย ๆ แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่กับสิ่งที่เราต้องเจอในทุกวันได้ล่ะ วันนี้ผู้เขียนได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นหลักการธรรมชาติของพฤติกรรมการนินทามาให้ผู้อ่านได้ทราบกัน เพื่อที่เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะได้ไม่ต้องเก็บมาคิดมากในพฤติกรรม “การนินทา” ให้เป็นทุกข์กันอีกต่อไป หากพูดถึง “การนินทา” แล้วละก็ ภาพจำของคนเกือบทุกคนก็คือสิ่งที่ไม่ดี เป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจใครเจอเป็นต้องอี๋!!! แต่ใครจะรู้ละว่า การนินทา ก็มีข้อดีกับเค้าอยู่เหมือนกัน ในงานวิจัยชื่อ The Virtues of Gossip หรือว่า ‘คุณธรรมของการนินทา’ ของแมทธิว ไฟน์เบิร์ก (Matthew Feinberg) และคณะที่ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Review of General Psychology เขาบอกว่าการนินทาเป็นเรื่องสำคัญของสังคมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณเลยทีเดียว ถ้าคุณสังเกตดูให้ดี ว่าการนินทาไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ ‘เรื่อง’ ที่จะเอามานินทากันนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง อาทิเช่น เป็นเรื่องที่ ‘สำคัญ’ (Significant) ต่อแวดวงสังคมนั้น ๆ โดยการนินทาจะต้องมี ‘มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์’ ซ่อนอยู่ข้างใต้เสมอ งานวิจัยนี้บอกว่า เอาเข้าจริงแล้ว การทำให้ผู้ถูกนินทาเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น มักจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของการนินทา และจำนวนมากก็ถึงขั้นไม่เกี่ยวข้องกับ ‘ตัวคน’ ด้วยซ้ำ และ การนินทา นี่แหละเป็นเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ที่ใช้ควบคุมไม่ให้มีใครทำตัวออกนอกลู่นอกทางในสังคมไป จะเห็นได้ว่า การนินทามักเกิดขึ้นเมื่อมีใครบางคนทำอะไรบางอย่างแตกต่างไปจาก “บรรทัดฐานของสังคม” นั้น ๆ ไป โดยในบางครั้งการทำอะไรแตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสื่อมเสียอย่างเดียว ใครทำอะไรเป็นที่โดดเด่นดีงามก็มักจะเป็นที่พูดถึงด้วย การนินทาในแง่นี้จึงมีหน้าที่ของมันในฐานะการส่งต่อข้อมูลข่าวสารในกลุ่ม คล้าย ๆกับสัตว์ที่อยู่ในฝูงแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องแหล่งอาหารผ่านฟีโรโมนหรือวิธีการอื่น ๆ ซึ่งสำหรับมนุษย์นั้น ภาษา ได้ถูกคิดค้นและนำมาใช้ในการส่งต่อข้อมูลแทนพฤติกรรมของสัตว์ดังที่กล่าวมา “การนินทา” นอกจากจะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงบรรทัดฐานต่าง ๆ ของสังคมเท่านั้น แต่ศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) นักมานุษยวิทยายังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังเป็นการเรียนรู้ถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น รวมไปถึงการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่น ได้สร้างการทำงานร่วมกัน และยังทำให้คนแต่ละคนได้ประเมินความสำเร็จของตัวเอง และมองเห็นถึงจุดยืนร่วมของสังคมที่คน ๆ นั้นสังกัดอยู่อีกด้วย!!! อย่างไรก็ตาม แม้การจับกลุ่มนินทา จะเป็นเครื่องมือสื่อสารหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่ทำให้เราเป็นทุกข์กับมันได้เช่นกัน หากเราไม่ชอบพฤติกรรมการนินทานี้เอาซะเลย ก็ลองให้เรานำหลักการที่ว่ามาคิดวิเคราะห์แล้วจะพบว่า การนินทา นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางสังคมก็แล้วกัน มันเป็นเช่นนั้นเอง.... ที่มา : 101world
22 ก.ค. 2563
สุดยอดเทคนิคทำธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นให้ “รับทรัพย์”
