ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจต่างๆ ของผู้ประกอบการ มีแนวโน้มการใช้บริการที่ปรึกษาธุรกิจมากขึ้น ทั้งในสถานประกอบการขนาดใหญ่ และสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เนื่องจากสถานประกอบการไม่มีความรู้ความชำนาญในการบริหารจัดการครบทุกด้านตามที่ต้องการ เนื่องจากมีทรัพยากร หรือบุคลากรที่จำกัด นอกจากนี้ การขาดความชำนาญในบางด้านของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งขันจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งคู่แข่งในประเทศเดียวกัน จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีของที่ปรึกษาธุรกิจ เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากต้องมองหาผู้ช่วย เช่น ที่ปรึกษาธุรกิจ มาเติมเต็มสิ่งที่ขาดนั่นเอง
ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Counselor, APEC IBIZ) หลักสูตรการให้คำปรึกษาและบทบาทหน้าที่ของที่ปรึกษา ได้ยกตัวอย่างคำจำกัดความของการให้คำปรึกษา เช่น
1. การให้คำปรึกษา เป็นความร่วมมือระหว่างที่ปรึกษาและผู้ประกอบการที่จะทำให้ผู้ประกอบการรู้จักตนเองและสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง
2. การให้คำปรึกษา คือ การช่วยผู้ประกอบการให้รู้จักตรวจสอบและวิเคราะห์ปัญหาของตนเอง และรู้จักวิธีแก้ปัญหาที่จะเป็นไปได้ รู้จักเลือกและทดลองแก้ปัญหาที่คิดว่าจะได้ผลดีที่สุด
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจนั้น ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ที่ต้องการเตรียมตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจที่ดี และสามารถอยู่ในวงการธุรกิจที่ปรึกษาได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติ ดังนี้
การตัดสินใจที่ดี (Good Judgment) ที่ปรึกษาจะต้องมีการตัดสินใจที่ดีเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ไม่ควรด่วนสรุป ควรใช้เวลาในการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะทำการตัดสินใจ บางครั้งที่ปรึกษาคล้อยตามความคิดเห็นของพนักงานในสถานประกอบการมากเกินไป ส่งผลให้การตัดสินใจผิดพลาดได้
2. การทำงานเป็นทีม (Team Player) ที่ปรึกษาต้องแสดงให้เห็นถึงการทำงานเป็นทีม มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากสมาชิกในทีม เห็นคุณค่าและความเชี่ยวชาญของผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ความร่วมมือให้เกิดขึ้น
3. ทักษะการสื่อสารที่ดี (Good Communication Skills) ที่ปรึกษาควรมีทักษะการสื่อสารทั้งทักษะการพูดและทักษะการเขียน ควรสื่อสารความคิดเห็นผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในระหว่างขั้นตอนการให้คำปรึกษา ที่ปรึกษาต้องมีการพบกับผู้ประกอบการที่มีบุคลิกลักษณะความแตกต่างกัน การมีทักษะการฟังที่ดีมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพูดได้อย่างอิสระ เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการ และในท้ายที่สุดทำให้กระบวนการให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. ความรู้ความเชี่ยวชาญ (Expert Knowledge) ผู้ประกอบการมักเลือกใช้บริการที่ปรึกษาภายนอกด้วยเหตุผลสองประการ คือ 1) ผู้ประกอบการคาดว่าที่ปรึกษามีความเชี่ยวชาญมากกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ภายในสถานประกอบการ หรือ 2) ผู้ประกอบการไม่มีเวลาเพียงพอในการแก้ปัญหาหรือดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานประกอบการ ดังนั้น ในฐานะที่ปรึกษาธุรกิจ ควรมีความรู้ที่หลากหลาย รู้ว่าเมื่อไหร่ควรถามคำถามและรู้ว่าที่ไหนเป็นแหล่งที่มาในการหาคำตอบแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ปรึกษาธุรกิจควรศึกษาหาความรู้ให้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา โดยการอ่านวารสารนิตยสารและเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆ การเข้ารับการฝึกอบรม สัมมนา การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านทางเครือข่ายที่ปรึกษา ที่ปรึกษาธุรกิจควรรู้วิธีการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติและการฝึกฝนความชำนาญในการใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เช่น ซอฟต์แวร์ เพื่อให้สามารถให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. การกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบ (Roles and Responsibilities) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับที่ปรึกษาในการกำหนดขอบข่ายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนว่าสิ่งใดสามารถทำได้ สิ่งใดไม่สามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนการให้บริการผู้ประกอบการแต่ละราย เนื่องจาก ผู้ประกอบการมีความคาดหวัง มุมมองต่อหน้าที่ความรับผิดชอบความสามารถของที่ปรึกษาแตกต่างกันไป ผู้ประกอบการบางรายคาดว่าที่ปรึกษาเป็นพระเจ้าที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง บางรายคาดว่าที่ปรึกษาเป็นเพียงผู้มาช่วยแก้ไขงานในบางเรื่องเท่านั้น
6. ความเข้าใจในธุรกิจของผู้ประกอบการ (Understand Entrepreneur’s Business) ที่ปรึกษาควรศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจของผู้ประกอบการก่อนเริ่มต้นขั้นตอนการให้บริการปรึกษาแนะนำ การทำความเข้าใจธุรกิจและนำเสนอคำแนะนำ ทางเลือกต่างๆที่เหมาะสม โดยนำเสนอทั้งข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือก ทั้งนี้ ที่ปรึกษาควรนำเสนอและประเมินทางเลือกในการจัดการธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีประเด็น ดังนี้ – ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน – ความเสี่ยงและผลตอบแทน – คำนึงถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจในภาพรวมของสถานประกอบการ – แนวทางการดำเนินงานร่วมกับส่วนต่างๆ ของสถานประกอบการ
7. การมีส่วนร่วมกับที่ปรึกษาอื่นๆ (Involve Other Consultants) การตอบคำถามว่า “ผมไม่ทราบ” อาจจะเป็นคำตอบที่ดีกับบางคำถาม แต่จะเป็นคำตอบที่ดีขึ้น ถ้าตอบว่า “ผมไม่ทราบ แต่ผมรู้จักท่านหนึ่งที่ช่วยให้คำตอบคุณได้” ที่ปรึกษาไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างและไม่เป็นการเสียศักดิ์ศรีเลยในกรณีที่ตอบคำถามไม่ได้ แต่ที่ปรึกษาสามารถแนะนำที่ปรึกษาท่านอื่นได้ เช่น ผู้ประกอบการมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางกฎหมาย ที่ปรึกษาควรหาทางแนะนำให้ผู้ประกอบการรู้จักที่ปรึกษากฎหมายที่จะช่วยหาทางออกในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายที่ปรึกษาจะสามารถให้บริการที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้มากขึ้น
8. การรักษาชื่อเสียง (Reputation) ที่ปรึกษาต้องรักษาชื่อเสียงของตนเอง ถ้ามีเรื่องที่ทำให้เสียภาพพจน์และชื่อเสียงแล้ว โอกาสที่จะสร้างความน่าเชื่อถือในวงการธุรกิจที่ปรึกษาทำได้ค่อนข้างยาก คุณค่าของการเป็นที่ปรึกษามีทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบ (Accountability & Responsibility) และความตรงต่อหน้าที่ (Integrity) ดังนั้น ที่ปรึกษาต้องเลือกผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจถูกกฎหมายและไม่ผิดจริยธรรม ให้คำปรึกษาด้วยความระมัดระวัง ภายใต้ข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้องและมีเหตุผล โดยสรุปคือการมีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพที่ปรึกษานั่นเอง นอกจากนี้ ที่ปรึกษาต้องมีจรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ โดย ทำงานซื่อตรงต่อผู้ประกอบการด้วยความเต็มใจและความสามารถตามคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการรักษาข้อมูลของผู้ประกอบการ อาทิ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางธุรกิจ ความลับทางการค้า กระบวนการทางเทคนิคต่างๆ เป็นต้น
What makes a good consultant? เป็นหนึ่งในบทความจาก The Definitive Guide to UK Consulting Firms ที่ได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการชั้นนำทางธุรกิจถึงคุณสมบัติที่ต้องการจากที่ปรึกษาธุรกิจ สรุปดังนี้
• ความเป็นผู้ประกอบการ สติปัญญา ความอยากรู้อยากเห็นและความยืดหยุ่น (entrepreneurial, intellectual and show curiosity and resilience)
• เข้าใจในสาขาความเชี่ยวชาญที่ตนเองเลือกให้บริการ (understand the area in which they have chosen to work)
• ความรอบรู้ทางวิชาการและความสนใจด้านอื่นๆ (well rounded academically and have other interests)
• อยากรู้อยากเห็นและมีความสนใจในการแก้ปัญหา (curiosity and interest in solving problems)
• คิดและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์เร่งด่วน (ability to think on their feet)
• ทำงานภายใต้สภาวะความกดดัน หรือในเวลาอันจำกัด (work under pressure)
• สามารถจัดการกับความไม่แน่นอนและควบคุมสถานการณ์ได้ดี (be adept at /dealing with uncertainty)
• ทักษะในการสื่อสารกับผู้ประกอบการ (ability to communicate effectively)
• เข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการ (understand entrepreneur’s need)
• ความฉลาดทางอารมณ์และทักษะการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น (emotional intelligence & interpersonal skills)
• คุณลักษณะแห่งการประจักษ์ถึงศักยภาพของตัวเรา ที่สามารถจะเปลี่ยนแปลง และเลือก กำหนด ชะตาชีวิตตัวเองได้ (proactive)
• กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ (eagerness to learn)
• มีรอยยิ้มบนใบหน้า (have a smile on their face)
• มีชีวิตชีวา (be sparky)
• ความยืดหยุ่นในการทำงาน (flexibility)
นางสาวอังสนา โสมาภา
ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
แหล่งที่มา
1. กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Counselor, APEC IBIZ) หลักสูตรการให้คำปรึกษาและบทบาทหน้าที่ของที่ปรึกษา
2. http://thinklikecenter.com/consultant/10-winning-qualities-of-a-consultant
3. http://www.consultant-news.com/article_display.aspx?id=8194
4. http://www.b2binboundmarketer.com/inbound-marketing-blog/bid/297272/6-Characteristics-Of-A-Good-Management-Consultant
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม