“ศาสตร์พระราชา” กับการขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กร
นวัตกรรม (1) คือ “สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม” เราทราบกันดีว่าการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในองค์กรนั้นสามารถสร้างความก้าวหน้าให้แก่องค์กรได้ แต่คำถามคือ ทำอย่างไรองค์กรของเราจึงจะมีนวัตกรรม ซึ่งแลดูจะเป็นเรื่องยาก และยังพบว่าโครงการนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น เราทุกคนคงเคยได้ยินศาสตร์พระราชาที่กล่าวว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” (2) ซึ่งเป็นหลักการทรงงานของล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่ 9 กษัตริย์นักพัฒนา โดยพระองค์ทรงใช้หลักดังกล่าวในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดำเนินจากกระบวนการคิดบนรากฐานของการเข้าใจมนุษย์ การเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้การสร้างสรรค์นั้นตอบสนองความต้องการที่แท้จริง เป็นการพัฒนาด้วยความรู้และภูมิปัญญาที่ไม่จำกัดอยู่แค่มิติใดมิติหนึ่ง พร้องทั้งต้องมีการทดลองและปรับปรุงจนได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน และสามารถประยุกต์ใช้ได้ ดังโครงการพระราชดำริหลาย ๆ โครงการ อาจารย์พันธพงศ์ ตั้งธีระสุนันท์ เมื่อครั้งคำรงตำแหน่งผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้อธิบายศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กร (Driving Innovation in Organization) ได้อย่างน่าสนใจและเข้าใจง่าย ช่วยให้เราเข้าใจว่านวัตกรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีรูปแบบการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกองค์กร ทั้งภาคเอกชน และราชการ โดยผู้เขียนขอเรียบเรียงสรุปดังนี้ “เข้าใจ” โจทย์ปัญหา เราต้องเข้าใจบริบทของปัญหา ความเจ็บปวด (Pain Point) หรือความต้องการในด้านต่าง ๆ ของ ลูกค้า หรือผู้รับบริการ โดยการศึกษาและวิเคราะห์ ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ผ่านวิธีการ กิจกรรม หรือเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อที่จะทำความเข้าใจโจทย์ปัญหาที่แท้จริง และตรงใจกลุ่มเป้าหมายที่สุด “เข้าถึง” ทางออกของปัญหา หลังจากเข้าใจโจทย์ทั้งหมดแล้ว จะต้องมีการตั้งทีมงานเพื่อวิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำไปสู่ทางออก โดยบูรณาการความรู้ในทุกมิติ ซึ่งจะต้องสร้างกระบวนการคิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกของปัญหา และสร้างต้นแบบเพื่อนำไปทดสอบและทดลองใช้จริง ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาหลายครั้งจนกว่าผู้ทดลองใช้จะร้อง “ว้าว" นำไป “พัฒนา” สิ่งใหม่ เมื่อต้นแบบได้สร้างความประทับใจและความพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้แล้ว จะถึงขั้นตอนนำไปพัฒนาสิ่งใหม่ คือ “นวัตกรรม” โดยนำไปขยายผลและเผยแพร่ให้เกิดการใช้จริง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยต้องอยู่พื้นฐานของการคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ทำให้เราเข้าใจรากฐานสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมแล้ว โดยทุกท่านสามารถศึกษากระบวนการคิด วิธีการ เครื่องมือ หรือกลไกต่าง ๆ เพื่อที่จะบรรลุ 3 ขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เช่น Innovation’s method, Functional innovation system หรือ Driving innovative organization และตัวอย่างนวัตกรรมของประเทศจีน จากคลิปการบรรยายหัวข้อ “การขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กร” ในระบบ e-learning ของสำนักงาน ก.พ. (3) ซึ่งอาจารย์พันธพงศ์ ตั้งธีระสุนันท์ ได้บรรยายไว้อย่างละเอียดและมีเอกสารประกอบทำให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น แล้วพบกันใหม่กับการแนะนำแหล่งความรู้จากระบบ e-Learning ซึ่งจะเป็นวิถี New normal หลังวิกฤติโควิด-19 ของพวกเราทุกคนนะคะ (1) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) https://www.nia.or.th/5ID(2) ส่วนสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ http://www.dgr.go.th/skr/th/newsAll/257/2295(3) สำนักงาน ก.พ https://www.ocsc.go.th/LearningPortal
19 พ.ค. 2563
i-Industry โมเดลการเชื่อมบริการออนไลน์
ในยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โลกขับเคลื่อนด้วยคลังข้อมูลมหาศาลที่โลดแล่นเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและหลากหลาย ทักษะที่จำเป็นจึงไม่ใช่เพียงเรื่องที่ตนเองมีความชำนาญอีกต่อไป แต่จะต้องขยายขีดจำกัดไปสู่การประยุกต์ใช้ข้อมูลที่มากมายเหล่านั้นได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้ด้วยการผลักดันแพลตฟอร์ม i-Industry แบบครบวงจรตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล โดยการใช้ระบบ Digital และ Big Data ยกระดับการให้บริการ การกำกับดูแลโรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สำหรับคนทำอุตสาหกรรมในประเทศไทย i-Industry เป็นแพลตฟอร์มที่ทำการรวบรวมข้อมูล ประมวลผล และสนับสนุนนักอุตสาหกรรมในประเทศไทยด้วยการใช้งาน Big Data เพื่อประมวลผลและคาดการณ์ทิศทางอุตสาหกรรมรวมถึงประเมินศักยภาพของผู้ผลิต โดยสามารถแบ่งการใช้งานออกเป็น 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ Digital Licensing การขอเอกสารผ่านระบบดิจิทัล Digital Reporting รายงานข้อมูลส่วนบุคคล Digital Service Platform โครงข่ายการให้บริการออนไลน์ Digital Government การติดต่อภาครัฐผ่านดิจิทัล Data Collaboration การคาดการณ์ข้อมูลร่วมกันผ่านระบบดิจิทัล จุดเด่นของ i-Industry 1. อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในยุค 4.0 โดยการให้บริการและปฏิบัติงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ เช่น ระบบยื่นขอรับใบอนุญาตออนไลน์ ระบบรายงานการประกอบการอุตสาหกรรมผ่านระบบออนไลน์ (Self-Declaration) เพื่อทดแทนการตรวจสถานประกอบการในการต่ออายุใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาต ร.ง.4 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ใบอนุญาต มอก. ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Eco Sticker) ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมถึงการชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ (D-Payment) ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 2. การให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (online service) ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น และลดความซ้ำซ้อนจากการเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าร่วมกันผ่านระบบ i-Industry ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยจะเชื่อมข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละภาคส่วนและยึดถือข้อมูลหลักจากหน่วยงานนั้น เช่น การเชื่อมข้อมูลของผู้ประกอบการจากหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อลดการกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน การเชื่อมข้อมูลบุคคลจากหมายเลขบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย การเชื่อมข้อมูลสถานประกอบการจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ทั้งนี้ การใช้ระบบ i-Industry เป็นการปฏิรูปการปฏิบัติงานจากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องส่งเอกสารต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ล้าสมัยให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเกิดการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถกรอกข้อมูลรายงานการประกอบการอุตสาหกรรมด้วยตนเองในแบบฟอร์มดิจิทัลเดียว (Single Form) ผ่านระบบ i-Industry และใช้ข้อมูลดังกล่าวยื่นขอรับบริการต่างๆ จากหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม แบบออนไลน์ได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา ลดขั้นตอน และค่าใช้จ่าย นางสาวศิริวดี อึ้งสกุล นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ กลุ่มศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม (โมเดล)กองยุทธศาสตร์และแผปนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มาสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
28 ต.ค. 2562
Inclusive Investments and Global Value Chains (GVCs): Opportunities for Thai SMEs