“ในการเริ่มต้นธุรกิจว่ายากแล้ว แต่ถึงเวลาจะขายออกตลาดเนี่ยสิยากกว่า” หลายคน ๆ ที่ผ่านการทำธุรกิจมาอย่างช่ำชองคงต้องเคยเจอศึกด่านนี้มาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียวที่จะจับคู่ค้าขายกับชาวต่างแดนให้อยู่หมัด วันนี้ทางผู้เขียนได้มีโอกาสมาบอกเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์อันน้อยนิดที่เคยนำผู้ประกอบการบินลัดฟ้าข้ามพรมแดนไปเจรจาธุรกิจกล่าวทักทาย “คอนนิจิวะ” กับผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด แถมยังได้ใจได้คู่ค้าทางธุรกิจเปิดรับออเดอร์รับทรัพย์เป๋าตุงกันเป็นแถว ถ้าพร้อมแล้วขอเชิญผู้ประกอบการก้าวสู่ความสำเร็จด้วยเทคนิคในบรรทัดถัดไปกันเลยจ้า ศึกด่านนี้ถือว่าเป็นเคล็ดลับที่ทางองค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (Organization for SME and Regional Innovation of Japan - SMRJ) ได้กระซิบบอกผู้เขียนมาเลยนะเนี่ย ว่าถ้าผู้ประกอบการไทยมีคุณสมบัติครบถ้วนตามนี้แล้ว อย่างไรก็ชนะใจเค้าแน่นอน กล่าวมาถึงนาทีนี้แล้วก็อย่ารอช้า เรามาเรียนรู้สุดยอดเทคนิคที่จะพิชิตด่านนี้ไปให้ถึงเส้นชัยกันเลยดีกว่า อะ-อ่ะ-แน่ ก่อนทำศึก ต้องรู้เค้ารู้เรากันก่อนนะคะ ถึงจะรบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้งแน่นอน เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เติบโตก้าวหน้าอย่างที่เห็นในตอนนี้นั้น อาจกล่าวได้ว่า SMEs คือ พื้นฐานเศรษฐกิจของชาวญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมี SMEs จำนวนมากถึง 3.5 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.7 ของวิสาหกิจทั้งหมด นับว่าเป็นวิสาหกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ญี่ปุ่นเชียวล่ะ SMEs ญี่ปุ่นนั้นนอกจากเน้นที่ทำธุรกิจในประเทศแล้ว ยังจะเน้นจับคู่ธุรกิจกับกับตลาดต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งไทยก็เป็น 1 ในความสนใจที่ญี่ปุ่นต้องการผูกมิตรค้าขายด้วย ตามที่ท่านได้เห็นหน่วยงานส่งเสริม SMEs ของญี่ปุ่นเข้ามาจับจองตั้งถิ่นฐานเปิดออฟฟิศประจำอยู่ในไทยกันอย่างมากมาย อาทิ องค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทญี่ปุ่น (Organization for SME and Regional Innovation of Japan - SMRJ) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization : JETRO) และหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นแม่สื่อหาคู่แท้ให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 เชื้อชาติได้สานสัมพันธ์การค้ากันมาแล้วหลายราย ผู้เขียนกล่าวมาถึงจุดนี้แล้ว ทุกท่านก็คงใจร้อนอยากทราบเทคนิคขั้นเทพกันแล้วใช่ไหมล่ะคะ งั้นเรามาเรียนรู้เทคนิค 5 ข้อง่าย ๆ ที่ทุกท่านทำได้ไม่ยากกันเลยค่ะ เริ่มจาก ข้อแรก ท่านต้องตั้งวัตถุประสงค์และความคาดหวังของตัวเองในการทำธุรกิจกับคู่ค้าให้ชัดเจน และเริ่มทำการศึกษาพิจารณาประเภทธุรกิจที่ท่านคาดหวังจะทำธุรกิจด้วยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใช้สินค้าตัวจริงเสียงจริง ตัวแทนหรือผู้จัดจำหน่าย พันธมิตรกิจการร่วมค้า ความร่วมมือทางเทคนิค ซึ่งการเจรจาธุรกิจกับกลุ่มประเภทธุรกิจที่ต่างกันท่านต้องมีการเตรียมข้อมูลในการพูดคุยให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจนั้น ๆ เช่น หากท่านต้องการเจรจาค้าขายกับผู้ใช้สินค้าตัวจริงเสียงจริงต้องเตรียมข้อมูลระบบบริการหลังการขาย สร้างความพึงพอใจและช่วยท่านการันตีเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการ เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการศึกษาข้อมูลถานกาณ์ของตลาดญี่ปุ่นในเบื้องต้นก่อนไปเจรจาธุรกิจทุกครั้ง ข้อสอง ดึงดูดความสนใจด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างหรือจุดแข็งของธุรกิจ นำเสนอสินค้าหรือธุรกิจของท่านด้วยมุมมองหลัก Q.C.D. (Quality / Cost / Delivery) เช่น รายละเอียดข้อดีของสินค้า การันตีเทคนิคการจัดการการผลิตพร้อมส่งมอบสินค้า การรับรองคุณภาพด้วยใบรับรองระดับ ISO เป็นต้น ซึ่งทั้ง 3 อย่างมีความเชื่อมโยงกันที่คุณภาพสินค้าสำคัญ แต่ราคานั้นต้องสมเหตุสมผล พร้อมต้องคำนึงถึง การส่งมอบที่ทันทีและตรงเวลา อีกทั้งนำเสนอเงื่อนไขพิเศษที่แตกต่างทำให้ธุรกิจท่านโดดเด่นจากคู่แข่ง เอาใจลูกค้าแบบรัว ๆ จนอีกฝ่ายอยากทำธุรกิจด้วย ข้อสาม เตรียมรายการส่งเสริมการขายของท่านให้พร้อมลุย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมนามบัตรให้พียงพอ แคตตาล็อกรายละเอียดสินค้าที่แอบแนบนามบัตรของท่านไว้ด้วย รูปภาพหรือวิดีโอแสดงการดำเนินธุรกิจของท่าน รวมทั้งตัวอย่างสินค้าที่ทำให้เชิญชวนลูกค้าเป้าหมายได้ทดลองใช้สินค้าหรือได้เห็นได้สัมผัสสินค้าจริง โดยคาดหวังว่าจะขายสินค้าได้ในอนาคต ข้อสี่ ในการเจรจาธุรกิจทุกครั้งสิ่งที่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบมากที่สุดคือ ล่าม นั้นเองค่ะ หลาย ๆ ท่านอาจเตรียมตัวเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้ามาพร้อม แต่อาจจะตกม้าตายกับคุณล่ามที่มาช่วยสื่อสารให้เราได้ไม่ตรงใจเอาซะเลย การเตรียมตัวให้ล่ามช่วยเจรจากับคู่ค้าได้สำเร็จนั้นท่านต้องอธิบายรายละเอียดสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้ล่ามเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้ล่ามสามารถอธิบายแปลความได้เหมือนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ตัวนั้นเองก็จะยิ่งเก๋ไก๋สไลเดอร์มากจ้า รวมทั้งการวางตัวและการปฏิบัติต่อล่ามต้องทำเสมือนเค้าเป็นพนักงานคนหนึ่งของท่าน เรียกว่าใช้ “ใจแลกใจ” กันเลยค่ะ นอกจากนี้ อย่างที่ท่านทราบกันดีว่าญี่ปุ่นจะค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องเวลาเป็นอย่างมาก ท่านต้องมีสูตรลับการใช้เวลาในการเจรจาธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นด้วย สูตร 8:8:14 นั้นคือ 8 นาทีแรกให้ท่านอธิบายสรรพคุณงามความดีของสินค้าท่านให้มากที่สุด 8 นาทีต่อมา เปิดโอกาสให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจ พูดเสนอความต้องการต่อบ้าง และ 14 นาทีสุดท้าย เป็นนาทีทองที่ท่านต้องเจรจาให้ได้ใจพร้อมทำการซื้อขาย และทำการสรุปงานปิดการขายอย่างสวยงาม ข้อสุดท้าย ท้ายสุดที่เป็นเทคนิคห้ามทำพลาดเด็ดขาด ให้ท่านคำนึงเสมอว่า ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความไว้วางใจก่อนการทำธุรกิจเสมอ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ เนื่องจากในปัจจุบันนั้น มีสินค้าและทางเลือกใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในการเจรจาธุรกิจใหม่เป็นครั้งแรก การสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมาก ท่านควรสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจสำหรับลูกค้าให้ได้มากที่สุด วันนี้เน้นทฤษฎีเล็กน้อยพอหอมปากหอมคอเป็นกษัยนะคะ หากท่านใดมีโอกาสได้เจรจาธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นลองนำเทคนิคนี้ไปปรับใช้กันค่ะ หรือจะมาขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือที่ปรึกษาด้าอุตสาหกรรมก็สามารถทำได้นะคะ และหากการเจรจาครั้งแรกไม่สำเร็จเหมือนที่หวังไว้อย่าเพิ่งย่อท้อกันนะคะ แทนที่ท่านจะคาดคั้นคู่ค้าพยายามยัดเยียดข้อเสนอจนเกินงาม ให้ท่านลองถอยออกมากลับไปวางแผนข้อเสนอใหม่ โดยอาศัยประสบการณ์จากครั้งแรกเพื่อจะกลับมาเจรจากันอีกครั้ง ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการเจรจาธุรกิจกับญี่ปุ่นค่ะ ที่มา : - ประสบการณ์จากการเข้าร่วมงานเจรจาธุรกิจ CEO Business Meeting Event for Automotive Industry 2019 ณ ประเทศญี่ปุ่น - https://www.smrj.go.jp/english/about/ - https://www.jetro.go.jp/thailand/e_activity/sbpromot.html
