แก่ไปไม่จน


03 ก.ค. 2020    napakan    13

คนไทย "จนตอนแก่" ปัญหาใหญ่ระดับชาติ จากข้อมูลใน website ธนาคารไทยพาณิชย์ พูดถึงเรื่องนี้เป็นประเด็น Hot issue การเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ของประเทศไทยในระยะยาวจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก โดยนิยามของ “สังคมผู้สูงอายุ” ตามหลักการสากลทางองค์การสหประชาชาติ ระบุไว้ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็น “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ” หรือ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20

มาดูที่ตัวเลขของประเทศไทย โดยที่เมื่อสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 65,203,979 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,569,021 คน หรือคิดเป็นร้อย 16.2 ของประชากรทั้งหมด นั่นก็แปลว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และคาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

จากตัวเลขประชากรดังกล่าวทำให้ในปัจจุบันจำนวนคนวัยทำงาน 4 คนจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ 1 คน และในอนาคตสัดส่วนนี้จะมีค่าลดลงเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนคนวัยทำงานกลับลดลงเป็นอย่างมาก ตัวเลขนี้กำลังจะบอกว่าหากเราไม่มีการเตรียมการเกษียณอายุที่ดีมากพอ เราจะมีโอกาสประสบปัญหา “จนตอนแก่” อย่างแน่นอน เพราะเราไม่อาจคาดหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเราได้เหมือนในอดีต (คนแต่งงานช้าลง มีลูกน้อยลง และบางส่วนโสด) และสวัสดิการจากรัฐก็อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป (คนสูงวัยมากขึ้น คนวัยทำงานน้อยลง รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง งบประมาณไม่พอ และดูแลไม่ไหว)

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2557 พบว่าแหล่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุมาจาก

เงินได้จากบุตร                                      36.7 %

รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง                33.9 %

เบี้ยยังชีพจากราชการ                                14.8 %

เงินบำเหน็จ บำนาญ                                 4.9 %

เงินได้จากคู่สมรส                                   4.3 %

ดอกเบี้ยเงินออมและการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่            3.9 %

จะเห็นว่าผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงรายได้จากคนอื่น (จากลูก จากรัฐ และจากคู่สมรส) สูงถึง 55.8% และประมาณ 34% ยังต้องทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเองต่อไป กล่าวโดยสรุป หากไม่มีลูกหลานและคู่สมรสดูแล และสวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุกว่า 90% จะไม่สามารถเกษียณอายุได้ และยังคงต้องทำงานต่อไป ในความเป็นจริงไม่มีใครหรอกที่จะวางแผนให้ชีวิตตัวเองล้มเหลว แต่ที่ล้มเหลวเพราะไม่ได้วางแผนต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้วางแผนเกษียณอายุกันเลย

เรื่องการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นให้เร็วที่สุด ไม่ใช่รอจนเวลาใกล้เกษียณจึงมาวางแผนเพราะนั่นจะทำให้โอกาสที่จะ “จนตอนแก่” มากกว่า "พร้อมก่อนแก่" คำพูดที่ว่าแก่แล้วเดี๋ยวก็ตายแล้ว ถ้าไม่ตายล่ะครับจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร? เริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สายครับ สำหรับอาชีพสีกากีผมขอแนะนำเครื่องมือในการช่วยวางแผนก่อนเกษียณที่เรามีอยู่ (แต่บางทีเราไม่ได้ให้ความสำคัญ) คือ “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.” นับตั้งแต่ปี 2540 ข้าราชการบรรจุใหม่ทุกคนต้องสมัครเข้า กบข. อัตโนมัติ โดยบังคับเข้านั้นเองแต่รู้หรือไม่ว่า กบข. ช่วยให้เราวางแผนเกษียณได้อย่างไร

ทุกครั้งที่ผมไปชวนพี่ ๆ น้อง ๆ วางแผนทางการเงินกับ กบข. ก็จะได้รับเสียงสะท้อนกลับมาว่าทุกวันนี้เงินเดือนก็จะไม่พอ (รับประทาน) อยู่แล้ว จะให้หักเข้า กบข. เพิ่มอีกไม่ไหวแน่ ๆ ใจเย็น ๆ ก่อนนะครับ สิ่งที่ผมจะแนะนำในขั้นแรกยังไม่ต้องเพิ่มเงินออมครับ แต่ขอให้เปลี่ยนแผนในการลงทุน เพราะเมื่อเราสมัครเข้า กบข. แผนที่ กบข. เลือกให้นั้นคือแผนหลัก (แผนหลักคือแผนที่ได้ผลตอบแทนเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ) ดังนั้นเงินที่เราโดนหักไป (3% ตามกฎหมาย) นั้นไม่สามารถงอกเงยได้เลย ผมจึงอยากจะแนะนำให้เปลี่ยนแผนการลงทุนจากแผนหลักไปเป็นแผนสมดุลตามอายุ (จริง ๆ มีอีกหลายแผนแต่ถ้าให้ผมอธิบายคงยาว) เพราะแผนนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแผนบ่อย ๆ หรือไม่ได้มีความรู้ด้านการลงทุนมาก แผนนี้จะปรับสัดส่วนในการลงทุนตามอายุ กล่าวคืออายุน้อยลงทุนในกองทุนที่เสี่ยงมากนิดหนึ่ง พออายุมากขึ้นก็จะปรับสัดส่วนความเสี่ยงลง (ความเสี่ยงมาก ความเสี่ยงน้อยมีผลกับค่าตอบแทนโดยตรง high risk high return) ผมพิจารณาแล้วเห็นว่าผลตอบแทนให้มากกว่าแผนหลัก และเป็นประโยชน์กับพี่น้องข้าราชการทุกท่าน ที่ได้ผลตอบแทนมากขึ้นโดยไม่ต้องออมเพิ่มแต่อย่างใด

 

เริ่มสนใจ กบข. แล้วใช่ไหมครับ เรามาต่อกันเลยสำหรับคนที่คิดว่าเราน่าจะออมเพิ่มสักนิดสักหน่อย มาครับ ๆ ผมจะแนะนำให้ง่าย ๆ ออมแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวกันเลย ปัจจุบัน กบข. เปิดให้สมาชิกออมเพิ่มได้ในสัดส่วน 12% ของเงินเดือน เมื่อรวมกับเงินออมตามกฎหมายอีก 3% รวมเป็น 15% ที่เราสามารถออมได้ โดยที่เราสามารถเพิ่มอัตราส่วนการออมเริ่มตั้งแต่ 1% ไปจนถึง 12% วิธีการง่าย ๆ คือ เราได้ปรับเงินเดือนเมื่อไร (เฉลี่ยประมาณ 3%) ให้ออมเพิ่มอย่างน้อยสัก 1% ก็ยังดี ทำแบบนี้ทุกรอบการประเมิน 6 ปี ก็ออมได้ 12% แล้วครับ และที่สำคัญเราจะไม่รู้ตัวด้วยว่าโดนหักเงินเดือน เพราะหักเงินเดือนในส่วนที่เราได้เงินเดือนขึ้นมา เห็นไหมครับไม่ยากเลยในการวางแผนเกษียณ สามารถทำออนไลน์ได้ตาม link ด้านล่างครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านให้แก่ไปไม่จนนะครับ สู้ สู้

 

Link เปลี่ยนแผน https://www.gpf.or.th/thai2019/2Member/main.php?page=3&menu=investplan

Link ออมเพิ่ม https://www.gpf.or.th/thai2019/2Member/main.php?page=11&menu=oomperm

ดาวน์โหลด