Critical Thinking คิดอย่างไรให้มีเหตุผล
08
มี.ค.
2565
napakan
27
Critical Thinking หรือ การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบการเรียนรู้ และเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ภาคการศึกษาทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล สามารถทำให้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างความคิดต่างๆ ของคนได้ และสามารถกำหนดความสำคัญ และความเกี่ยวข้องในเหตุผลและความคิด นอกจากนี้ยังสามารถแก้ปัญหาอย่างสอดคล้องและเป็นระบบได้ จึงเห็นได้ว่า การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานราบรื่น และประสบผลสำเร็จ เพราะฉะนั้นเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจเรื่องการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลมากขึ้น จะขออธิบายหลักการต่างๆ ของการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลไว้ดังนี้


การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล (Critical Thinking) หมายถึง การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นกระบวนการคิดที่ชัดเจน มีเหตุผลและมีวินัยทางสติปัญญาในการกำหนด แนวความคิด การประยุกต์วิเคราะห์ การสังเคราะห์ และ/หรือการประเมินข้อมูลที่รวบรวมหรือสร้างขึ้น และเป็นกระบวนการ พัฒนาทักษะที่ทำให้มีความสามารถในการรับรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยการสังเกต ประสบการณ์ การไตร่ตรอง การให้เหตุผล หรือการสื่อสาร เพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อและการกระทำ นักคิดจะปรับปรุงกระบวนการคิดของตน โดยการไตร่ตรองและตระหนัก ถึงข้อผิดพลาดและอคติที่อาจเกิดขึ้น
กระบวนการ Critical Thinking มี 5 กระบวนการ
1. กำหนดสถานการณ์ เหตุการณ์ ในส่วนนี้จะเป็นการกำหนดสถานการณ์ว่าต้องการจะคิดวิเคราะห์เรื่องใด
2. รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง เป็นการเรียบเรียงข้อมูลให้มากที่สุด อาจจะเป็นการหาข้อมูลเพิ่มเติม การสอบถามข้อมูลจากคนอื่น หรือการคิดหาข้อมูลจากความรู้หรือประสบการณ์ในอดีตของตัวเอง
3. วิเคราะห์ข้อมูล คือ การนำข้อมูลที่รวบรวมในขั้นตอนที่ 2 มาวิเคราะห์ และคิดวิเคราะห์ว่าจะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบใด และมีข้อดีและข้อเสียอะไรหรือไม่ โดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา (Why Why Analysis)
4. ตั้งสมมติฐานเพื่อแก้ปัญหา คือ การกำหนดทางเลือกของวิธีการแก้ปัญหา
5. สรุปและตัดสินใจ คือ การเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดของสมมติฐานที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ และสามารถปรับปรุงข้อมูลข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง
แนวทางการคิดและการตั้งคำถามแบบ Critical Thinking โดยใช้เครื่องมือ 5W-1H
-
ใครเป็นคนพูด (Who) คนพูดเป็นคนที่เรารู้จักหรือไม่ คนพูดเป็นคนที่มีความเหมาะสมหรืออยู่ในตำแหน่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่ สิ่งที่พูดนั้นสำคัญมากน้อยเพียงใด
-
พูดเรื่องอะไร (What) สิ่งที่พูดนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็น ข้อเท็จจริงนั้นมีครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่
-
พูดที่ไหน (Where) สิ่งที่พูดนั้นเป็นการพูดในที่ชุมชนหรือการพูดแบบส่วนตัว มีทางเลือกมากน้อยเพียงใด
-
พูดเมื่อใด (When) สิ่งที่พูดเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น ช่วงเวลานั้นมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน
-
พูดเพื่ออะไร (Why) คนพูดได้บอกเหตุผลในสิ่งที่พูดหรือการนำเสนอความคิดเห็นหรือไม่ คนพูดพยายาม ทำให้ตัวเองดูดีและคนอื่นๆดูแย่หรือไม่
-
พูดอย่างไร (How) คนพูดพูดตามที่เขียนหรือเข้าใจสิ่งที่พูดหรือไม่ และตัวเราเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูดหรือไม่
กล่าวโดยสรุป จะเห็นว่า การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล จะมีประโยชน์มากมาย นอกจากจะช่วยให้เรารู้จักคิด วิเคราะห์ หาเหตุผลให้สิ่งต่างๆ และสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้แล้วนั้น ยังเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินชีวิต ซึ่งถ้าทุกคนรู้จักเรียนรู้ทักษะทางด้านนี้ จะทำให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้ได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย สามารถช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลได้มากขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้จัดการกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด