ทำไงดีตกงาน?
ตกงานก็ต้องตกใจ แต่ต้องตั้งรับตั้งตัวใหม่ให้ได้ “โควิดจ๋า อย่าฆ่าฉันเลย อย่าคร่าเงินและอาชีพไปจากฉันเลย พลีสสสส” ถ้อยคำเหล่านี้อาจเป็นเสียงสะท้อนที่ดังกึกก้องในช่วงนี้ แต่สติก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องมีเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเช่นกันนะคะ ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์แรงงาน เพราะฉะนั้นหากวันดีคืนดีเรือที่เราอาศัยให้ไปถึงฝั่งฝันความสำเร็จในหน้าที่การงานดันอับปางหรือไล่เราลงกลางคันระหว่างทางจะทำยังไง? ใช่แล้วถ้าคุณโดนเลิกจ้างกะทันหัน คุณจะเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้อย่างไร 1. ได้เงินเดือนก้อนสุดท้ายกี่บาท หลังจากเป็นลมแล้วฟื้นขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตั้งสติ แล้วรีบดูรายละเอียดการให้ออกในครั้งนี้ทันที ส่วนใหญ่บริษัทจะแจ้งล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน คือให้เป็นเวลาทำใจซะมากกว่า แต่ถ้าทุกอย่างเกิดแบบกะทันหันปุบปับอยู่ ๆ รับเงินเดือนเสร็จแล้วเซย์กู๊ดบาย Go out หรือบอกเพียงแค่ไม่กี่วัน คุณรู้เอาไว้เลยนะว่านอกจากเงินเดือนเดือนนั้นๆ ที่บริษัทต้องจ่ายเราตามปกติแล้ว เราจะต้องได้ค่าตกใจเป็นเรทเงินเดือนเดือนล่าสุดของเราเพิ่มอีก 1 เดือนด้วย ต่อมาก็ต้องพลิกปฎิทินดูว่าเราทำงานที่บริษัทนี้มากี่ปีแล้ว โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2555 ซึ่งอันนี้เราควรคำนวณไว้ก่อน เพื่อไปรีเช็คกับฝ่ายบุคคลของบริษัทหรือกับนายจ้าง ว่าเขาจ่ายให้เราครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ เรื่องเงินชดเชยในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับหากต้องออกจากงานโดยไม่มีความผิด ดอกจันตัวโต ๆ ไว้เลยนะคะเหล่าแรงงานทุกท่าน 2. ได้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเปล่า สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลังจากที่เราถูกเลิกจ้าง นายจ้างก็จะยุติการจ่ายเงินสมทบให้กับเราหรือเท่ากับสมาชิกกองทุนของเราได้สิ้นสุดลง แล้วแจ้งฝ่ายบุคคลหรือนายจ้างตั้งแต่เนิ่น ๆ ต้องพูดคุยเช็คทุกสิ่งที่ HR เคยบอกตอนเราเซ็นสัญญาให้เรียบร้อยก่อน 3. ได้อะไรบ้างจากประกันสังคม ก็มาดูกันว่าประกันสังคมที่เราโดนหักกันอยู่ทุกเดือนนั้น ในยามหน้าวิกฤติเช่นนี้ มีความช่วยเหลืออะไรบ้างที่จะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง ก็เข้าไปดูมาตรา 33 ได้เลยจ้า หากเกิดข้อสงสัยอะไรก็ยกหูถามเลยค่ะ อย่าคิดว่าสิ่งที่เรารู้ถูกไปกว่าคนที่กำหนดมันขึ้นมาเด็ดขาดค่ะ 4. ได้แล้วอย่าใช้หมด หลังจากผ่านมรสุมการตกงานมาได้ สิ่งที่ควรทำก็คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตั้งแต่วันแรกที่ว่างงาน ซึ่งในความเป็นจริงควรทำทุกวันให้เป็นนิสัยตั้งแต่ในยามปกติแล้ว เราจะได้ตรวจดูการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือสุรุ่ยสุร่ายได้แต่เนิ่น ๆ อีกอย่างก็เหมือนเป็นการป้องกันเงินที่ควรมีไม่ให้หายไปจากกระเป๋าเงินคุณนั่นเอง สำหรับใครที่ตกงานก็อย่าเพิ่งคิดสั้นหรือหมดหวัง เพราะพี่ตูนบอกไว้ว่าชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอยังไงล่ะคะ ขอแค่คุณไม่ตายไปก่อน ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอค่ะ สู้ สู้ ค่ะ นางสาวสดใส บัวลอย นักวิชาการอุตสาหกรรม กลุ่มศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรมกองยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มา https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/sudden-unemploy.html
07 พ.ค. 2564
การปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐจากภัตตาคารสู่ร้านอาหารตามสั่ง
หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยราชการของไทยเราสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น การแบ่งตามลักษณะการจัดตั้ง การแบ่งตามภารกิจ การแบ่งตามคุณลักษณะวิชาชีพ การแบ่งตามพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งเราท่านก็ทราบและใช้บริการกันเป็นปกติอยู่แล้ว ในที่นี้ผมจะไม่พูดถึงประเภทของหน่วยราชการทั้งหมด แต่จะขอพูดถึงหน่วยงานที่มีโอกาสสูญสลายไปในอนาคตหากยังไม่ปรับตัว โดยจะยกหน่วยราชการที่แบ่งตามภารกิจเป็นหลัก ก่อนอื่นก็ขอปูพื้นเนียน ๆ ให้เข้าใจก่อนว่า “ภารกิจ” นั้นคือ หน้าที่ตามกฎหมายที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ นั่นเอง แต่ละหน่วยงานก็จะมีภารกิจแตกต่างกันออกไป อาจมีคล้ายกันบ้าง ทับซ้อนกันในเชิงพื้นที่หรือวิธีการปฏิบัติบ้าง แต่จะไม่เหมือนกันในทางกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบภารกิจของหน่วยราชการไทย 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านกำกับ ดูแล และบังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ ทหาร ป่าไม้ สรรพากร และหน่วยงานด้านปกครอง เป็นต้น 2. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนโดยตรง เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เช่นเทศบาล/ตำบล/อำเภอ/จังหวัด การไฟฟ้า การประปา กรมขนส่งทางบก เป็นต้น 3. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา ได้แก่ หน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือหรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น สังเกตได้ง่าย ๆ คือหน่วยงานเหล่านี้มักมีชื่อขึ้นต้นด้วย”พัฒนา หรือ ส่งเสริม” เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือกรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น 4. หน่วยงานประเภทวิชาการ หน่วยงานกลุ่มนี้มีหน้าที่ คิด ค้นคว้า วิจัย สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยฯ สสวท. สวทช. เป็นต้น หน่วยงานที่มีแนวโน้มจะสูญสิ้นและต้องปรับตัวตามหัวข้อของบทความนี้คือหน่วยงานประเภทที่ 3 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ในทุกกระทรวง เพราะอะไร เพราะตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานเหล่านี้มักจะใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในหน่วยงานหรือความเชี่ยวชาญของบุคลากรในหน่วยงานเป็นสารตั้งต้นในการให้บริการครับ หากจะให้เห็นภาพก็เช่น การจัดฝึกอบรมให้ความรู้ในการประกอบอาชีพกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หน่วยงานก็มักจะกำหนดหลักสูตรไว้ก่อนหรือนำหลักสูตรที่เคยจัดเคยมาใช้อยู่เสมอมาสอน อาจมีการเปลี่ยนวิทยากรบ้าง เปลี่ยนพื้นที่ฝึกอบรมบ้าง เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายบ้าง แต่อย่าลืมว่าโลกทุกวันนี้มีความรู้แขวนอยู่ในระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเรียนรู้ได้เองเพียงแค่มีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต อาจจะมีเพียงกลุ่มเล็กสุด ๆ เป็นส่วนเล็กน้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ แต่ท่านเชื่อเถอะว่าในอนาคตอีกไม่นานต่อให้เป็นเด็กเลี้ยงควายอยู่กลางทุ่งก็สามารถนอนดูหนังบนหลังควายได้ครับ ระบบการส่งเสริม การสนับสนุน และการพัฒนาของหน่วยงานในรูปแบบนี้ผมเรียกว่า “ระบบภัตตาคาร” เนื่องจากหน่วยงานจะมีแค่รายการส่งเสริมพัฒนาแบบเมนูของร้านให้ประชาชนเลือก เมื่อก่อนประชาชนไม่มีโอกาสเลือกเมนูเองด้วยซ้ำ มีอะไรก็สอนไป พัฒนาไป ตามแต่หน่วยงานจะนึกอะไรได้ ในปัจจุบันดีขึ้นนิดหน่อยที่ยังมีการถามว่าท่านอยากทานอะไร? ที่เราเรียกว่า “การสำรวจความต้องการของผู้รับบริการ หรือ Need” นั่นเอง มาถูกทางแล้วแต่ยังไปไม่สุดทางครับ เพราะว่าต่อให้เราบอกให้ผู้รับบริการหรือประชาชนเลือกสิ่งที่อยากได้ อยากพัฒนา แต่หน่วยงานภาครัฐเองก็ยังมีรายการพัฒนา หรือหลักสูตรความรู้ตามที่มีอยู่ในเมนูเท่านั้น หากต้องการอะไรที่นอกเหนือไปจากเมนูหรือรายการประชาชนหรือผู้รับบริการก็ต้องร้องเพลงลา แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้นครับคงยอมให้บอกลาไม่ได้ไหน ๆ ก็มาแล้ว เจ้าหน้าที่ภาครัฐจึงมักจับคนเหล่านั้นเข้ากระบวนการพัฒนาหรือฝึกอบรมหลักสูตรอื่นแทนเพื่อให้ได้เป้าหมายครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในโครงการที่ตนเขียน ถามว่ากรณีแบบนี้ใครได้ประโยชน์ เจ้าของโครงการครับได้ประโยชน์เพราะได้เป้าตามโครงการ แล้วใครเสียประโยชน์ อันดับแรกก็คือ ผู้รับบริการหรือประชาชนคนนั้นนั่นแหละ เสียทั้งเวลา บางครั้งก็เสียเงินในการเดินทาง และหากวิทยากรหรือเจ้าหน้าที่ที่มาให้ความรู้ไม่เก่งหรือเก่งน้อยกว่าคนเข้าร่วมโครงการด้วยแล้ว ก็จะเกิดการเสียความรู้สึกตามมา ผลกระทบคือ หน่วยงานเสียหน้า รัฐเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เพราะทุกโครงการมีต้นทุนและต้นทุนเหล่านั้นก็มาจากภาษีของประชาชนที่หน่วยงานได้รับมาในรูปของงบประมาณ นี่คือข้อเสียและผลกระทบของการทำงานแบบภัตตาคารร้านหรูของหน่วยงานภาครัฐ สุดท้ายประชาชนก็จะร้องยี้กับการให้บริการแบบนี้และหน่วยงานนั้นก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีผู้รับบริการ เมื่อไม่มีผู้รับบริการก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานนั้นอีกต่อไป หากต้องการให้หน่วยงานอยู่รอด จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการให้บริการครับ นึกไปถึงร้านอาหารตามสั่งที่มีอยู่ดาษดื่นเต็มประเทศไทยสิครับว่าเค้ามีวิธีขาย (การให้บริการ) กับลูกค้าอย่างไร ผมเชื่อว่าทุกท่านคงนึกออก เพียงแค่เราเข้าไปในร้านแล้วสั่งอาหารตามที่เราอยากทาน รับรองว่าในร้านตามสั่งทำอาหารตามเมนูที่ลูกค้าต้องการได้มากกว่าภัตตาคารแน่นอน ทำไมร้านตามสั่งถึงทำได้ตามที่ลูกค้าต้องการซึ่งมันมีความหลากหลายแบบสุด ๆ นั่นเพราะร้านตามสั่งจะเตรียมองค์ประกอบที่สำคัญ 2 อย่างอยู่เสมอครับ นั่นคือ 1 วัตถุดิบที่หลากหลาย พ่อครัวแม่ครัวที่มีความสามารถ เท่านี้ไม่ว่าจะอยากทานอะไรแบบไหนก็ทำได้ตามความต้องการของลูกค้าทั้งนั้น หันกลับมามองหน่วยงานราชการประเภทส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบ้าง หน่วยงานเหล่านี้มักมีวัตถุดิบที่สำคัญอยู่แล้วนั่นคือ องค์ความรู้ และบุคลากรที่มีคุณภาพ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ “วิธีการ” ให้บริการ หรือก็คือ วิธีการส่งเสริมและพัฒนา นั่นเอง อันดับแรกที่ต้องทำคือการสำรวจความต้องการของประชาชนหรือผู้รับบริการ ต่อมาก็สำรวจและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ให้ครอบคลุมทุกด้านเพื่อจะได้กำหนดปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานบริการของหน่วยงานตนเอง ตามด้วยการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถตรงกับผลการวิเคราะห์จาก 2 ส่วนแรกนั้น เท่านี้หน่วยงานของท่านก็จะมีวัตถุดิบที่หลากหลายและพ่อครัวที่มากความสามารถอยู่ในมือแล้วครับ ส่วนการให้บริการจากเดิมที่เคยยื่นเมนูให้เค้าเลือกก็เปลี่ยนเป็นการรับความต้องการของผู้รับบริการแต่ละรายได้เลย แล้วกลับมาพิจารณาสิ่งที่มีอยู่ในหน่วยงานว่าสามารถช่วยเหลือหรือพัฒนาผู้รับบริการตามที่เขาต้องการได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ดำเนินการได้เลยครับ ถ้าไม่ได้ก็หาตัวช่วย เช่น เชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วย หรือส่งต่อให้หน่วยงานที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้นเป็นผู้ช่วยเหลือแทน แต่ทั้งนี้อาจมีข้อโต้แย้งว่า แต่ละคนต้องการไม่เหมือนกันแล้วจะให้บริการยังไงไหว? ไหวสิครับ ความต้องการพื้นฐานมีไม่กี่ประเภทหรอก เช่น ความต้องการในการดำเนินธุรกิจ ก็จะมีแค่ เงินทุน/เงินหมุนเวียน เทคโนโลยี และการตลาด เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเวลาท่านให้บริการ ท่านก็เพียงแค่รวบรวมผู้รับบริการที่มีความต้องการเหมือนกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันมาเข้ารับการพัฒนาพร้อม ๆ กันนั่นเองครับ หากทำได้แบบนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ผู้รับบริการของท่านจะได้สิ่งที่ตรงตามความต้องการ (ตามสายงานของท่าน) ท่านจะกลายเป็นที่พึ่งหลักให้คนเหล่านั้นแล้วก็จะทำให้ท่านมีผู้รับบริการต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต และไม่ถูกยุบแน่นอน จงจำไว้ว่า “ก่อนจะพัฒนาเขา เราต้องพัฒนาตัวเองก่อน” ครับ นายอมรพงศ์ แสนสุข ผู้อำนวยการกลุ่มติดตามและประเมินผล กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
29 เม.ย. 2564
กลยุทธ์ซื้อรถ EV ไม่ให้ค่าไฟทวีคูณ
สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่จะซื้อรถไฟฟ้า (EV) โปรดอ่านและเตรียมการรอไว้เลยนะครับ จากกระแสรถยนต์ EV ที่มาแรงและต้องมาอย่างแน่นอนในอนาคต เผื่อบทความนี้จะพอมีประโยชน์เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการใช้ไฟฟ้าในบ้านนะครับ (ส่วนตัวก็วางแผนไว้ว่าจะหาใช้สักคัน ล้อเล่นนะครับ) ก่อนลงมือซื้อเราต้องลงมือหาข้อมูลก่อน กลยุทธ์ที่จะไม่ทำให้เราพ่ายแพ้ให้กับสิ่งยั่วกิเลสทั้งหลาย จากการไปหาข้อมูลจากการไฟฟ้า ได้ความว่าถ้าเราต้องการจะใช้รถไฟฟ้า EV ซักคัน เราต้องจัดการระบบไฟในบ้านอย่างไรบ้าง? (อันนี้สำคัญ) อย่างแรกเลยที่เราต้องรู้ คือบ้านเราเป็นระบบไฟแบบ 1 เฟส หรือ 3 เฟส มีค่าแอมป์เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ถ้าบ้านทั่วไปก็จะ 1 เฟส 15 (45) แอมป์ คือบ้านเรารับการใช้กระแสไฟฟ้าพร้อมกันได้สูงสุดที่ 45 แอมป์ ทีนี้ รถไฟฟ้า EV อย่างเช่น MG ZS EV ตัวชาร์จที่ติดตั้งที่บ้านจะใช้กับระบบไฟ 3 เฟสเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราใช้ไฟ 1 เฟส ก็ต้องไปแจ้งการไฟฟ้าขอเปลี่ยนเป็น 3 เฟส ถ้าบ้านเราเป็นไฟ 1 เฟส 15 (45) แอมป์ ซึ่งเราเคยเสียค่าตรวจสอบติดตั้งไปแล้ว 749 บาท การขอเปลี่ยนเป็น 3 เฟส 15 (45) แอมป์ ก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเลยสักบาท แต่ทีนี้เมื่อเรามีรถไฟฟ้า ซึ่งต้องชาร์จแบตเราต้องมาคำนวณว่า แอมป์ บ้านเราพอหรือไม่ เช่น MG ZS EV ตัวชาร์จสามารถชาร์จไฟได้ 7 KW แปลว่า ทุก ๆ ชั่วโมงจะต้องชาร์จไฟและใช้แรงดัน (วัตต์) 7,000 วัตต์ หรือคิดเป็นไฟ 7 หน่วย บ้านเราใช้ไฟ 220 โวลล์ เอาวัตต์ หารด้วย โวลล์ (วิชาการนิดหนึ่ง) ก็จะได้ค่าแอมป์ 7,000/220 = 31.81 แอมป์ จะเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่ได้ชาร์จรถไฟฟ้าอย่างเดียวแต่เรามีทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว เปิดแอร์ทีละหลาย ๆ เครื่อง 45 แอมป์ อาจจะไม่พอนะครับ ยิ่งถ้าวางแผนว่าในอนาคตอาจจะมีรถไฟฟ้ามากกว่า 1 คัน 15 (45) แอมป์ ไม่พอแน่นอน เราก็ต้องไปขอไฟ 3 เฟส แบบ 30 (100) แอมป์ ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่าย 1,605 - 749 = 856 บาท (จ่ายเพิ่ม) ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อขอเปลี่ยนระบบไฟกับการไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราต้องมาเปลี่ยนสายไฟที่เดินจากเสาไฟเข้ามาในบ้านด้วยไฟ 3 เฟส ก็จะต้องเดินสายไฟเพิ่มอีก 2 สาย ถ้าเป็น 30 (100) แอมป์ และต้องเปลี่ยนขนาดสายไฟเข้าบ้านใหม่ทั้งหมด ให้เป็นสายไฟที่หนาขึ้นเพื่อรองรับกระแสไฟที่สูงถึง 100 แอมป์ รวมถึงต้องเปลี่ยนระบบเบรกเกอร์ที่บ้านด้วย และสายไฟที่ออกจากเบรกเกอร์มาที่จุดชาร์จก็ต้องเป็นสายไฟที่สามารถรองรับกระแสไฟที่มากตามสเปกด้วย ถ้าซื้อรถ EV มาแล้วเสียบปลั๊กมั่วซั่วไปเรื่อยไฟไหม้บ้านแน่นอนครับ !!!!! คอนเฟิร์ม !!!!! Confirm !!!!! อีกจุดที่น่าสนใจคือ เรื่อง มิเตอร์ TOU (Time Of Use) ซึ่งมิเตอร์ TOU แบบ 3 เฟส จะมีค่ามิเตอร์อยู่ที่ 5,340 บาท ถ้าเราตั้งใจจะใช้รถไฟฟ้า แนะนำเลยครับว่าให้หาเงินมาอีกสักก้อน มาติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านด้วยแล้วไปขอเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ซึ่งมิเตอร์ TOU จะมีวิธีคิดค่าไฟแตกต่างกันตามช่วงเวลา ในช่วง PEAK วันธรรมดา 9.00 – 22.00 น. ค่าไฟจะแพงมาก หน่วยละ 5.79 บาท แต่แลกกับช่วง Off Peak วันธรรมดาหลังเวลา 22.00 – 06.00 น. และวันเสาร์ อาทิตย์ ทั้งวันทั้งคืน ค่าไฟจะเหลือแค่หน่วยละ 2.63 บาท แปลว่าอะไร แปลว่า...ถ้าเราติดโซล่าเซลล์ในระดับที่พอกับการใช้ไฟในตอนกลางวันของเรา ช่วง 09.00 – 17.00 น. แม้ค่าไฟจะแพงแต่เราก็ไม่ได้ใช้ เพราะเราใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์แทน เราจะใช้ค่าไฟแพงแค่ช่วงที่แดดหมดเท่านั้น 17.00 – 22.00 น. ในวันธรรมดา วันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น นอกนั้นเราก็เอ็นจอยกับค่าไฟหน่วยละ 2.63 บาท แล้วลองคิดดูว่า หลัง 22.00 น. เราชาร์ตแบตรถ EV เสียค่าไฟแค่หน่วยละ 2.63 บาท มันจะประหยัดขนาดไหน เช่น MG ZS EV แบตขนาด 44.5 kwh หรือ 44.5 หน่วย ตามสเปก วิ่งได้ 337 กิโลเมตร ถ้าชาร์จเต็มในช่วง Off Peak จะเสียเงินแค่ 117 บาท ตกกิโลละ 34 สตางค์ เท่านั้นเองครับ อ่านจบแล้วตาชั่งในใจของทุกคนเอนเอียงไปทางไหนบ้างครับ ระหว่างรถยนต์น้ำมันกับรถยนต์ไฟฟ้า นอกเหนือจากความชอบทางอารมณ์ความรู้สึกแล้วยังต้องมองถึงความพร้อมของบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ชาร์จหลักด้วย แต่บางคนอาจจะมองหาจุดชาร์จนอกบ้านอันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกครับ ข้อดีข้อเสียก็มีให้เห็นแล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อม (เรื่องเงิน) ของแต่ละคนแล้วล่ะครับ นายอัครวัฒน์ ศุภเลิศวรานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
