Category
Critical Thinking คิดอย่างไรให้มีเหตุผล
Critical Thinking หรือ การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบการเรียนรู้ และเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ภาคการศึกษาทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล สามารถทำให้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างความคิดต่างๆ ของคนได้ และสามารถกำหนดความสำคัญ และความเกี่ยวข้องในเหตุผลและความคิด นอกจากนี้ยังสามารถแก้ปัญหาอย่างสอดคล้องและเป็นระบบได้ จึงเห็นได้ว่า การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานราบรื่น และประสบผลสำเร็จ เพราะฉะนั้นเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจเรื่องการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลมากขึ้น จะขออธิบายหลักการต่างๆ ของการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลไว้ดังนี้ การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล (Critical Thinking) หมายถึง การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นกระบวนการคิดที่ชัดเจน มีเหตุผลและมีวินัยทางสติปัญญาในการกำหนด แนวความคิด การประยุกต์วิเคราะห์ การสังเคราะห์ และ/หรือการประเมินข้อมูลที่รวบรวมหรือสร้างขึ้น และเป็นกระบวนการ พัฒนาทักษะที่ทำให้มีความสามารถในการรับรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยการสังเกต ประสบการณ์ การไตร่ตรอง การให้เหตุผล หรือการสื่อสาร เพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อและการกระทำ นักคิดจะปรับปรุงกระบวนการคิดของตน โดยการไตร่ตรองและตระหนัก ถึงข้อผิดพลาดและอคติที่อาจเกิดขึ้น กระบวนการ Critical Thinking มี 5 กระบวนการ 1. กำหนดสถานการณ์ เหตุการณ์ ในส่วนนี้จะเป็นการกำหนดสถานการณ์ว่าต้องการจะคิดวิเคราะห์เรื่องใด 2. รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง เป็นการเรียบเรียงข้อมูลให้มากที่สุด อาจจะเป็นการหาข้อมูลเพิ่มเติม การสอบถามข้อมูลจากคนอื่น หรือการคิดหาข้อมูลจากความรู้หรือประสบการณ์ในอดีตของตัวเอง 3. วิเคราะห์ข้อมูล คือ การนำข้อมูลที่รวบรวมในขั้นตอนที่ 2 มาวิเคราะห์ และคิดวิเคราะห์ว่าจะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบใด และมีข้อดีและข้อเสียอะไรหรือไม่ โดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา (Why Why Analysis) 4. ตั้งสมมติฐานเพื่อแก้ปัญหา คือ การกำหนดทางเลือกของวิธีการแก้ปัญหา 5. สรุปและตัดสินใจ คือ การเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดของสมมติฐานที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ และสามารถปรับปรุงข้อมูลข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง แนวทางการคิดและการตั้งคำถามแบบ Critical Thinking โดยใช้เครื่องมือ 5W-1H ใครเป็นคนพูด (Who) คนพูดเป็นคนที่เรารู้จักหรือไม่ คนพูดเป็นคนที่มีความเหมาะสมหรืออยู่ในตำแหน่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่ สิ่งที่พูดนั้นสำคัญมากน้อยเพียงใด พูดเรื่องอะไร (What) สิ่งที่พูดนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็น ข้อเท็จจริงนั้นมีครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ พูดที่ไหน (Where) สิ่งที่พูดนั้นเป็นการพูดในที่ชุมชนหรือการพูดแบบส่วนตัว มีทางเลือกมากน้อยเพียงใด พูดเมื่อใด (When) สิ่งที่พูดเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น ช่วงเวลานั้นมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน พูดเพื่ออะไร (Why) คนพูดได้บอกเหตุผลในสิ่งที่พูดหรือการนำเสนอความคิดเห็นหรือไม่ คนพูดพยายาม ทำให้ตัวเองดูดีและคนอื่นๆดูแย่หรือไม่ พูดอย่างไร (How) คนพูดพูดตามที่เขียนหรือเข้าใจสิ่งที่พูดหรือไม่ และตัวเราเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูดหรือไม่ กล่าวโดยสรุป จะเห็นว่า การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล จะมีประโยชน์มากมาย นอกจากจะช่วยให้เรารู้จักคิด วิเคราะห์ หาเหตุผลให้สิ่งต่างๆ และสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้แล้วนั้น ยังเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินชีวิต ซึ่งถ้าทุกคนรู้จักเรียนรู้ทักษะทางด้านนี้ จะทำให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้ได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย สามารถช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลได้มากขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้จัดการกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นางสาวกานต์ธิดา สินทรัพย์ นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ กลุ่มศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
08 มี.ค. 2022
New OTAGAI Forum 2022
พบกับ !!! งานสัมมนา New OTAGAI Forum ครั้งที่ 21 งานสัมมนาเพื่อเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมไทย - ญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด OTAGAI หรือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน (Win-Win) ผ่านการนำเสนอความต้องการ (Business Needs) โดยผู้ประกอบการ SMEs ชั้นนำของไทยและญี่ปุ่น จาก อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ BCG (Bio-Circular-Green) รวมทั้งเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย วันและเวลา : วันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 - 16.30 น.สถานที่ : ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค (BITEC) ภายในงาน Metalex March รูปแบบการจัดงาน : Hybrid (สามารถเข้าร่วมงานในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Webinar ได้)ลงทะเบียน : https://forms.gle/f3iyHY7f8BVTuBrf7ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
01 มี.ค. 2022
กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ เขาทำอะไรกัน ?
กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งบทบาทหลักที่สำคัญ คือ ศึกษาและวิเคราะห์นโยบายความร่วมมือต่างๆ รวมถึงนโยบายการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศเพื่อวางกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งประสานความช่วยเหลือและร่วมเจรจากับแหล่งความช่วยเหลือ และองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนข้อเสนอของไทย เมื่อมีผู้นำหรือผู้แทนจากต่างประเทศมาเยือนกระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศมีหน้าที่จัดทำข้อมูลประกอบการเจรจาหารือ ตัวอย่างเช่น เอกสารข้อมูลและโครงการต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และนอกจากนี้ยังมีบทบาทในการจัดประชุมหรือศึกษาดูงานให้คณะที่มาจากต่างประเทศ รวมถึงนำคณะฝ่ายไทยไปประชุมหรือศึกษาดูงานในต่างประเทศด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมการประชุมเจรจาธุรกิจและการประชุมนานาชาติ เป็นต้น เนื่องด้วยประเทศญี่ปุ่นมีความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในหลากหลายมิติจึงได้มีการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่นขึ้นภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนจากจังหวัดชิมะเนะและจังหวัดวากายามะในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงองค์กรเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) มานั่งประจำประเทศไทยจำนวน 3 ท่าน รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม SME ไทยและญี่ปุ่น เช่น (1) กิจกรรม CEO Business Matching โดยทางกลุ่มฯ มีหน้าที่ประสานงานหาผู้ประกอบการไทยมาจับคู่พูดคุยทางธุรกิจกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น (2) งานสัมนา OTAGAI Forum ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งใหญ่โดยมีผู้แทนจากจังหวัดต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นมาประชุมร่วมกันกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป้าหมาย คือ แลกเปลี่ยนความรู้ข่าวสารแนวโน้มความต้องการของผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น และเพิ่มโอกาสในการจับคู่ทางธุรกิจ และ (3) โครงการ Smart Monozukuri Support Team ที่มีเพื่อพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไข (Kaizen) รวมถึงการนำ Internet of Things (IoT) มาใช้เพื่อพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น สิ่งที่ได้กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการขึ้นเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางให้สามารถเชื่อมโยงแก่ผู้ซื้อหรือตลาดจากประเทศต่าง ๆ ได้ นางสาวอาชัทยา สิมะโชคดี นักวิชาการอุตสาหกรรม กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
07 ก.พ. 2022
ดีพร้อม ติวเข้มบุคลากรศึกษาโมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ นำร่องพัฒนา 13 ชุมชน ทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ 25 มกราคม 2565 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ศึกษารูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม” ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวรายงาน ผ่านระบบออนไลน์ทางแอปพลิเคชั่น Zoom meeting กิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการเพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based Community Development) รวมทั้งเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ของดีพร้อม สามารถจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินศักยภาพของพื้นที่เพื่อพัฒนารูปแบบในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชน ผ่าน 3 กิจกรรม คือ 1. การสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ถึงหลักการของการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม ทั้ง 5 มิติ (มิติด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม) 2. การศึกษาเรียนรู้วิธีการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต้นแบบ 3. การศึกษารูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนในพื้นที่นำร่อง โดยจะดำเนินการคัดเลือกชุมชนนำร่องในพื้นที่ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 – 11 ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และส่วนกลาง รวม 13 ชุมชน เพื่อขยายผลไปสู่อีกหลายชุมชนให้เป็นฐานในการพัฒนา อีกทั้งยังพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจในทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ สามารถวิเคราะห์ศักยภาพและเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงและนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนที่สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ได้ ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
27 ม.ค. 2022
“ดีพร้อม” ระดมแนวคิด ปรับการทำงานหน่วยงานภูมิภาคสู่หน่วยงานวิชาการ พร้อมเสริมแกร่งอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในพื้นที่
กรุงเทพฯ 22 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดงานอบรมหลักสูตร “พัฒนาบุคลากรระดับภูมิภาคสู่ความเป็นวิชาการ ปีที่ 2” วางกรอบทิศทางการพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจภาค ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ และ นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ได้กล่าวรายงาน ผ่านทางแอปพลิเคชั่น Zoom meeting การอบรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงาน ภายใต้ กิจกรรมศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มุ่งปรับบทบาทภารกิจของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคให้เป็นหน่วยงานวิชาการ ในการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจในอุตสาหกรรมภาค โดยกิจกรรมในวันนี้ ท่านผู้บริหารได้ร่วมกันกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนา ส่งเสริมวิสาหกิจภาค ซึ่งทำให้ผู้อบรมได้รับนโยบายเพื่อจะได้นำไปจัดทำ “แผนพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจภาค” ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ จำนวน 7 แผน จากการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้แก่ การขับเคลื่อนการพัฒนาภาค การวิเคราะห์ข้อมูลและการประเมินศักยภาพวิสาหกิจ และการวางแผนกลยุทธ์ด้วยการบริหารการคาดการณ์อนาคต (Foresight) พร้อมกันนี้ยังได้รับเกียรติจาก นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่จะมาร่วมปรับแต่งแผนฯ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมแก่ผู้เข้าอบรมในการศึกษามุมมองภาพรวม และทิศทางของเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงทักษะของผู้ประกอบการในการปรับตัว การพัฒนาแนวคิดในรูปแบบใหม่ วิเคราะห์ทุกองค์ประกอบที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
23 พ.ย. 2021
แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค ประจำปี พ.ศ. 2566 – 2570
แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค ประจำปี พ.ศ. 2566 – 2570 ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 - 11 และ ศูนย์วิจัยวัสดุอุตสาหกรรมสรา้งสรรค์ ถือเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ และเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานภูมิภาค ในการเชื่อมโยงเข้ากับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับประเทศ รวมถึงการดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ศูนย์วิจัยวัสดุอุตสาหกรรมสรา้งสรรค์
14 ต.ค. 2021