ทำไงดีตกงาน?


07 พ.ค. 2564    napakan    8

ตกงานก็ต้องตกใจ  แต่ต้องตั้งรับตั้งตัวใหม่ให้ได้

“โควิดจ๋า อย่าฆ่าฉันเลย อย่าคร่าเงินและอาชีพไปจากฉันเลย พลีสสสส” ถ้อยคำเหล่านี้อาจเป็นเสียงสะท้อนที่ดังกึกก้องในช่วงนี้ แต่สติก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องมีเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเช่นกันนะคะ

ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์แรงงาน เพราะฉะนั้นหากวันดีคืนดีเรือที่เราอาศัยให้ไปถึงฝั่งฝันความสำเร็จในหน้าที่การงานดันอับปางหรือไล่เราลงกลางคันระหว่างทางจะทำยังไง? ใช่แล้วถ้าคุณโดนเลิกจ้างกะทันหัน คุณจะเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้อย่างไร

 

1. ได้เงินเดือนก้อนสุดท้ายกี่บาท หลังจากเป็นลมแล้วฟื้นขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตั้งสติ แล้วรีบดูรายละเอียดการให้ออกในครั้งนี้ทันที ส่วนใหญ่บริษัทจะแจ้งล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน คือให้เป็นเวลาทำใจซะมากกว่า แต่ถ้าทุกอย่างเกิดแบบกะทันหันปุบปับอยู่ ๆ รับเงินเดือนเสร็จแล้วเซย์กู๊ดบาย Go out หรือบอกเพียงแค่ไม่กี่วัน คุณรู้เอาไว้เลยนะว่านอกจากเงินเดือนเดือนนั้นๆ ที่บริษัทต้องจ่ายเราตามปกติแล้ว เราจะต้องได้ค่าตกใจเป็นเรทเงินเดือนเดือนล่าสุดของเราเพิ่มอีก 1 เดือนด้วย

 

ต่อมาก็ต้องพลิกปฎิทินดูว่าเราทำงานที่บริษัทนี้มากี่ปีแล้ว โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้

 

  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน

  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2555

ซึ่งอันนี้เราควรคำนวณไว้ก่อน เพื่อไปรีเช็คกับฝ่ายบุคคลของบริษัทหรือกับนายจ้าง ว่าเขาจ่ายให้เราครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ เรื่องเงินชดเชยในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับหากต้องออกจากงานโดยไม่มีความผิด ดอกจันตัวโต ๆ ไว้เลยนะคะเหล่าแรงงานทุกท่าน

 

 

2. ได้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเปล่า สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลังจากที่เราถูกเลิกจ้าง นายจ้างก็จะยุติการจ่ายเงินสมทบให้กับเราหรือเท่ากับสมาชิกกองทุนของเราได้สิ้นสุดลง แล้วแจ้งฝ่ายบุคคลหรือนายจ้างตั้งแต่เนิ่น ๆ ต้องพูดคุยเช็คทุกสิ่งที่ HR เคยบอกตอนเราเซ็นสัญญาให้เรียบร้อยก่อน

 

3. ได้อะไรบ้างจากประกันสังคม ก็มาดูกันว่าประกันสังคมที่เราโดนหักกันอยู่ทุกเดือนนั้น ในยามหน้าวิกฤติเช่นนี้ มีความช่วยเหลืออะไรบ้างที่จะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง ก็เข้าไปดูมาตรา 33 ได้เลยจ้า หากเกิดข้อสงสัยอะไรก็ยกหูถามเลยค่ะ อย่าคิดว่าสิ่งที่เรารู้ถูกไปกว่าคนที่กำหนดมันขึ้นมาเด็ดขาดค่ะ

 

4. ได้แล้วอย่าใช้หมด หลังจากผ่านมรสุมการตกงานมาได้ สิ่งที่ควรทำก็คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตั้งแต่วันแรกที่ว่างงาน ซึ่งในความเป็นจริงควรทำทุกวันให้เป็นนิสัยตั้งแต่ในยามปกติแล้ว เราจะได้ตรวจดูการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือสุรุ่ยสุร่ายได้แต่เนิ่น ๆ อีกอย่างก็เหมือนเป็นการป้องกันเงินที่ควรมีไม่ให้หายไปจากกระเป๋าเงินคุณนั่นเอง

 

สำหรับใครที่ตกงานก็อย่าเพิ่งคิดสั้นหรือหมดหวัง เพราะพี่ตูนบอกไว้ว่าชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอยังไงล่ะคะ ขอแค่คุณไม่ตายไปก่อน ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอค่ะ สู้ สู้ ค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นางสาวสดใส บัวลอย
นักวิชาการอุตสาหกรรม 
กลุ่มศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม
กองยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

 

ที่มา https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/sudden-unemploy.html

ดาวน์โหลด