อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ปี 2566 กับการสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการอัจฉริยะ
การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของโลก (World Digital Competitiveness) โดย IMD เป็นการวัดความสามารถในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศนั้น ๆ สามารถปรับปรุงและพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้ โดยในปี 2566 มี 64 ประเทศเข้าร่วมการประเมิน รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย สำหรับเกณฑ์การประเมิน แบ่งเป็น 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) ความรู้ (Knowledge) 2) เทคโนโลยี (Technology) 3) ความพร้อมในอนาคต (Future readiness) รวมทั้งหมด 52 ตัวชี้วัด การเก็บข้อมูลแบ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูล (Hard data) เช่น สถิติจากหน่วยงานรัฐบาล หรือข้อมูลจากองค์กรระดับสากล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความเป็นเชื่อถือ และการเก็บข้อมูลจากแบบสำรวจ (Survey data) โดยส่งแบบสำรวจให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในแต่ละประเทศตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวด้านดิจิทัลและศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยมีสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) เป็นหน่วยร่วม (Partnership)
อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ได้ถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น “ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุดใหม่” แผนย่อย “การสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการอัจฉริยะ” ซึ่งกำหนดเป้าหมายคือ “ความสามารถในการแข่งขันด้านการใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีดิจิทัลดีขึ้น” ตัวชี้วัดคือ “ความสามารถในการแข่งขันด้านการใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีดิจิทัล” ค่าเป้าหมายคือ อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ไม่เกินอันดับที่ 30 ภายในปี 2566-2570
อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ปี 2566
อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ปี 2562-2566
ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของโลก โดย IMD ในปี 2566 ประเทศไทยได้อันดับ 35 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5 อันดับ เป็นผลมาจากการเลื่อนอันดับของปัจจัยความรู้ (Knowledge) ดีขึ้น 4 อันดับ ปัจจัยด้านเทคโนโลยี Technology ดีขึ้น 5 อันดับ และปัจจัยความพร้อมในอนาคต (Future readiness) ดีขึ้น 7 อันดับ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงอยู่ในอันดับต่ำกว่าค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดไว้ไม่เกินอันดับที่ 30 โดยปัจจัยด้านความรู้และความพร้อมในอนาคต เป็นปัจจัยที่ต้องได้รับการพัฒนา เนื่องผลการประเมินอยู่ในอันดับต่ำ และรายงานของ IMD ระบุจุดอ่อน (Weakness) ที่ต้องได้รับการปรับปรุงพัฒนา มีดังนี้
1) ปัจจัยความรู้ (Knowledge) เกณฑ์ตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อน คือ จำนวนเฉลี่ยของนักศึกษาต่ออาจารย์ในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (Pupil-teacher ratio; tertiary education) และร้อยละของการจ้างงานทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิค (Scientific and technical employment)
อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ปี 2566 : ปัจจัยความรู้ (Knowledge)
2) ปัจจัยความพร้อมในอนาคต (Future readiness) เกณฑ์ตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อน คือ ร้อยละของครอบครัวที่มีแท็บเล็ต (Tablet possession) ร้อยละของการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีใบอนุญาต (Software piracy) และความสามารถในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของรัฐบาล (Government cyber security capacity)
อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ปี 2566 : ปัจจัยความพร้อมในอนาคต (Future readiness)
สำหรับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล ภายใต้แผนแม่บทย่อย “การสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการอัจฉริยะ” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนา SME ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านการให้คำปรึกษาเชิงลึกและการฝึกอบรม ซึ่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเลื่อนอันดับขึ้นของตัวชี้วัดภายใต้ ปัจจัยความพร้อมในอนาคต (Future readiness) ปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจ (Business agility) ซึ่งในปี 2566 เลื่อนอันดับขึ้น 7 ลำดับ จากลำดับที่ 41 เป็น 34 แต่อย่างไรก็ตามยังมีเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ผลการประเมินอยู่ในระดับต่ำมาก ได้แก่ ผู้ประกอบการกลัวความล้มเหลว (Entrepreneurial fear of failure) ดังนั้นเพื่อให้อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยดีขึ้น ตามที่กำหนดไว้ไม่เกินอันดับที่ 30 ต้องเร่งดำเนินการให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือการให้คำแนะนำปรึกษาเชิงลึกเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึง และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับสากล
นางอรพิน อุดมธนะธีระ นักวิเคราะห์นโยบานและแผนเชียวชาญกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม10/07/6
แหล่งที่มาข้อมูล : https://imd.widen.net/view/pdf/udyxlqhqiz/TH_digital.pdf
11
ก.ค.
2024