21 เม.ย. 2564
สงสัยโทรศัพท์มือถือแอบฟัง!!! เพิ่งพูดถึง…โฆษณาก็ขึ้นมา
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ที่ว่าเพิ่งพูดถึงสินค้าอะไร พอเข้าไปในแอป Facebook บนมือถือ มักจะเจอโฆษณาสินค้าที่เราเพิ่งจะพูดคุยถึง และแอบสงสัยอยู่ว่าแอป Facebook ในโทรศัพท์มือถืออาจกำลังฟังบทสนทนาของเราอยู่หรือไม่ ซึ่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2559 Facebook ได้ปฏิเสธประเด็นนี้ว่า “Facebook ไม่ได้ใช้ไมโครโฟนของคุณเพื่อสร้างโฆษณาหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุณจะเห็นบน News'Feed ที่ผ่านมามีบทความพยายามชี้ว่าเราต้องฟังบทสนทนาของทุกคนเพื่อจะยิงโฆษณาให้ตรงจุดแก่ทุกคนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริงเลย เราแสดงโฆษณาโดยใช้พื้นฐานของความสนใจและข้อมูลโปรไฟล์อื่น ๆ” เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 Bloomberg News ได้เปิดเผยข้อมูลว่า Facebook ได้ว่าจ้างบริษัทนอกเพื่อถอดบทสนทนาของผู้ใช้งานเวลาพูดคุยกัน โดย Facebook ได้แถลงว่าเป็นบันทึกเสียงการสนทนาของผู้ใช้ที่พูดคุยกันผ่านแอปพลิเคชัน Facebook Messenger โดยสิ่งที่ทำเป็นการทดสอบความแม่นยำของระบบอัลกอริทึมถอดบทสนทนาอัตโนมัติที่กำลังจะปล่อยออกมา โดยได้หยุดโครงการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ Facebook ยังได้ใส่ฟีเจอร์ที่จะเข้ามาช่วยหาสาเหตุว่าทำไมโฆษณานี้ถึงได้เด้งขึ้นมาให้เราได้เห็นกันด้วยการกดไปที่ปุ่มเมนู (3 จุด) ที่มุมขวาบนของโฆษณาดังกล่าว แล้วเลือกที่ Why am I seeing this ad? (ทำไมฉันจึงเห็นโฆษณานี้?) อย่างไรก็ตามหลายคนก็ยังคงสงสัยว่าแอป Facebook แอบฟังบทสนทนาของเราอยู่ดี เนื่องจาก Facebook ช่างรู้ใจเราเหลือเกิน เพียงแค่คิดก็ขึ้นโฆษณามาให้แล้ว เว็บไซต์ thematter ได้กล่าวถึงการทดสอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว ของบริษัท Wandera ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งผลลัพธ์ออกมาพบว่า Facebook ไม่ได้ดักฟังบทสนทนาของเรา และการที่ Facebook สามารถยิงโฆษณาที่ตรงเป้าถึงผู้ใช้งานแต่ละคน เพราะว่า Facebook ดึงข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราจากร้านค้าหรือบริการต่าง ๆ ที่เราเข้าไปดู สั่งซื้อของ หรือใช้บริการ ระบบสามารถรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน เพื่อนของเราเป็นใคร พวกเขาสนใจอะไรบ้าง ข้อมูลมากมายที่ Facebook เก็บไปนั้นจะถูกนำไปเข้าระบบหลังบ้านผ่านอัลกอริทึมที่ซับซ้อน ก่อนจะเลือกว่าโฆษณาไหนควรถูกส่งให้ใครดูบ้าง ซึ่งอาจจะเหมือนว่ามันช่างตรงกับสิ่งที่เรากำลังสนใจอยู่เหลือเกินจนหลายคนเชื่อว่า Facebook แอบฟังเสียงเราอยู่ เพื่อพิสูจน์ว่ามีคนคิดว่า Facebook แอบฟังเสียงเราอยู่มากน้อยเท่าไร ผู้เขียนได้ทำการสำรวจง่าย ๆผ่านระบบโพลล์ของ Facebook ให้เพื่อนๆผู้ใช้ Facebook เป็นประจำ ตอบคำถาม “คุณคิดว่า Facebook แอบฟังเสียงของเราหรือไม่” จากผู้ตอบคำถามจำนวน 30 คน มีผู้ตอบว่าใช่ ร้อยละ 76.7 หรือจำนวน 23 คน และอีกร้อยละ 23.3 หรือจำนวน 7 คน ตอบว่าไม่ใช่ แสดงว่าอัลกอริทึมของ Facebook มีความสามารถในการประมวลผลเพื่อส่งโฆษณาได้ตรงใจจนน่าสงสัยจริง ๆ นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันอื่นที่เปิดเผยว่าบันทึกการสนทนาของเรา เพื่อนำข้อมูลไปเพิ่มความแม่นยำในการรับคำสั่งเสียง สุดท้ายหากเราไม่สบายใจว่าแอปพลิเคชันใด ในโทรศัพท์มือถือจะแอบฟังอะไรเราอยู่หรือไม่ สามารถเข้าไปในแอปดังกล่าวเพื่อตั้งค่าปิดไมโครโฟน แต่เราก็จะไม่สามารถใช้ไมโครโฟนเพื่อพูดคุยหรือสั่งงานแอปด้วยเสียงได้เช่นกัน นางอรพิน อุดมธนะธีระ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ ที่มา https://droidsans.com/facebook-monitoring-users-or-not/ https://thematter.co/thinkers/is-facebook-listening-to-you/86060