14 ก.ค. 2563
10 SMEs พลิกวิกฤติปี 2020 สู่ผู้ประกอบการเงินล้าน (USD)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) และแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจได้ส่งผลต่อรูปแบบการประกอบธุรกิจทั่วโลก หากคุณริเริ่มดำเนินการธุรกิจระดับเล็กในปี 2020 นี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่คาดเดายาก แต่ก็มีโอกาสที่ทรงพลังซ่อนอยู่ บทความเดิมคิดบนพื้นฐานของการตลาดสำหรับ SMEs ในประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพมาแรงอย่างต่อเนื่องหลังการระบาดรอบแรกคลี่คลาย และกลุ่มธุรกิจร้านอาหารรวมถึงกลุ่มธุรกิจขนส่งมีความนิยมลดลง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาและแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนโฉมธุรกิจไปตลอดกาลนั้น เมื่อเราไตร่ตรองถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในองค์รวมพบว่า ยังไม่สามารถประมาณการณ์หรือประเมินค่าได้ ทว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็พอเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้บ้าง จากการสำรวจของ Business Insider เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ในกลุ่มอุตสาหกรรมยอดฮิตของสหรัฐอเมริกา โดยอิงจากข้อมูลการลงทุน ขนาดธุรกิจ และปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อศึกษาว่ากลุ่มผู้ประกอบการประเภทใดจะเติบโตมากที่สุด สามารถทำเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ้างคนน้อยกว่า 100 คน ! ซึ่ง Business Insider ได้จัดอันดับไว้ ดังนี้ 10. กลุ่มร้านอาหาร 9. กลุ่มร้านค้าปลีก 8. กลุ่มธุรกิจขนส่ง 7. กลุ่มหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการค้าแบบ B2B operations support 6. กลุ่มโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนา 5. กลุ่มผู้รับเหมาด้านช่าง 4. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีเกียรติบัตรรับรอง อาทิ วิศวกร นักกฎหมาย สถาปนิก นักบัญชี 3. กลุ่มที่ปรึกษาด้านการเงิน 2. กลุ่มผู้ดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล ในด้านการพยาบาล การกายภาพบำบัด หรือกรฝึกสอนฟิตเนส 1. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเฉพาะบุคคล ในด้านการทันตกรรม การแพทย์ ที่มา: https://www.businessinsider.com/top-ten-categories-for-small-business-to-make-millions-in-2020
10 ก.ค. 2563
แก่ไปไม่จน
คนไทย "จนตอนแก่" ปัญหาใหญ่ระดับชาติ จากข้อมูลใน website ธนาคารไทยพาณิชย์ พูดถึงเรื่องนี้เป็นประเด็น Hot issue การเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ของประเทศไทยในระยะยาวจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก โดยนิยามของ “สังคมผู้สูงอายุ” ตามหลักการสากลทางองค์การสหประชาชาติ ระบุไว้ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็น “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ” หรือ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 มาดูที่ตัวเลขของประเทศไทย โดยที่เมื่อสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 65,203,979 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,569,021 คน หรือคิดเป็นร้อย 16.2 ของประชากรทั้งหมด นั่นก็แปลว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และคาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จากตัวเลขประชากรดังกล่าวทำให้ในปัจจุบันจำนวนคนวัยทำงาน 4 คนจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ 1 คน และในอนาคตสัดส่วนนี้จะมีค่าลดลงเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนคนวัยทำงานกลับลดลงเป็นอย่างมาก ตัวเลขนี้กำลังจะบอกว่าหากเราไม่มีการเตรียมการเกษียณอายุที่ดีมากพอ เราจะมีโอกาสประสบปัญหา “จนตอนแก่” อย่างแน่นอน เพราะเราไม่อาจคาดหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเราได้เหมือนในอดีต (คนแต่งงานช้าลง มีลูกน้อยลง และบางส่วนโสด) และสวัสดิการจากรัฐก็อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป (คนสูงวัยมากขึ้น คนวัยทำงานน้อยลง รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง งบประมาณไม่พอ และดูแลไม่ไหว) จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2557 พบว่าแหล่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุมาจาก เงินได้จากบุตร 36.7 % รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง 33.9 % เบี้ยยังชีพจากราชการ 14.8 % เงินบำเหน็จ บำนาญ 4.9 % เงินได้จากคู่สมรส 4.3 % ดอกเบี้ยเงินออมและการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ 3.9 % จะเห็นว่าผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงรายได้จากคนอื่น (จากลูก จากรัฐ และจากคู่สมรส) สูงถึง 55.8% และประมาณ 34% ยังต้องทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเองต่อไป กล่าวโดยสรุป หากไม่มีลูกหลานและคู่สมรสดูแล และสวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุกว่า 90% จะไม่สามารถเกษียณอายุได้ และยังคงต้องทำงานต่อไป ในความเป็นจริงไม่มีใครหรอกที่จะวางแผนให้ชีวิตตัวเองล้มเหลว แต่ที่ล้มเหลวเพราะไม่ได้วางแผนต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้วางแผนเกษียณอายุกันเลย เรื่องการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นให้เร็วที่สุด ไม่ใช่รอจนเวลาใกล้เกษียณจึงมาวางแผนเพราะนั่นจะทำให้โอกาสที่จะ “จนตอนแก่” มากกว่า "พร้อมก่อนแก่" คำพูดที่ว่าแก่แล้วเดี๋ยวก็ตายแล้ว ถ้าไม่ตายล่ะครับจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร? เริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สายครับ สำหรับอาชีพสีกากีผมขอแนะนำเครื่องมือในการช่วยวางแผนก่อนเกษียณที่เรามีอยู่ (แต่บางทีเราไม่ได้ให้ความสำคัญ) คือ “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.” นับตั้งแต่ปี 2540 ข้าราชการบรรจุใหม่ทุกคนต้องสมัครเข้า กบข. อัตโนมัติ โดยบังคับเข้านั้นเองแต่รู้หรือไม่ว่า กบข. ช่วยให้เราวางแผนเกษียณได้อย่างไร ทุกครั้งที่ผมไปชวนพี่ ๆ น้อง ๆ วางแผนทางการเงินกับ กบข. ก็จะได้รับเสียงสะท้อนกลับมาว่าทุกวันนี้เงินเดือนก็จะไม่พอ (รับประทาน) อยู่แล้ว จะให้หักเข้า กบข. เพิ่มอีกไม่ไหวแน่ ๆ ใจเย็น ๆ ก่อนนะครับ สิ่งที่ผมจะแนะนำในขั้นแรกยังไม่ต้องเพิ่มเงินออมครับ แต่ขอให้เปลี่ยนแผนในการลงทุน เพราะเมื่อเราสมัครเข้า กบข. แผนที่ กบข. เลือกให้นั้นคือแผนหลัก (แผนหลักคือแผนที่ได้ผลตอบแทนเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ) ดังนั้นเงินที่เราโดนหักไป (3% ตามกฎหมาย) นั้นไม่สามารถงอกเงยได้เลย ผมจึงอยากจะแนะนำให้เปลี่ยนแผนการลงทุนจากแผนหลักไปเป็นแผนสมดุลตามอายุ (จริง ๆ มีอีกหลายแผนแต่ถ้าให้ผมอธิบายคงยาว) เพราะแผนนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแผนบ่อย ๆ หรือไม่ได้มีความรู้ด้านการลงทุนมาก แผนนี้จะปรับสัดส่วนในการลงทุนตามอายุ กล่าวคืออายุน้อยลงทุนในกองทุนที่เสี่ยงมากนิดหนึ่ง พออายุมากขึ้นก็จะปรับสัดส่วนความเสี่ยงลง (ความเสี่ยงมาก ความเสี่ยงน้อยมีผลกับค่าตอบแทนโดยตรง