Six Sigma ปรับปรุงธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ ปั้นกำไรอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน Six Sigma ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในการปรับปรุงกระบวนการทั้งในภาคการผลิตและงานบริการ วันนี้ผู้เขียนได้นำ D-M-A-I-C (D efine, M easure, A nalyze, I mprovement, C ontrol) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกระบวนการทำงานของ Six Sigma มาแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ลองใช้ดู ซึ่งผู้เขียนเคยนำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อลด Lead Time ของกระบวนการผลิต ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนคนงานและจำนวนเครื่องจักร เมื่อสมัยทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม
D-M-A-I-C เป็นขั้นตอนของการเรียบเรียงกระบวนการทางความคิด และเป็นแนวทางที่องค์กรส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้ในการระบุสาเหตุ ในการลดความสูญเสียจากการดำเนินงาน หรือ อาจเรียกว่า Problem Resolution โดย D-M-A-I-C จะมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหลังจากปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว เพื่อจะปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้มีคุณภาพตามกำหนด และเพื่อให้ทุกคนจดจำได้ง่ายขึ้น ลองจำเป็น D-MAI-C (ดี-ไหม-ครับ หรือ ดี-ไหม-คะ) แล้วแต่ที่สะดวกได้เลยค่ะ ผู้เขียนขออธิบายถึงรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนให้เพื่อน ๆ ได้มองเห็นภาพได้ง่ายขึ้นนะคะ ไปเรียนรู้กันทีละตัวเลยค่ะ
D efine คือ ขั้นตอนของการนิยามหรือกำหนดปัญหาให้เข้าใจตรงกัน เลือกโครงการที่จะทำการปรับปรุงหรือออกแบบ เช่น เลือกกระบวนการผลิตที่เป็นกระบวนการคอขวด (Bottleneck Process) หรือ กระบวนการผลิตที่เกิดของเสียสูงที่สุด เพื่อให้โครงการที่เลือกทำนั้นเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ทำแล้วคุ้มค่า ตรงประเด็นไม่เสียเวลา
M easure คือ การนำปัญหาที่เรากำหนดแล้ว มาทำให้เป็นตัวเลข หรือสร้างเกณฑ์ชี้วัดสภาพปัญหา เช่น การวัดความสามารถของกระบวนการผลิต การวัดของเสีย การวัดประสิทธิผล ฯลฯ
A nalyze คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำการวัดมาแล้ว เพื่อพิสูจน์หาตัวแปรที่สำคัญที่สุดในกระบวนการ (Key process variable) ที่เป็นต้นตอสาเหตุของปัญหาที่นิยามไว้ เช่น การผลิตสินค้าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของลูกค้าในขั้นตอนนนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะถ้ากำหนดตัวแปรที่สำคัญผิดก็ไม่สามารถปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นได้
I mprove คือ การปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น หลังจากที่เราสามารถหาตัวแปรที่มีผล หรือนัยสำคัญในกระบวนการทำงานได้แล้ว เราก็ลงมือปรับปรุงกันได้เลย
Control คือ การควบคุมกระบวนการทำงานให้อยู่ภายใต้การทำงานอย่างมีมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ โดยเราสามารถควบคุมการกระบวนการทำงานอย่างมีมาตรฐาน ด้วยการออกเอกสารมาตรฐาน (Standard Document) หรือ Statistical process control (SPC) ในการควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิต
Six Sigma เป็นหนึ่งในหลายร้อยวิธีที่อาจจะคลิกกับปัญหาที่ธุรกิจของท่านกำลังประสบอยู่จนสามารถคลายปมที่ยุ่งเหยิงพลิกวิกฤติกลับไปสู่กำไรที่เพิ่มขึ้นพอกพูนได้ อ่านมาถึงบรรทัดนี้คงรู้แล้วใช่ไหมคะว่าวิธีการนี้ไม่ยากอย่างที่คิด ลองนำไปปรับใช้กันดูแล้วจะรู้ว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอถ้าเราใช้กุญแจถูกดอกค่ะ
แหล่งที่มา
1. https://www.dropbox.com/th_TH/business/resources/dmaic
2. https://www.solutioncenterminitab.com/blog/lean-six-sigma-terms-dmaic-dmadv-dfss-2/
บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น