08 เม.ย. 2564
Model 3 เผยแพร่รายงานผลการศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
รายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือจากต่างประเทศด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เป็นการศึกษานโยบายที่เกี่ยวข้องและงานด้านต่างประเทศของ กสอ. เพื่อพัฒนางานด้านต่างประเทศและเพื่อพัฒนา ความร่วมมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพกับหน่วยงานของต่างประเทศ โดยผลการศึกษาประกอบด้วย 1) แนวทางการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ 2) แนวทางการพัฒนาความร่วมมือใหม่ ๆ กับต่างประเทศ
05 พ.ย. 2563
Model 2 เผยแพร่รายงานผลการศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
รายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการและระบบการพิจารณากลั่นกรองโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นการถอดบทเรียนจากการจัดทำโครงการสำคัญประจำปี 2565 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำขึ้น มาพัฒนาแนวทางการดำเนินงานของ กสอ. โดยผลการศึกษาประกอบด้วย 1) ข้อเสนอแนะภาพรวมกระบวนการพัฒนาโครงการ กสอ. เพื่อให้ได้โครงการที่มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่า 2) ข้อเสนอแนะกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโครงการ กสอ. โดยเพิ่มกระบวนการประเมินตนเอง (Self Assessment) ตามแบบฟอร์มและหลักเกณฑ์ที่ กง.กสอ. ออกแบบขึ้น
05 พ.ย. 2563
Model 1 เผยแพร่รายงานผลการศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
รายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับผู้ประกอบการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการศึกษาวิเคราะห์สภาพแวดล้อม สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ รวมถึงศึกษานโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการในบริบทต่าง ๆ โดยผลการศึกษาประกอบด้วย 1) แนวทางการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับผู้ประกอบการ 2) แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการในรูปแบบการอบรมออนไลน์
05 พ.ย. 2563
“SE” See ให้ impact กระแทกใจ
SE ที่อ่านว่า “เอส-อี” ไม่ใช่ ซี ย่อมาจาก Social Enterprise ที่ช่วงหลายปีมานี้หลายคนคงจะได้ยินผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย ซึ่ง SE หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม คือ องค์กรที่ประยุกต์กลยุทธ์ทางธุรกิจมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์และสิ่งแวดล้อมแทนที่จะสร้างผลกำไรสูงสุดให้แก่เจ้าของและผู้ร่วมถือหุ้น หากจะถามว่าการทำธุรกิจแบบนี้มันดียังไง ตอบง่าย ๆ เลยนะคะ ธุรกิจรูปแบบนี้มันดีต่อใจเพราะธุรกิจต้องตั้งอยู่บนความไม่เห็นแก่ตัวนั่นเองค่ะ Stop! อย่าเพิ่งบึนปากคว่ำกันไปซะก่อนนะคะ เพราะสิ่งสวยงามแบบนี้นี่แหละที่จะช่วยจรรโลงสังคมและโลกให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น...ถูกต้องไหมคะ? ปัจจุบันในไทยมีวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากว่า 200 กิจการ และจดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมกว่า 130 กิจการ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ย. 63) โดยการพัฒนาคนเป็นปัจจัยความสำเร็จหลักที่ทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือความหมายโดยนัยที่ซุกซ่อนนั่นก็คือ การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคมรวมทั้งทักษะผู้ประกอบการนั่นเอง นอกจากโมเดลทางธุรกิจจะมีความสำคัญต่อการดำเนินกิจการเพื่อสังคม ทำให้เกิดความยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่แตกต่างกันทั้งด้านหน่วยงานที่รับผิดชอบ กฎหมาย ประเด็นปัญหาที่ให้ความสนใจ รวมทั้งภูมิหลังทางภูมิศาสตร์และสังคมของแต่ละประเทศทำให้มีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกันและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันด้วย อย่างฟิลิปปินส์เรียกว่ากำลังพัฒนาเติบโตเพราะถึงจะมีร่างกฎหมาย