high risk high return) ผมพิจารณาแล้วเห็นว่าผลตอบแทนให้มากกว่าแผนหลัก และเป็นประโยชน์กับพี่น้องข้าราชการทุกท่าน ที่ได้ผลตอบแทนมากขึ้นโดยไม่ต้องออมเพิ่มแต่อย่างใด เริ่มสนใจ กบข. แล้วใช่ไหมครับ เรามาต่อกันเลยสำหรับคนที่คิดว่าเราน่าจะออมเพิ่มสักนิดสักหน่อย มาครับ ๆ ผมจะแนะนำให้ง่าย ๆ ออมแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวกันเลย ปัจจุบัน กบข. เปิดให้สมาชิกออมเพิ่มได้ในสัดส่วน 12% ของเงินเดือน เมื่อรวมกับเงินออมตามกฎหมายอีก 3% รวมเป็น 15% ที่เราสามารถออมได้ โดยที่เราสามารถเพิ่มอัตราส่วนการออมเริ่มตั้งแต่ 1% ไปจนถึง 12% วิธีการง่าย ๆ คือ เราได้ปรับเงินเดือนเมื่อไร (เฉลี่ยประมาณ 3%) ให้ออมเพิ่มอย่างน้อยสัก 1% ก็ยังดี ทำแบบนี้ทุกรอบการประเมิน 6 ปี ก็ออมได้ 12% แล้วครับ และที่สำคัญเราจะไม่รู้ตัวด้วยว่าโดนหักเงินเดือน เพราะหักเงินเดือนในส่วนที่เราได้เงินเดือนขึ้นมา เห็นไหมครับไม่ยากเลยในการวางแผนเกษียณ สามารถทำออนไลน์ได้ตาม link ด้านล่างครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านให้แก่ไปไม่จนนะครับ สู้ สู้ Link เปลี่ยนแผน https://www.gpf.or.th/thai2019/2Member/main.php?page=3&menu=investplan Link ออมเพิ่ม https://www.gpf.or.th/thai2019/2Member/main.php?page=11&menu=oomperm
03 ก.ค. 2563
New Normal กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง
New Normal วิถีใหม่ในสังคมที่ต้องย้ำ ทำซ้ำ ๆ ให้แน่ใจว่าตัวเรา คนรอบข้าง และคนในสังคมจะปลอดภัยอย่างแท้จริง ทุกคนอาจจะฟังมาบ่อยจนเอียน หรือท่องจนจำขึ้นใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกหลายคนที่การ์ดตกลดการระแวดระวังตัวเองลง ซึ่งในเวลานี้ถือว่ายังไม่ปลอดภัย 100% ดังนั้นเรามาตอกย้ำและทบทวนความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นกันอีกครั้ง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและปรับตัวให้คุ้นชินกันชีวิตวิถีใหม่ที่เกิดขึ้นและกำลังปรับการใช้ชีวิตของทุกคนไปอย่างอัตโนมัติ และหลังสถานการณ์โควิดที่ (คง) จะยุติลงในเร็ววันนี้ จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนไปเหล่านี้ยังไง ถ้าคุณเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ “New Normal” ก็จะกลายเป็น “New Success” ครั้งใหม่ของคุณ คำว่า “New Normal” ราชบัณฑิตยสภา ได้บัญญัติศัพท์ "New Normal" เพิ่มเข้ามา โดย รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณะกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายคำนี้ผ่านทาง เฟซบุ๊ก Malee Boonsiripunth เอาไว้ว่า New Normal แปลว่า ความปกติใหม่ , ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต อันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติและเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลัมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย "New Normal" ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” การใช้ชีวิตประจำวันจึงจำเป็นต้องป้องกันตนเองเพื่อให้มีชีวิตรอดด้วยการปรับหาวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ควบคู่ไปกับความพยายามรักษาและฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจ นำไปสู่การสรรค์สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีการปรับแนวคิด วิสัยทัศน์ วิธีการจัดการ ตลอดจนพฤติกรรม ทั้งในด้านอาหาร การแต่งกาย การรักษาสุขอนามัย การศึกษาเล่าเรียน การสื่อสาร การทำธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นความปกติใหม่ จนในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปก็จะทำให้เกิดความคุ้นชินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปกติของผู้คนในสังคม สิ่งที่เราพบเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นวิถีชีวิตใหม่ในสังคม ตั้งแต่ก้าวออกจากบ้าน New Normal มีอะไรบ้าง มาดูกัน 1. สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน เพื่อป้องกันตัวเอง และห่วงใยผู้อื่น 2. ทำงานออนไลน์ Work from Home หน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ เริ่มมีนโยบายให้พนักงาน Work from Home ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดอยู่ เพื่อลดความแออัด 3. เรียนออนไลน์ โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ ก็เริ่มวางแผนตารางเรียนออนไลน์ให้ เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Google Meet, Zoom, Microsoft Team พูดคุยสนทนากับคุณครูด้วยการใช้นวัตกรรมมาเป็นตัวช่วย 4. อาคารสถานที่ตั้งจุดคัดกรอง เนื่องจาก COVID-19 นั้นสังเกตเบื้องต้นได้ด้วยการวัดไข้ จึงจำเป็นต้องมีจุดคัดกรองก่อนเข้าอาคารตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข ผู้ติดต่อราชการ ห้าง ร้าน จะต้องผ่านการวัดอุณหภูมิและผู้ผ่านการคัดกรองแล้วจะได้รับเครื่องหมายติดที่เสื้อ และขอความร่วมมือให้ลงชื่อก่อนเข้าใช้บริการ 5. ร้านอาหารนั่งแยกโต๊ะ และซื้อกลับมากขึ้น เห็นได้ชัดว่ายอดสั่งอาหารแบบนั่งรับประทานที่ร้านและซื้อกลับ แทบจะพอ ๆ กันแล้ว จนร้านค้าต่าง ๆ ต้องจัดที่นั่งให้บริการพนักงาน Food Delivery และลูกค้าที่ยืนรออาหารแบบสั่งกลับบ้านกันมากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งคำนึงถึงสุขอนามัยกันมากขึ้น และการจัดโต๊ะที่นั่งในร้าน ก็รับประทานได้โต๊ะละ 1-2 คน วางโต๊ะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตรเพราะเว้นระยะห่าง หรือมีบริการ Drive Thru ให้วนรถสั่งได้โดยลูกค้าไม่ต้องลงจากรถ 6. การใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นรับเงิน โอนเงิน จ่ายเงิน ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน เป็นอีกช่องทางที่นิยมกันมากขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องการเช็กยอดเงินที่ได้รับจากมาตรการช่วยเหลือ จึงต้องเปิดบัญชีเพื่อใช้งาน Mobile Application รวมถึงการชำระสินค้าบริการ เพื่อลดระยะเวลาเดินทางไปใช้บริการกับธนาคารที่สาขา 7. เว้นระยะในการเดินทางสาธารณะเพราะต้องร่วมเดินทางกันเป็นเวลานาน ทั้งรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง ต่างต้องทำป้ายเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งเว้นระยะ เนื่องจาก COVID-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ จึงป้องกันการสัมผัสอนุภาคละอองจากการหายใจ ไอ จาม เบื้องต้นด้วยป้ายกำกับเหล่านี้ 8. ใช้บริการส่งของถึงบ้าน (Delivery) ประชาชนหันมาใช้บริการสั่งของส่งถึงบ้าน ทั้งของใช้ อาหาร และยารักษาโรคประจำตัว เพื่อลดการเดินทางไปยังสถานที่แออัดอย่าง ซุปเปอร์มาร์เก็ตโรงพยาบาล สรุปแล้วหลังโควิด-19 โลกเราจะเป็นอย่างไร? สิ่งแรกก็คือการเข้าสู่รูปแบบชีวิตปกติใหม่ “New Normal” และสิ่งที่สอง คือเรามองว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวที่พวกเราต่างเชื่อมาก่อนแล้วว่าเทรนด์เหล่านี้กำลังจะมา ถ้าคุณจับเทรนด์มองอนาคตอย่างครบถ้วนทุกมุมมอง โอกาสจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะอยู่ในมือคุณอย่างแน่นอน https://www.egat.co.th/egattoday/index.php?option=com_k2&view=item&id=11397:20200608-egatsp&Itemid=129 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/882508 https://www.tmbameastspring.com/insights/new-normal
29 มิ.ย. 2563