UNIDO-DIP Capacity Development Programme “Inclusive Investments and Global Value Chains (GVCs): Opportunities for Thai SMEs” หลักสูตร การลงทุนที่ครอบคลุมและห่วงโซ่มูลค่าโลก : โอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทย เมื่อวันที่ 2 – 6 กรกฎาคม 2561 กลุ่มศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้น ณ ห้องปทุมวัน ชั้น 2 โรงแรมเอเชียกรุงเทพ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นสมาชิกและมีความร่วมมืออย่างดีกับ UNIDO มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 จนถึงปัจจุบันที่ไทยได้กลายเป็นสำนักงานศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิกของ UNIDO และได้มีการดำเนินโครงการอย่างมากมายร่วมกับ UNIDO ในสาขาการพัฒนาอุตสาหกรรม การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้า การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดผลดีอย่างมากต่อการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม ล่าสุด ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ได้เห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับ UNIDO และอนุมัติให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าคณะเดินทางเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญ (General Conference: GC) สมัยที่ 17 ของUNIDO ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560 และในการนี้ ได้ร่วมลงนามในความร่วมมือ เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับ Mr. Li Yong ผู้อำนวยการใหญ่ของ UNIDO โดยจะดำเนินความร่วมมือใน ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2561-2564) มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับ UNIDO โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันตามแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและครอบคลุมไปถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งไทยและ UNIDO จะยังคงดำเนินความร่วมมือในสาขาที่ดำเนินการอยู่ปัจจุบัน และเน้นสร้างความร่วมมือเพิ่มเติม โดยใช้กลไกความร่วมมือรูปแบบใหม่ในการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ UNIDO ในสาขาที่จะริเริ่มดำเนินการร่วมกัน ประเทศไทยมีความร่วมมือกับ UNIDO มาเป็นเวลานาน และมีแผนความร่วมมือ 4 ปี (2018- 2021) โดยมีความร่วมมือ 6 ด้าน ได้แก่ ความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเทคโนโลยีแกนหลักใหม่ และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายโรงงาน 4.0การเสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฐานข้อมูลขนาดใหญ่6. โอกาสในการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนและเทคโนโลยี (Investment and Technology Promotion office: ITPO) ในประเทศไทย โดยในการนี้ กลุ่มศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดทำสรุปองค์ความรู้จากหลักสูตรการลงทุนที่ครอบคลุมและห่วงโซ่มูลค่าโลก : โอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทย ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://goo.gl/xrocys
28 ส.ค 2561
คุณสมบัติของการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจที่ดี “Characteristics of a Good Business Consultant”
ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจต่างๆ ของผู้ประกอบการ มีแนวโน้มการใช้บริการที่ปรึกษาธุรกิจมากขึ้น ทั้งในสถานประกอบการขนาดใหญ่ และสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เนื่องจากสถานประกอบการไม่มีความรู้ความชำนาญในการบริหารจัดการครบทุกด้านตามที่ต้องการ เนื่องจากมีทรัพยากร หรือบุคลากรที่จำกัด นอกจากนี้ การขาดความชำนาญในบางด้านของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งขันจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งคู่แข่งในประเทศเดียวกัน จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีของที่ปรึกษาธุรกิจ เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากต้องมองหาผู้ช่วย เช่น ที่ปรึกษาธุรกิจ มาเติมเต็มสิ่งที่ขาดนั่นเอง ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Counselor, APEC IBIZ) หลักสูตรการให้คำปรึกษาและบทบาทหน้าที่ของที่ปรึกษา ได้ยกตัวอย่างคำจำกัดความของการให้คำปรึกษา เช่น 1. การให้คำปรึกษา เป็นความร่วมมือระหว่างที่ปรึกษาและผู้ประกอบการที่จะทำให้ผู้ประกอบการรู้จักตนเองและสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง2. การให้คำปรึกษา คือ การช่วยผู้ประกอบการให้รู้จักตรวจสอบและวิเคราะห์ปัญหาของตนเอง และรู้จักวิธีแก้ปัญหาที่จะเป็นไปได้ รู้จักเลือกและทดลองแก้ปัญหาที่คิดว่าจะได้ผลดีที่สุด จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจนั้น ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ที่ต้องการเตรียมตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจที่ดี และสามารถอยู่ในวงการธุรกิจที่ปรึกษาได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติ ดังนี้ การตัดสินใจที่ดี (Good Judgment) ที่ปรึกษาจะต้องมีการตัดสินใจที่ดีเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ไม่ควรด่วนสรุป ควรใช้เวลาในการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะทำการตัดสินใจ บางครั้งที่ปรึกษาคล้อยตามความคิดเห็นของพนักงานในสถานประกอบการมากเกินไป ส่งผลให้การตัดสินใจผิดพลาดได้ 2. การทำงานเป็นทีม (Team Player) ที่ปรึกษาต้องแสดงให้เห็นถึงการทำงานเป็นทีม มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากสมาชิกในทีม เห็นคุณค่าและความเชี่ยวชาญของผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ความร่วมมือให้เกิดขึ้น 3. ทักษะการสื่อสารที่ดี (Good Communication Skills) ที่ปรึกษาควรมีทักษะการสื่อสารทั้งทักษะการพูดและทักษะการเขียน ควรสื่อสารความคิดเห็นผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในระหว่างขั้นตอนการให้คำปรึกษา ที่ปรึกษาต้องมีการพบกับผู้ประกอบการที่มีบุคลิกลักษณะความแตกต่างกัน การมีทักษะการฟังที่ดีมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพูดได้อย่างอิสระ เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการ และในท้ายที่สุดทำให้กระบวนการให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น 4. ความรู้ความเชี่ยวชาญ (Expert Knowledge) ผู้ประกอบการมักเลือกใช้บริการที่ปรึกษาภายนอกด้วยเหตุผลสองประการ คือ 1) ผู้ประกอบการคาดว่าที่ปรึกษามีความเชี่ยวชาญมากกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ภายในสถานประกอบการ หรือ 2) ผู้ประกอบการไม่มีเวลาเพียงพอในการแก้ปัญหาหรือดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานประกอบการ ดังนั้น ในฐานะที่ปรึกษาธุรกิจ ควรมีความรู้ที่หลากหลาย รู้ว่าเมื่อไหร่ควรถามคำถามและรู้ว่าที่ไหนเป็นแหล่งที่มาในการหาคำตอบแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ปรึกษาธุรกิจควรศึกษาหาความรู้ให้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา โดยการอ่านวารสารนิตยสารและเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆ การเข้ารับการฝึกอบรม สัมมนา การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านทางเครือข่ายที่ปรึกษา ที่ปรึกษาธุรกิจควรรู้วิธีการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติและการฝึกฝนความชำนาญในการใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เช่น ซอฟต์แวร์ เพื่อให้สามารถให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5. การกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบ (Roles and Responsibilities) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับที่ปรึกษาในการกำหนดขอบข่ายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนว่าสิ่งใดสามารถทำได้ สิ่งใดไม่สามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนการให้บริการผู้ประกอบการแต่ละราย เนื่องจาก ผู้ประกอบการมีความคาดหวัง มุมมองต่อหน้าที่ความรับผิดชอบความสามารถของที่ปรึกษาแตกต่างกันไป ผู้ประกอบการบางรายคาดว่าที่ปรึกษาเป็นพระเจ้าที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง บางรายคาดว่าที่ปรึกษาเป็นเพียงผู้มาช่วยแก้ไขงานในบางเรื่องเท่านั้น 6. ความเข้าใจในธุรกิจของผู้ประกอบการ (Understand Entrepreneur’s Business) ที่ปรึกษาควรศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจของผู้ประกอบการก่อนเริ่มต้นขั้นตอนการให้บริการปรึกษาแนะนำ การทำความเข้าใจธุรกิจและนำเสนอคำแนะนำ ทางเลือกต่างๆที่เหมาะสม โดยนำเสนอทั้งข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือก ทั้งนี้ ที่ปรึกษาควรนำเสนอและประเมินทางเลือกในการจัดการธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีประเด็น ดังนี้ – ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน – ความเสี่ยงและผลตอบแทน – คำนึงถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจในภาพรวมของสถานประกอบการ – แนวทางการดำเนินงานร่วมกับส่วนต่างๆ ของสถานประกอบการ 7. การมีส่วนร่วมกับที่ปรึกษาอื่นๆ (Involve Other Consultants) การตอบคำถามว่า “ผมไม่ทราบ” อาจจะเป็นคำตอบที่ดีกับบางคำถาม แต่จะเป็นคำตอบที่ดีขึ้น ถ้าตอบว่า “ผมไม่ทราบ แต่ผมรู้จักท่านหนึ่งที่ช่วยให้คำตอบคุณได้” ที่ปรึกษาไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างและไม่เป็นการเสียศักดิ์ศรีเลยในกรณีที่ตอบคำถามไม่ได้ แต่ที่ปรึกษาสามารถแนะนำที่ปรึกษาท่านอื่นได้ เช่น ผู้ประกอบการมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางกฎหมาย ที่ปรึกษาควรหาทางแนะนำให้ผู้ประกอบการรู้จักที่ปรึกษากฎหมายที่จะช่วยหาทางออกในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายที่ปรึกษาจะสามารถให้บริการที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้มากขึ้น 8. การรักษาชื่อเสียง (Reputation) ที่ปรึกษาต้องรักษาชื่อเสียงของตนเอง ถ้ามีเรื่องที่ทำให้เสียภาพพจน์และชื่อเสียงแล้ว โอกาสที่จะสร้างความน่าเชื่อถือในวงการธุรกิจที่ปรึกษาทำได้ค่อนข้างยาก คุณค่าของการเป็นที่ปรึกษามีทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบ (Accountability & Responsibility) และความตรงต่อหน้าที่ (Integrity) ดังนั้น ที่ปรึกษาต้องเลือกผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจถูกกฎหมายและไม่ผิดจริยธรรม ให้คำปรึกษาด้วยความระมัดระวัง ภายใต้ข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้องและมีเหตุผล โดยสรุปคือการมีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพที่ปรึกษานั่นเอง นอกจากนี้ ที่ปรึกษาต้องมีจรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ โดย ทำงานซื่อตรงต่อผู้ประกอบการด้วยความเต็มใจและความสามารถตามคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการรักษาข้อมูลของผู้ประกอบการ อาทิ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางธุรกิจ ความลับทางการค้า กระบวนการทางเทคนิคต่างๆ เป็นต้น What makes a good consultant? เป็นหนึ่งในบทความจาก The Definitive Guide to UK Consulting Firms ที่ได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการชั้นนำทางธุรกิจถึงคุณสมบัติที่ต้องการจากที่ปรึกษาธุรกิจ สรุปดังนี้ • ความเป็นผู้ประกอบการ สติปัญญา ความอยากรู้อยากเห็นและความยืดหยุ่น (entrepreneurial, intellectual and show curiosity and resilience)• เข้าใจในสาขาความเชี่ยวชาญที่ตนเองเลือกให้บริการ (understand the area in which they have chosen to work)• ความรอบรู้ทางวิชาการและความสนใจด้านอื่นๆ (well rounded academically and have other interests)• อยากรู้อยากเห็นและมีความสนใจในการแก้ปัญหา (curiosity and interest in solving problems)• คิดและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์เร่งด่วน (ability to think on their feet)• ทำงานภายใต้สภาวะความกดดัน หรือในเวลาอันจำกัด (work under pressure)• สามารถจัดการกับความไม่แน่นอนและควบคุมสถานการณ์ได้ดี (be adept at /dealing with uncertainty)• ทักษะในการสื่อสารกับผู้ประกอบการ (ability to communicate effectively) • เข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการ (understand entrepreneur’s need)• ความฉลาดทางอารมณ์และทักษะการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น (emotional intelligence & interpersonal skills)• คุณลักษณะแห่งการประจักษ์ถึงศักยภาพของตัวเรา ที่สามารถจะเปลี่ยนแปลง และเลือก กำหนด ชะตาชีวิตตัวเองได้ (proactive)• กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ (eagerness to learn)• มีรอยยิ้มบนใบหน้า (have a smile on their face) • มีชีวิตชีวา (be sparky)• ความยืดหยุ่นในการทำงาน (flexibility) นางสาวอังสนา โสมาภาผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน แหล่งที่มา1. กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Counselor, APEC IBIZ) หลักสูตรการให้คำปรึกษาและบทบาทหน้าที่ของที่ปรึกษา2. http://thinklikecenter.com/consultant/10-winning-qualities-of-a-consultant3. http://www.consultant-news.com/article_display.aspx?id=81944. http://www.b2binboundmarketer.com/inbound-marketing-blog/bid/297272/6-Characteristics-Of-A-Good-Management-Consultant บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
04 ธ.ค. 2560