PRESENT ที่ส่งเสริมด้านนี้อย่างจริงจัง แต่ภาครัฐก็ยังมีบทบาทค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาคเอกชน ด้านสิงคโปร์ถือว่าเข้มแข็งทีเดียวเพราะภาครัฐสนับสนุน ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายโดยตรง อีกทั้งเอกชนก็สนับสนุนด้านการเข้าถึงเงินทุนและดึงดูดการลงทุนเป็นอย่างดี ส่วนประเทศที่ SE เฟื่องฟูขึ้นแท่นคงหนีไม่พ้นอังกฤษ ที่มี ecosystem ที่เข้มแข็งและเอื้อต่อวิสาหกิจเพื่อสังคม ด้วยมี Social Enterprise UK (SE UK) เป็นศูนย์กลางของกิจการเพื่อสังคมในประเทศอังกฤษที่เชื่อมโยงการดำเนินงานควบคู่กับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน NGO และองค์กรด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาสู่การแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนการเติบโตของกิจการเพื่อสังคม และยังมีรูปแบบทางกฎหมายเฉพาะสำหรับกิจการเพื่อสังคมอย่างบริษัทเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน Community Interest Company : CIC และ บริษัทกึ่งมูลนิธิ (Charitable Companies) แลนดิ้งกลับมาไทยเราบ้างก็ไม่ใช่ย่อยเพราะเมื่อปีที่แล้วได้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรียกว่าไข่ที่ SE บ้านเราฟูมฟักกำลังค่อย ๆ เติบโตเป็นตัวเป็นตนแล้วก็ว่าได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่จะช่วยผลักดันให้ไทยเกิด SE เพิ่มขึ้นและประคองตัวอยู่รอดตลอดจนถึงฝั่งฝัน ลองศึกษาเพิ่มเติมกันดูนะคะ เพราะวันนี้ทางเราคัดสรรมาเพียงออร์เดิร์ฟแค่เรียกน้ำย่อยเท่านั้นค่ะ มองทั่วโลกในเวลานี้ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงและไม่มีอะไรที่มั่นคงถาวรตลอดไป ฟากคนทำธุรกิจก็ยิ่งหวาดหวั่นใจเต้นตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ลุ้นอยู่ทุกวันใช่ไหมคะ ไม่แน่ว่าคำตอบของวิถีธุรกิจในชีวิตคุณอาจจะเป็น Social Enterpriseมากกว่า High Profit ที่เป็นเม็ดเงิน 100% เต็มก็ได้นะคะ เพราะความสุขและรอยยิ้มของคนรอบข้างและสังคมที่คุณอยู่อาจจะส่งผล Impact ต่อชีวิตจิตใจคุณมากกว่าก็ได้ค่ะ ที่มา 1. สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) 2. https://www.britishcouncil.or.th/sites/default/files/kicchkaarephuuesangkhmainshraachaanaacchakr_final.pdf 3. https://www.britishcouncil.or.th/programmes/society/social-enterprise/knowledgebase/case-studies
28 ต.ค. 2563
ประเด็นเนื้อหาข่าว ผ่านสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์
ท่านเคยประสบปัญหานี้ไหม? มีแนวคิดจะสร้างภาพลักษณ์องค์กร หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ข้อมูลสินค้าและบริการ แต่คิดไม่ออกไม่รู้จะสื่อสารเนื้อหาอะไรบนสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เขียนมีคำตอบค่ะ ปัจจุบันเทคโนโลยีและการสื่อสารในประเทศไทยมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Google, Line, YouTube, twitter, Instagram และอื่น ๆ ซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อการสื่อสารอย่างกว้างขวาง เนื่องจากสามารถเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายได้โดยง่าย แม้ว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์อาจมีหลายวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อการสนทนา เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร โฆษณาประชาสัมพันธ์ การแชร์รูปภาพนิ่ง ภาพมัลติมีเดีย คลิปต่าง ๆ เป็นต้น แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะหมายถึง การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ การขายสินค้าและบริการเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในองค์กร โดยการนำเนื้อหาข้อมูลที่ต้องการประชาสัมพันธ์ หรือ โฆษณาลงในเครือข่ายสังคมออนไลน์ประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะของสื่อนั้น ๆ แน่นอนว่าเราจะต้องคำนึงถึงกระบวนการสื่อสารที่ครบองค์ประกอบ คือ ผู้ส่งสาร สาร/เนื้อหาช่องทาง ผู้รับสาร รวมถึงข้อมูลข่าวสารต้องถูกต้อง ครบถ้วน ใหม่ สด ทันเวลา ในที่นี้ผู้เขียนขอเน้นการกำหนดประเด็นเนื้อหาข่าวผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เนื่องจากเป็นสื่อยอดนิยมและมีผลต่อการรับรู้ของผู้รับสารกลุ่มเป้าหมายที่อาจพอใจหรือขัดแย้งไม่เห็นด้วยก็ได้ การสร้างเนื้อหาข่าวสารบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ จึงมีความจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงหลักการกำหนดประเด็นเนื้อหาข่าว ดังต่อไปนี้ 1. ความเคลื่อนไหวขององค์กร เป็นการสื่อสารเรื่องราวขององค์กรด้านต่าง ๆ เช่น ทิศทางการบริหารองค์กร การออกแบบนโยบายและกลยุทธ์ วิสัยทัศน์องค์กร 2. การบอกเล่าเรื่องราวขององค์กร เช่น ข่าวการเปิดตัวโครงการ 3. การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เช่น การให้ความคิดเห็น 4. การแสดงคุณค่าของสินค้าและบริการ เช่น ความโดดเด่นของสินค้าและบริการ 5. ความผูกพันและความมั่นใจระยะยาว 6. การให้ข้อมูลบทวิเคราะห์ คำปรึกษาและการบริการวิชการ 7. กำหนดการที่สำคัญขององค์กร เช่น การสัมมนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 8. ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมขององค์กร 9. การยอมรับความเชี่ยวชาญหรือความดี เช่น การได้รับรางวัล 10. กิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กร ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการกำหนดประเด็นเนื้อหาข่าวดังกล่าวจะตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ
22 ต.ค. 2563
ทำไมองค์กรต้องมียุทธศาสตร์
ท่านเคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมองค์กรของเราถึงต้องมียุทธศาสตร์ แม้ว่าประเทศไทยจะกำหนดให้องค์กรต่าง ๆ ใช้คำว่า “แผนปฏิบัติการด้าน.......ระยะที่..(พ.ศ...-...)” แทนใช้คำว่ายุทธศาสตร์ นับตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ยกเว้นแต่ที่ได้มีการระบุไว้ก่อน หากกล่าวถึงอดีตจนถึงปัจจุบันเป้าหมายที่สำคัญของรัฐบาลไทย คือ การบริการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนด้วยความถูกต้องเป็นธรรมเพื่อให้ประชาชนพึงพอใจ ดังนั้นการมียุทธศาสตร์องค์กร เปรียบเสมือนการมีเข็มทิศขององค์กรแสดงทิศทางที่ชัดเจนว่าองค์การของเรานั้นอยู่ที่ไหนในขณะนี้ พันธกิจของเราคืออะไร พันธกิจของเราควรจะเป็นอะไร ใครเป็นผู้รับบริการของเรา และผลของการบริการเป็นอย่างไรซึ่งหลักการวิธีคิดคือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน วิธีตัดสินใจคือการกระจายอำนาจการตัดสินใจของส่วนราชการ วิธีปฏิบัติให้แผนงานขององค์กรบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ สำหรับผู้บริหารแล้วก่อนจะดำเนินการตามภารกิจใด ส่วนราชการต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการไว้เป็นการล่วงหน้าและกำหนดแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการตามโดยต้องมีรายละเอียดตามขั้นตอน ระยะเวลาและงบประมาณที่จะต้องใช้ในการดำเนินการของแต่ละขั้นตอนเป้าหมายของภารกิจ ผลสัมฤทธิ์ของภารกิจและตัวชี้วัดของความสำเร็จของภารกิจ...” อันแสดงถึงการบริหารยุทธศาสตร์ที่โปร่งใสของผู้บริหาร มีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือ ธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยในอดีต และยุทธศาสตร์ชาติในปัจจุบัน บทสรุปการมียุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือขององค์กรทำให้องค์กรมีทิศทาง มีแนวทางปฏิบัติที่ดีตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้รับบริการโดยให้ประชาชนเป้าหมายมีส่วนร่วมคิดร่วมปฏิบัติ ร่วมแก้ไขปรับปรุงพัฒนา และร่วมติดตามประเมินผลที่ชัดเจน ทำให้เป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูงตามแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ นั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าจะใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” หรือ คำว่า “แผนปฏิบัติการ” ทั้งสองคำมีเป้าหมายเหมือนกัน คือ การเป็นเครื่องมือนำองค์กรไปสู่อนาคต ........ ยุทธศาสตร์ในองค์กร จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้องค์กรมีขีดความสามารถในการแข่งขันและไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
15 ต.ค. 2563